ส.อ.ท.แนะรัฐไม่ควรลดภาษี 0% ตามเวียดนาม ชง 3 ข้อแก้เกมภาษีทรัมป์
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม "Roundtable : The Art of (Re)Deal” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า จากการที่ประเทศไทยถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% โดยจะมีผลวันที่ 1 ส.ค. 68 ซึ่งสูงกว่าประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซียที่ถูกเก็บภาษีเพียง 25% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือยาง ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในปริมาณมาก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
อย่างไรก็ดี ส.อ.ท. พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยการจัดทำข้อมูลส่งให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าจากสหรัฐฯ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเหลือ 0% เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ อาจพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนย้ำว่าไทยไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนามที่ยอมเปิดทั้งหมด โดยต้องพิจารณาความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่จีนจะได้รับจากการดำเนินการของเวียดนาม
นายนาวา กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 18% รวมถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่สร้างกำแพงการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ทั้งอินเดียและจีนหันมาหาประเทศอื่นเพื่อส่งออกสินค้าแทน ส่งผลให้สินค้าไหลเข้ามาไทยมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องสร้างกำแพงทางการค้าให้สูงขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นอกจากนี้ จากนโยบายทรัมป์ 1.0 เมื่อช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรปได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กจากจีน ส่งผลให้เหล็กจากจีนไหลเข้ามาในเอเชียเป็นจำนวนมาก หากไทยไม่มีมาตรการป้องกันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เห็นได้จากอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา เนื่องจากเศรษฐกิจเปราะบาง หลายบริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิตและปลดพนักงาน แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
นายนาวา กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
- มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty - CVD) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping - AD) ซึ่งกกร. เสนอให้เร่งนำกฎหมายตอบโต้การอุดหนุนมาใช้ ซึ่งไม่มีการใช้มานานกว่า 10 ปี
- มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (Soft Loan) แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ธนาคารพาณิชย์กลับเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม
- มาตรการเยียวยาทางอ้อม บางบริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงธุรกิจ ดังนั้น ในประเด็นค่าแรงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติหนัก การปรับขึ้นค่าแรงในตอนนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานได้
สำหรับปัจจุบันนั้น ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 มาเลเซียซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเช่นกัน กลับถูกเก็บภาษีเพียง 25% เนื่องจากมีการบริหารจัดการปัญหาการสวมสิทธิ์ที่ดีกว่าไทย จึงไม่แน่ใจว่าการเจรจาของไทยจะสามารถลดอัตราภาษีลงได้มากน้อยเพียงใด ภาครัฐจึงควรรีบดำเนินการจำกัดการสวมสิทธิ์อย่างจริงจัง
ธุรกิจที่ดีก็ยังดี เช่น อาหารสัตว์ หรือ ยาดมยาหม่อง แต่ส่วนใหญ่แย่ ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ควรใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการหลบเลี่ยงการนำเข้าต้องใช้เวลานานกว่า 9 ปี กว่าจะมีมาตรการออกมาใช้ จะเห็นจากวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ไทยโชคดีที่มีอุตสาหกรรมเกษตรรองรับ
แต่ในปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐควรมีมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition) เพื่อให้อุตสาหกรรมปรับตัวรองรับตลาดได้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงจนทำลายกันเองเหมือนที่เกิดขึ้นกับจีน