ฐานการผลิตโลก เศรษฐกิจไทยฝ่าความผันผวน สัญญาณเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก
“ถึงเวลาที่ไทยต้องเลือกทางรอด!” ท่ามกลางความผันผวนและท้าทายที่ทวีความรุนแรง
มาตรการภาษีทรัมป์กำลังสะเทือนการค้าโลก ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เดือด เศรษฐกิจชะลอตัว นักท่องเที่ยวลดน้อยลง และความมั่นคงด้านพลังงาน กับแนวทางพลังงานสะอาดที่กดดันทุกประเทศ
ประเทศไทยจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกขบวน? “สัญญาณเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลก” และแนวทางที่ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางโลกที่ไม่มีใครรอใครอีกต่อไป!
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกถึงเรื่องนี้ภายในงานสัมมนา iBusiness Forum Decode 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทยว่า สิ่งแรกที่ไทยควรทำเลยคือการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI นี่คือคำตอบแรกของการแก้ปัญหา
เราเคยเจอกับดักรายได้ในประเทศไทย การที่ไม่มีสินค้านวัตกรรม ทำสินค้าแบบรับจ้างผลิต ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก ชี้ชัดว่าเรามีโอกาสเจอปัญหาแบบนี้กระทบเรื่อย ๆ ถ้าประเทศไทยไม่ขยับเขยื้อนให้ความมีตัวตนมันหนีออกมา เราจะลำบาก เพราะประเทศไทยพึ่งพิงต่างประเทศ 80% เรามีการส่งออกเป็นมูลค่า 60% ของจีดีพี ท่องเที่ยวประมาณ 20% นั่นเท่ากับว่า 70-80% เราต้องพึ่งต่างชาติ ขณะที่เราไม่มีนวัตกรรมอะไรเป็นของตัวเอง นอกจากการท่องเที่ยวแล้วเราไม่มีอะไรเลย นี่แหละคือเรื่องที่น่ากลัว
"ภาคการผลิตไทยควรยกระดับในการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหามาตรการภาษี ควรเจรจา และแยกให้ได้ว่าอะไรที่เป็นสินค้าไทยอย่างแท้จริง อยากให้เหลือต่ำ ๆ ไปเลย 20 - 25% ส่วนสินค้าที่เข้ามาประกอบในไทยแต่ใช้วัสดุจากจีน ควรขึ้นไป 40% ก็ได้ อยากได้ภาษี 2 รูปแบบนี้ และได้ส่งข้อมูลให้ทีมเจรจาไปแล้ว"
หวั่นเศรษฐกิจครี่งปีหลังพลิกติดลบ
นายวิวรรธน์ กล่าวว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 แม้จะมีแนวโน้มที่ดีจากการส่งออกที่ขยายตัว 14.9% มูลค่าการลงทุนใหม่ที่พุ่งขึ้นเกือบ 97% แต่ยังกดดันด้วยภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 4% ขณะที่ในส่วนของภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูง เกิดจากการเร่งการส่งออกเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ทำให้ครึ่งปีหลังอาจจะพลิกกลับมาติดลบได้
มาตรการภาษีการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ถูกยกมาเป็นความกังวลลำดับต้น ๆ เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเราคาดหวังว่าการเจรจาจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นบวกมากกว่านี้ แต่ขนาดเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ใหญ่มากพอที่เมื่อลดภาษีให้สหรัฐฯ จำนวนมากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อ GDP ของสหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบทางการเมืองและประเด็นความมั่นคงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็อยู่ในจุดที่ล่อแหลม การอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการเจรจา
พลังงานพื้นฐานเศรษฐกิจ “พลังงานสะอาด” สู่ความยั่งยืน
ความท้าทายของเศรษฐกิจและปัจจัยลบต่าง ๆ ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ในระยะยาวสิ่งที่มีความสำคัญต่อทุกประเทศคือความมั่นคงด้านพลังงาน และจะทำอย่างไรให้ทั้งความมั่นคงและเทรนด์พลังงานสะอาดไปด้วยกันได้นั้น ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงานเดียวกันว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดนั้นทิศทางพลังงานจะต้องสมดุลกัน (balance) ใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงพลังงาน ความยั่งยืน และพลังงานมีใช้ในราคาที่เหมาะสม
“ทิศทางวันนี้ มีความไม่แน่นอนสูง แต่ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจะต้องมุ่งสู่ Net Zero แม้ว่าจะขรุขระบ้าง แต่ช้าเร็วก็ต้องทำ ในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการพูดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ทุกวันนี้ความไม่แน่นอนมีสูงมากทั้งปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ปตท. ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน ควบคู่กับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ก๊าซฯ ยังโตต่อเนื่องแนะเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน
สำหรับการใช้พลังงานของโลกในปี 2566 จนถึงปี 2593 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึง 20% เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพและราคา ดังนั้น “ก๊าซธรรมชาติ” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาด จึงมีความสำคัญอยู่โดยมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2566 เป็น 26% ในปี 2593 ส่วนน้ำมันมีการใช้ลดลงจาก 31% เหลือ 28% แต่ถ่านหินการใช้ลดลงจาก 25% เหลือเพียง 13%
โดยไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นพ้องตรงกันว่าใน 20 - 30 ปีข้างหน้า ก๊าซฯ จะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลก ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถการผลิตก๊าซฯ ได้เองไม่ว่าจะเป็นไทย, เมียนมา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การพัฒนาพลังงานของไทย ควรมุ่งไปที่การส่งเสริมและเร่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ การปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนและเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการสนับสนุน ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
กรุงไทยแนะแก้เศรษฐกิจนอกระบบ - ปรับเพดานหนี้เพิ่มการลงทุน
ข้างต้นเป็นเรื่องของการผลิต พลังงาน ซึ่งนอกเหนือจาก 2 เรื่องนี้แล้วโครงสร้างเศรษฐกิจ และหนี้สิน ถือเป็นอีกปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าเรา Zoom in ปัญหาในประเทศ คือการมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 48% และได้นำไปสู่ผลข้างเคียงอื่น ๆ อีกมากมาย
"48% นี่ถือว่าสูงที่สุดในโลกระดับ TOP เลย นำไปสู่แรงงานนอกระบบถึง 51% นำไปสู่ผู้เสียภาษีในระบบเพียง 11 - 12 ล้านคน ขณะที่มีการเรียกร้องสวัสดิการทางสังคมอีกถึงกว่า 68 ล้านคน บวกกับเอกชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลรายเล็กเพียง 26% โดยจากการวิจัยเศรษฐศาสตร์จุฬา 34% ครัวเรือนไทยเป็นหนี้นอกระบบ หนึ่งครัวเรือนมีหนี้นอกระบบ 9.19 หมื่นบาท เป็นหนี้นอกระบบ 13.4% และเป็นหนี้ในระบบ 86.6% รวมแล้วเท่ากับ 104% แต่ถ้าดู Gross debt ตัว Total จะเป็นประมาณ 117% เกิดขึ้นจากอะไร ก็คือคนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ เป็นเจ้าหนี้นอกระบบไปพร้อม ๆ กัน หรือเป็นลูกหนี้ในระบบไปพร้อม ๆ กัน ภาพนี้บอกอะไร บอกว่ากล้ามเนื้อของประเทศไทยต้องอาศัยกลไกนอกระบบ กลไกในระบบไปไม่ถึง เป็นภาพที่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย"
ซึ่งผลข้างเคียงที่ตามมาจากที่ธนาคารโลกทำไว้ก็คือ 1. รายได้ต่ำ 2. ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้รับแรงกระแทกจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ต่ำ 3. การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลด้อยกว่า 4. ผลิตภาพอยู่ในระดับต่ำ 5. Resilience ต่ำ และ 6. มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่ช้า ดังจะเห็นได้เวลาที่เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ก็ต้องมีการชดเชยเยียวยา
"ประเทศเรายังต้องมีการลงทุนอีกมาก เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% คงต้องปรับ แต่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นไปทำอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องมาช่วยกันทบทวน อย่างที่ว่าในวิกฤติมีโอกาส ตอนนี้ในช่วงที่ประเทศไทยเจอหลายปัญหาถาโถมแต่ก็เป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้โอกาสนี้เลย"
ทั้งนี้ เร่งผลักดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ระบบนั้น มองว่าในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ – ตลาดทุน ต้องมีสิ่งจูงใจ แล้วก็ทำให้กลไกภาครัฐเอื้อให้เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็วและเป็น One Stop Service และต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีเพื่อเป็นกลไกในการแปรผันทรัพยากรให้ไปสู่จุดที่ควรจะเป็นการเร่งสร้างกล้ามเนื้อ และวิธีการสนับสนุน ห่วงโซ่ อุปาทาน เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ทรัพยากรและบุคลากรในประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ไทยฐานการผลิตโลกท่ามกลางภาษีทรัมป์
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศมีการสรุปเรื่องกำแพงภาษีจริง ๆ มีแค่ 2 ประเทศคืออังกฤษ กับเวียดนาม โดยเวียดนามที่มีการประกาศอัตราภาษีในระดับ 20% นั้น ถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เนื่องจากในการเจรจาเป็นการเทหมดหน้าตักแล้ว แต่กลับไม่ได้ตามที่คาดไว้คือประมาณ 10 - 12%
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของสินค้าที่สวมสิทธิ์ที่จะต้องโดนกำแพงภาษีสูงถึง 40% อีกด้วย ซึ่งคำจำกัดความของสินค้าสวมสิทธิ์ตอนนี้ยังไม่จบ และไม่สามารถสรุปได้ว่าจะตีความอย่างไร โดยการส่งออกของเวียดนามโตขึ้นจากช่วงเทรดวอร์รอบแรกและสินค้าส่วนใหญ่ยังไม่ใช่การผลิตเพื่อส่งออก แต่เป็นการนำวัตถุดิบจากจีนมาประกอบทำให้ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าสินค้าส่วนใหญ่จะโดนกำแพงภาษีที่ระดับไหนระหว่าง 20% หรือ 40% แน่
“ในตอนต้น ตอนที่ไทยเจอภาษี 36% มีคนถามเยอะมากแต่มันยังไม่จบต้องดูให้มันหมดก่อนว่าใครเจออะไรบ้าง เช่น บราซิล 50% ทั้งที่บราซิลขาดดุลสหรัฐ ส่วนเม็กซิโกกว่า 30% อันนี้ยังรอจีนกับอินเดียที่ยังไม่มีข้อสรุป ถามว่าทำไมยกตัวอย่างประเทศเหล่านี้ เพราะตอนนโยบายภาษีรอบแรกเดือนเมษายน ผลสำรวจจากลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของเรา โดยเฉพาะลูกค้าจีนที่มีการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ กว่า 75% ถ้าจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตจริง ๆ จะเลือกประเทศไหน คำตอบที่ได้คือ บราซิล กับเม็กซิโก ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากนัก ฉะนั้นไทยยังถือเป็นทางเลือกของนักลงทุนจีนอยู่”
หอการค้าหวั่นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังทรุด
ดร. วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ว่า GDP ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.5% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 3.1% และคาดว่า ปีนี้จะชะลอตัวลงจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - อิหร่าน รวมถึงความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนพลังงานในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย
โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2568 ลงมาอยู่ที่ 1.5 – 2.0% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 2.0 – 2.2% ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มหดตัว โดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 0.3% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 0.3 – 0.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
“ต้องยอมรับว่า Trade War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแรงมากตั้งแต่รอบแรก มารอบนี้แรงกว่าเดิม ไม่จำกัดอยู่แค่จีนแล้วแต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เป็นทางผ่านการค้าของจีนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องไปดูในเชิงลึกเพื่อเตรียมการไว้ โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขการค้าดีมากถึง 14.9% การเติบโตนี้ไม่ได้เห็นบ่อย ๆ แต่ว่าสิ่งที่เราประเมินไว้ครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีโอกาสที่ยอดจะลดลงไปเยอะ”
ท่องเที่ยวต้องปรับตัวลดพึ่งตลาดคนจีน
ด้าน นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทย “ยังมีอุปสรรคอยู่” เนื่องจากในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกยังผันผวน รวมถึงอุปสรรคอื่น ๆ อาทิ เที่ยวบินยังฟื้นไม่เต็มที่ ตั๋วเครื่องบินแพง หรือแม้กระทั่งคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากขึ้น หรือจีนที่ไม่มาไทยเพราะรัฐบาลจีนมีการส่งเสริมเรื่อง Domestic ที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในแง่การอำนวยความสะดวก การทำโปรโมชัน หรือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งการท่องเที่ยวไทยจึงต้องใช้กำลังมากขึ้นในการรักษาการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวไว้ให้ได้
การท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนต่อปี เป็นนักท่องเที่ยวจีนถึง 10 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด พอเกิดโควิด -19 ในช่วงปี 2563 กลางปี เป็นต้นไป ไทยมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ปี 2564 มีนักท่องเที่ยว 6 แสนคน และปี 2565 ที่กลับมาเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวกลับมา 11 ล้านคน ปี 2566 มีนักนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน และ ปี 2567 มีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน โดย ททท. คาดว่า ปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยว 35 ล้านคนหรือใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย เราอยากจะบาลานซ์ให้มากที่สุด เพราะเราไม่อยากพึ่งพาแค่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ปีนี้จึงตั้งเป้าว่านักท่องเที่ยวที่พักค้างและผู้เยี่ยมเยือนจะอยู่ที่ 200 ล้านคน/ครั้ง และเราอยากเพิ่มวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้น โดยช่วงหลังเรามีการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยว หรือเมืองรองมากขึ้น เพราะว่าต้องการกระจายรายได้และกระจายตัวนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่ไปเมืองรองมีเพิ่มมากขึ้น จากปีที่ผ่านมาคนไทยนิยมท่องเที่ยวในภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนภาคอื่น ๆ ลดหลั่นกันไป โดยเมืองไทยน่าเที่ยวมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีโดยเฉพาะสุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย ลพบุรี จันทบุรี นครศรีธรรมราช เป็นต้น
ข้างต้นเป็นข้อมูลบ้างส่วนในงานสัมมนา สุดท้ายทุกสัญญาณที่ถอดรหัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนวัตกรรม ความมั่นคงและพลังงานสะอาด รวมถึงเศรษฐกิจนอกระบบ อาจเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะเปลี่ยนอนาคตเศรษฐกิจไทย การฟัง เรียนรู้ และเตรียมพร้อมก่อนใคร…อาจเป็นความต่างที่จะตัดสินระหว่างหัวแถวและหางแถวได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อจากนี้
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO