ศึกใน-นอกซัดกระหน่ำ รัฐบาล "แพทองธาร" ฉุดจีดีพีไทยปี 68 ส่อบ๊วยอาเซียน
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญภาวะ “Perfect Storm” จากแรงกระแทกรอบทิศ ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ แรงกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาษีทรัมป์และข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาที่กำลังลุกลาม กดดันความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างหนัก คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวเพียง 1-1.5% เท่านั้น ซึ่งอาจต่ำที่สุดในอาเซียน เป็นอันดับ 10 รองจากเมียนมา
“ประเทศไทยเวลานี้เข้าภาวะพายุเศรษฐกิจรอบด้าน การลงทุนชะลอตัว การเมืองไร้เสถียรภาพ ความไม่แน่นอนรุมเร้า จนกระทบต่อความเชื่อมั่นในทุกมิติ”
ดร.อัทธ์ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งในขณะนี้คือ การเมืองในประเทศ ซึ่งมีองค์ประกอบครบทั้งการประท้วงบนท้องถนน การฟ้องร้องทางกฎหมาย และความนิยมในรัฐบาลที่ตกต่ำ โดยในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ที่ต้องจับตาคือศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องกรณีนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา หากศาลรับพิจารณา ก็อาจมีผลกระทบถึงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล และกระทบต่อเสถียรภาพของการบริหารประเทศโดยตรง
“แม้รัฐบาลยังสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แต่เวลานี้เรตติ้งก็ตกลงมาก ทุกอย่างที่รัฐบาลทำเวลานี้ ไม่ค่อยเข้าตาประชาชนเลย ภาพรวมไม่ว่าจะเลือกทางไหน การเมืองไทยก็ไม่มีความแน่นอนแม้แต่ทางเดียว” ดร.อัทธ์ กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญถัดมาคือ ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal) ของสหรัฐอเมริกาที่จะเรียกเก็บจากไทยที่อยู่ระหว่างการเจรจา ที่แม้ยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤตภายใน
“ภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่ไทยกำลังเจรจาอยู่นั้น จะกระทบต่อภาคการส่งออกที่มีสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพี โดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่เป็นอันดับหนึ่งของไทย หากถูกเก็บภาษีเพิ่ม ไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขันทันที” ดร.อัทธ์ กล่าว
ส่วนข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา นั้นมองว่าไม่ใช่เพียงปัญหาเขตแดนหรือการค้าชายแดนเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง
จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจหรือจีดีพีของเมียนมาจะขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 1.8% แต่ในความเป็นจริง จีดีพีไทยอาจไม่ถึงตัวเลขนั้น อาจอยู่ในช่วง 1-1.5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเก่งแล้วในสถานการณ์แบบนี้
เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนจีดีพีไทยปีนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะอยู่อันดับ 10 ท้ายสุด ของอาเซียน หรือเป็นอันดับที่ “โหล่” โดยเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ต่างมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5–6% ขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และลาวก็ยังเติบโตได้ดีกว่าไทย แม้แต่เมียนมา ซึ่งเคยมีปัญหาทางการเมือง ก็เริ่มฟื้นตัว และวางแผนจัดการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้
“ประเทศเพื่อนบ้านอาจมีความเสี่ยงจากภาษีทรัมป์เหมือนกัน แต่ไม่มีใครเจอวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจพร้อมกันสามสี่ด้านแบบไทย” ดร.อัทธ์ ย้ำ และกล่าวอีกว่า
ความไม่มั่นคงของรัฐบาล การฟ้องร้องต่าง ๆ รวมถึงการที่ผู้นำประเทศเผชิญกระแสต้านจากหลายฝ่าย ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และผู้นำประเทศตกต่ำลงอย่างมาก ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภค การลงทุน และการตัดสินใจของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ภาคเกษตร ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำซ้ำเติมภาพรวมเศรษฐกิจ มังคุดถูกเททิ้ง ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนมีราคาที่ลดลง ทุกอย่างรอการแก้ไขจากรัฐบาล
สำหรับสิ่งที่ต้องจับตาในครึ่งปีหลังคือ ภาษีสหรัฐจะประกาศอัตราตอบโต้ไทยในอัตราเท่าใด รัฐบาลจะยืนระยะอยู่ได้หรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับผู้นำหรือไม่
“ปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของประเทศไทยในเวลานี้คือ การเมือง ซึ่งรวมทั้งการประท้วง การฟ้องร้อง ความไม่มั่นใจในผู้นำ และความไม่ค่อยชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งส่งผลไปถึงทุกมิติของเศรษฐกิจไทย” ดร.อัทธ์ สรุป