ไทย ลุ้นหนักปิดดีลเจรจาสหรัฐไม่จบ หวังภาษีต่ำกว่าเวียดนาม
ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด หลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจา “ทีมไทยแลนด์” ยังไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีนำเข้าสินค้ากับสหรัฐฯ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
โดย นายพิชัยระบุว่า หลังจากนี้ไทยต้องเร่งจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐ ข้อกังวลและเป้าหมายของทั้งสองประเทศ โดยข้อตกลงใดก็ตามต้องอยู่บนพื้นฐานที่ "ปฎิบัติได้จริง ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็น Win-Win Solution"
ขณะที่ วันที่ 4 กรกฎาคม สหรัฐฯ เริ่มส่งหนังสือแจ้งอัตราภาษีนำเข้าใหม่ให้ประเทศต่าง ๆ แล้ว โดยมีการกำหนดอัตราภาษีในช่วง 20–30% และอาจสูงสุดถึง 70% ซึ่งเป็นสัญญาณเส้นตาย 9 ก.ค.2568 ของสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาทุกขณะ
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง คาดหวังว่า “ทีมไทยแลนด์” จะสามารถเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยจาก36% ให้เหลือไม่เกิน 10% แม้รู้ว่า การเจรจายังไม่จบง่ายๆ แต่รัฐมั่นใจในศักยภาพการเจรจาของไทยไม่แพ้เวียดนาม และเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ พร้อมคาดหวังว่าสหรัฐจะมีการเลื่อนกรอบการเจราออกไปก่อน เส้นตาย 9 ก.ค.2568
ความสัมพันธ์ระยะยาวกับสหรัฐฯ แรงงานฝีมือ รวมถึงเสถียรภาพทางภายในประเทศ ล้วนเป็นแต้มต่อสำคัญในการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นศึกสำคัญในการรักษาอำนาจการแข่งขันและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก
รัฐบาลยังไม่มองกรณีเลวร้ายว่าจะถูกเก็บภาษีถึง 36% อย่างที่เคยถูกระบุไว้ก่อนหน้า โดยทีมเจรจาไทยย้ำว่า “เรารู้ว่าโจทย์ของสหรัฐคืออะไร และเตรียมตัวมาอย่างดี เพื่อให้การพูดคุยมีผลสำเร็จ และกระทบกลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด”
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้จัดสรรงบฉุกเฉินราว 10,000 ล้านบาท จากงบรวม 157,000 ล้านบาท สำหรับประคับประคองภาคธุรกิจหากเกิดผลกระทบร้ายแรง
ขณะที่ฝากฝั่งเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ไทยมีข้อจำกัดมากกว่าเวียดนาม โดยเฉพาะเงื่อนไขทางกฎหมายและการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้เหมือนเวียดนาม ส่งผลให้ความยากในการต่อรองเพิ่มขึ้น แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่ไทยยื่นไป แต่ฝ่ายไทย คาดหวังว่าอัตราภาษีสุดท้ายจะไม่เกินเวียดนาม และยังคงหวังว่าจะได้รับการขยายเวลาเจรจาหากยังไม่บรรลุข้อตกลงทันเดดไลน์
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เวียดนามถือเป็น “เฉลยข้อสอบ” ที่ดีให้ไทย โดยไทยควรใช้โอกาสนี้ต่อรองให้อัตราภาษีตอบโต้ลดลงมาอยู่ราว 15% และในกรณีการสวมสิทธิ์อาจอยู่ที่ 30% เทียบกับ 40% ที่เวียดนามโดน
เช่นเดียวกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่เชื่อว่า ไทยมีโอกาสได้ภาษีต่ำกว่าเวียดนาม เพราะไทยแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาสินค้าสวมสิทธิ์และดุลการค้าไทยกับสหรัฐก็ต่ำกว่าเวียดนาม ซึ่งเกินดุลถึง 137,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธาน สรท. ระบุว่า แม้เวียดนามจะถูกเก็บภาษี 20% แต่ต้นทุนการผลิตของเวียดนามต่ำกว่าไทยราว 5–10% ทำให้ยังได้เปรียบในการส่งออกสินค้ากลุ่มเดียวกันไปสหรัฐ หากไทยได้อัตราภาษีเท่ากันอาจเสียเปรียบ ดังนั้นเป้าหมายของไทยควรอยู่ที่อัตราที่ “ต่ำกว่า 20%”
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายจะออกมาอย่างไรนายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลังสหรัฐฯ ระบุว่า มีราว 100 ประเทศที่อาจได้ภาษีตอบโต้ลดลงเหลือ 10% หากเจรจาสำเร็จก่อนเส้นตาย 9 ก.ค.นี้ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “มีโอกาส” หากสามารถสรุปดีลได้ทันเวลา