นิทรรศการ “75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว”
ไทย-ลาว มีความผูกพันกันมามายาวนานตั้งแต่โบราณราว 465 ปี ปรากฏหลักฐานจาก พระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สัญลักษณ์แห่งมิตรไมตรีระหว่างกรุงศรีสัตนาคนหุต (ชื่อเรียกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรืออาณาจักรลานช้าง ปัจจุบันคือ สปป.ลาว) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091–2114) กับกรุงศรีอยุธยาในยุคสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 – 2111)
พระธาตุศรีสองรัก เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2103 แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2106 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยและชาวล้านช้างให้ความเคารพนับถือ มาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
เปิดตัวตราสัญลักษณ์ฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว
แม้ทั้งสองประเทศจะมีความผูกพันกันยาวนาน แต่ ราชอาณาจักรไทย กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เพิ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2493 หลังจากที่ สปป.ลาว ได้รับเอกราชในปีพ.ศ.2492 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เข้าสู่ยุคใหม่
โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนอย่างใกล้ชิดและแน่นแฟ้น
พิธีเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 30 ปีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์)
30 ปีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
ความสัมพันธ์ในด้านการคมนาคมระหว่าง สปป.ลาว และไทย เป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ
การเปิด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปีพ.ศ. 2537 ช่วยให้การเดินทางระหว่างสองประเทศสะดวกสบายขึ้น ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือที่ยั่งยืน
ปัจจุบันมี สะพานมิตรภาพ 4 แห่ง เพื่อส่งเสริมด้านการค้าขาย การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน และมีกำหนดเปิด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ภายในปี พ.ศ.2568
ทำให้มี ถนนหลวง เส้นทางเดินรถเชื่อมโยงจากจังหวัดชายแดนไทยสู่เมืองสำคัญในลาว สามารถขนส่งสินค้าและการเดินทางส่วนบุคคลเป็นไปอย่างสะดวกสบาย อาทิ
- เชียงราย-บ่อแก้ว
- น่าน-ไซยะบูลี
- หนองคาย-เวียงจันทน์
- นครพนม-คำม่วน
- มุกดาหาร-สะหวันนะเขต
- อุบลราชธานี-จำปาสัก
รัฐบาลไทยมอบเงินสนับสนุนสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมรัฐสภาอาเซียน
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา เส้นทางรถไฟ เชื่อมโยงกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ และ การคมนาคมทางน้ำและทางอากาศ การเดินทางข้ามโขงโดยเรือและเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองหลวงสองประเทศ
ไทยและลาวยังต่างสนับสนุนกันในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความท้าทายระดับภูมิภาค และการปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์
พ.ศ.2565 ทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดสามัคคีไช แขวงหลวงน้ำทำ สปป.ลาว
สายสัมพันธ์อันงดงามที่พระราชวงศ์ของไทยได้ทรงริเริ่มและสนับสนุนส่งเสริม มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อมิตรภาพและความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างสองประเทศ พระบรมวงศานุวงศ์ไทยหลายพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน สปป. ลาว อย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ เสด็จฯ เยือน สปป. ลาว บ่อยครั้ง
เพื่อทรงเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ตลอดจนทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวลาวและพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในสาขาการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต
ตลอดจนงานด้านศิลปวัฒนธรรมและภาษา อันเป็นรากฐานของความผูกพันที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันนี้
วาระการ ครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย- สปป.ลาว ในปีนี้ จึงถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะนำพาความสัมพันธ์พิเศษนี้ไปสู่ยุคสมัยแห่งความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมิตรภาพที่เกื้อกูลกันอย่างยั่งยืน
นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ในงานแถลงข่าวการประกวดภาพวาด
ผลงานจิตรกรรมโดย Willy Hansana
ผลงานศิลปะโดย นรากร สิทธิเทศ
เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ "75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สปป.ลาว" สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่ง สปป.ลาว ได้จัด การประกวดวาดภาพจิตรกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีฯ ภายใต้หัวข้อ “75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ไทย-ลาว” ซึ่งได้รับความสนใจจากศิลปิน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกันอย่างคึกคัก
โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่ง สปป.ลาว จะจัดงานแสดงศิลปวัฒนธรรมรวมใจไทย-ลาว ในโอกาสเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปีฯ พร้อมจัดพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ณ หอวัฒนธรรมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์
งานดนตรีมิตรไมตรีสองฝั่งโขง
ภายในงานยังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปินไทยที่เดินทางไปเข้าร่วม workshop ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต การแสดงดนตรีคลาสสิกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนักเรียนจากวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ สปป.ลาว
รวมถึง การแสดงโนรา และ ฟ้อนรำวงลาว ซึ่งศิลปะการแสดงทั้งสองประเภทได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จาก UNESCO
ภาพจิตรกรรมโดย สุธี คุณาวิชยานนท์
จิตรกรรมโดย Outhavadeth Choulamamy
จิตรกรรมโดย Sone Kouphasert
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับสมาคมศิลปินอีสาน มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า และมูลนิธิศิครินทร์เพื่อการพัฒนา จัดงานจัดแสดง นิทรรศการผลงานศิลปะ “75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ไทย-ลาว จัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมใน 4 หอศิลป์ที่มีชื่อเสียงในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่
- หอศิลป์ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติลาว (National Institute of Fine Arts)
- สายลม อาร์ต สตูดิโอ (Saylom Art Studio)
- บ้านสีน้ำ (Water Colour House)
- i:cat gallery
จิตรกรรมโดย ชลิต นาคพะวัน
นิทรรศการศิลปะ “75 ปี แห่งความงดงามของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ลาว” จัดแสดงระหว่างวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2568 ณ 4 หอศิลป์ที่มีชื่อเสียงในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ก่อนที่ผลงานศิลปะทุกชิ้นจะสัญจรไปจัดแสดงที่จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ในโอกาสต่อไป