“คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง” ชั่วโมงประวัติศาสตร์ สานสัมพันธ์ ไทย-จีน ศักราชใหม่
“คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง” ชั่วโมงประวัติศาสตร์ สานสัมพันธ์ ไทย-จีน ศักราชใหม่
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) เป็นวันลงนามในแถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
ข้างต้นเป็นกำหนดการที่ชัดเจน แต่อีกกำหนดการหนึ่งซึ่งมีความหมายมากสำหรับคณะผู้แทนไทยคือ การเข้าพบ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด เนื่องจากถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทางจีนว่า จะบอกล่วงหน้าก่อนครึ่งชั่วโมงเท่านั้นว่าจะได้พบหรือไม่ เพื่อให้คณะแพทย์ประเมินความพร้อมด้านสุขภาพของผู้นำวัย 81 ปี
สุจิตต์ วงษ์เทศ และ สุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวประชาชาติ รายงานข่าวจากปักกิ่งทางโทรศัพท์ทางไกลว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางโดยเครื่องบินของการบินไทยเที่ยวพิเศษ ถึงสนามบินปักกิ่งเมื่อเวลา 11.10 น. และได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล และประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างอบอุ่น นำโดย เติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี
เช้าวันที่ 1 กรกฎาคม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และคณะผู้แทนไทย ได้ไปเยี่ยมศูนย์ชนกลุ่มน้อยในกรุงปักกิ่ง ศูนย์ดังกล่าวเป็นที่รวมชนกลุ่มน้อย อาทิ ชาวทิเบต ไทลื้อ ไทเขิน ไทสิบสองปันนา ในประเทศจีน ซึ่งมาอบรมการเมืองและทฤษฎีการเมือง โดยกลุ่มชาวไทได้พบปะสนทนากับนายกไทยฯ ด้วยภาษาตระกูลไท
ขณะที่นายกฯ และคณะผู้แทนไทยกำลังชมการแสดงของชนกลุ่มน้อยอยู่นั้น เวลา 09:00 น. เศษเจ้าหน้าที่จีนได้มาแจ้งข้อความ ที่ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ลุกผลุนผลันออกจากห้องประชุมไป สร้างความประหลาดใจให้ทุกคนอย่างมาก
แต่แล้วก็เปลี่ยนเป็นความดีใจ เพราะข้อความ คือ ประธานเหมาเจ๋อตง ซึ่งอยู่ระหว่างการพักร้อนที่บ้านพักนอกกรุงปักกิ่ง ได้เดินทางเข้ากรุงปักกิ่ง เพื่อให้นายกฯ ไทยเข้าพบเป็นการเฉพาะ ในเวลา 10.20 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม 2518
“คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง”
เหตุการณ์ “คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง” นั้น คณะผู้แทนไทย 4 คน ประกอบด้วย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ พล. ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และ นายประกายเพชร อินทุโสภณ เลขาธิการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบประธานเหมาเมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบจงหนานให่ ซึ่งผู้แทนไทยทั้งสี่ได้สัมผัสมือและทักทายกับเหมาเจ๋อตง
จากนั้น นายอานันท์และนายประกายเพชรได้ออกมาคอยข้างนอก ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และ พล. ต. ชาติชาย ยังคงสนทนากับประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีผู้ร่วมด้วย คือ เติ้งเสี่ยวผิง โดยมี ถังเหวินเซิง (แนนซี่ ถัง) เป็นล่ามแปล ทั้งสองฝ่ายสนทนากันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จนแล้วเสร็จในเวลา 11.30 น.
การที่ประธานเหมาเจ๋อตงให้นายกฯ และ รมว. ต่างประเทศของไทยเข้าพบนานถึง 1 ชั่วโมง จนแพทย์ประจำตัวของเหมาเจ๋อตงต้องขอให้ยุติการสนทนาเพื่อจะได้พักผ่อน นับเป็นกรณีพิเศษที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะปกติแล้วประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะใช้เวลารับแขกไม่เกิน 15 นาทีเท่านั้น
ชั่วโมงประวัติศาสตร์ดังกล่าว ฝ่ายไทยไม่มีใครจดบันทึกการสนทนา ส่วนฝ่ายจีนก็ไม่เคยเปิดเผยบันทึกการสนทนาในครั้งนั้นอย่างเป็นทางการ จึงมีแต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ที่เล่าเรื่องนี้ให้คนใกล้ชิดหรือสื่อมวลชนได้ฟังเท่าที่พอจะเล่าได้
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการเข้าพบประธานเหมาเจ๋อตงว่า ได้รับความประทับใจมาก และกล่าวว่า ประธานเหมาได้ให้คำแนะนำในการต่อต้านการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยด้วย โดยให้นายกฯ ไทยยึดหลัก “3 ไม่” ในการต่อสู้คอมมิวนิสต์
“ท่านกรุณาบอกว่า การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นั้นอย่าทำใน 3 สิ่ง คือ หนึ่งอย่าด่า เพราะคอมมิวนิสต์หน้าด้าน สองอย่าใช้ทหารปราบ เพราะถ้าใช้ทหารคอมมิวนิสต์จะหนี ท่านยังยกตัวอย่างว่าดู อย่าง เจียงไคเช็ก ใช้ทหารปราบคอมมิวนิสต์จีน ผลสุดท้ายก็ไม่มีที่อยู่ และประการที่สามอย่าฆ่า เพราะยิ่งฆ่า คอมมิวนิสต์ก็ยิ่งเป็นฮีโร่ ท่านบอกว่าคอมมิวนิสต์นั้นอยากให้ถูกฆ่าเพราะจะได้มีชื่อเสียง” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กล่าว และเปิดเผยอีกว่า
“ท่านประธาน เหมา เจ๋อตุงแนะว่าวิธีต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็คือสร้างประเทศชาติทำให้ประชาชน อยู่ดีกินดี คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีความหมาย” และเสริมว่า “ท่านประธานเหมา ท่านมีอายุมากและเบ็นผู้ใหญ่จนไม่มีพรรค การเข้าพบประธานเหมา เจ๋อตุงเป็นไปอย่างอบอุ่น และได้รับการต้อนรับเหมือนเป็นลูกหลาน”
หลังจากการประชุมแยกคณะในตอนบ่ายแล้ว เมื่อเวลา 18.40 น. คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลพักฟื้นของนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อทำพิธีลงนามในแถลงการณ์ร่วม โดยมีคณะผู้แทนไทย 19 คน กับผู้แทนจีน 13 คน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ นั่งบนโต๊ะทางด้านขวา โจว เอินไหล นั่งทางด้านซ้าย ลงนามในแถลงการณ์ร่วมและแลกเปลี่ยนแถลงการณ์ ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง
นับเป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ทั้ง “คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง” และการลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-จีน เปิดสัมพันธ์ศักราชใหม่ ที่จะมั่นคง แน่นแฟ้น และยั่งยืนตลอดไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ไทย-จีน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 1 กรกฎาคม 2518
- ของดี? ของอร่อย? ของไทยที่ขึ้นโต๊ะ งานเลี้ยงสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “คึกฤทธิ์พบเหมาเจ๋อตง” ชั่วโมงประวัติศาสตร์ สานสัมพันธ์ ไทย-จีน ศักราชใหม่
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com