พระบรมราชวังจตุมุขมงคล วังหลวงเขมรที่ได้อิทธิพลจากวังหลวงไทย
“พระบรมราชวังจตุมุขมงคล” วังหลวงเขมรที่ได้อิทธิพลส่วนหนึ่งจากพระบรมมหาราชวังของไทย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากไทยหลายด้าน โดยเฉพาะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอย่างเด่นชัดใน“พระบรมราชวังจตุมุขมงคล” ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ“พระบรมมหาราชวัง” ของไทย ไม่ว่าจะเป็นคติการก่อสร้าง นามพระที่นั่ง ตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ
ชื่อของ “พระบรมราชวังจตุมุขมงคล” ไม่เป็นที่คุ้นหูมากเท่ากับ “พระราชวังเขมรินทร์” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว นาม “เขมรินทร์” เป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมราชวังจตุมุขฯ เท่านั้น โดยพระราชวังของกัมพูชาแห่งนี้ตั้งชื่อตามแม่น้ำจตุมุข ที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกันที่กรุงพนมเปญ ได้แก่ แม่น้ำทะเลสาบ (แม่น้ำจราบเฌียม), แม่น้ำโขงตอนบน, แม่น้ำบาสัก แล้วกลายเป็นแม่น้ำโขงตอนล่างที่ไหลลงทะเลในประเทศเวียดนาม
พระบรมราชวังจตุมุขฯ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2408 ในรัชสมัยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร หรือนักองค์ราชาวดี (ครองราชย์ พ.ศ. 2403-2447) และได้มีการบูรณะปรับปรุงในรัชสมัยสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2447-2470) รวมถึงในรัชสมัยต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงแรกของการก่อสร้างพระราชวัง สันนิษฐานว่าสร้างด้วยเครื่องไม้ โดยรื้อตำหนักจากพระราชวังเก่าที่กรุงอุดงค์มีชัยมาสร้าง จนเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสจึงก่อสร้างพระราชวังใหม่ด้วยการก่ออิฐถือปูน
ตัวพระราชวังจะหันหน้าหาแม่น้ำทางทิศตะวันออก มีกำแพงวังล้อมรอบยาว 1,772 เมตร แบ่งเป็นกำแพงทิศตะวันออกยาว 421 เมตร, กำแพงทิศตะวันตกยาว 435 เมตร, กำแพงทิศเหนือยาว 484 เมตร และกำแพงทิศใต้ยาว 432 เมตร มีประตูเข้าออกทั้งสิ้น 5 ประตู มีประตูชัยอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นประตูสำคัญของพระราชวังแห่งนี้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงพระราชวังแห่งนี้ไว้ใน “นิราศนครวัด” ความตอนหนึ่งว่า
“…ก็สมเด็จพระนโรดมได้เคยเข้ามาทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 นิยมแบบแผนพระราชวังในกรุงเทพฯ การที่สร้างวังจึงเอาอย่างพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ 4 มาสร้างเท่าที่สามารถจะทำได้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่แบบป้อมปราการ ตลอดจนมนเทียรสถาน เป็นต้นว่าท้องพระโรงก็ทำอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยขนาดย่อมๆ และให้ชื่อว่าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย”
ตอนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จพระดำเนินเยือนพระบรมราชวังจตุมุขฯ เมื่อ พ.ศ. 2467 ทรงระบุว่ามีพระที่นั่ง 20 องค์ กับอีก 1 โรงหัดละคร แต่หลังจากการเสด็จพระดำเนินในครั้งนั้น ก็ได้มีการบูรณะปรับปรุงพระราชวังเรื่อยมา ทั้งรื้อพระที่นั่งองค์เก่าลง และสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่หลายองค์
ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์สำคัญในพระบรมราชวังจตุมุขฯ มีเช่น
1. พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางว่าราชการ และประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เดิมพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร แต่ได้รื้อลงแล้วสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ เมื่อ พ.ศ. 2460 แล้วเสร็จสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2462
มุขสองข้างของพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ด้านซ้ายคือหอพระอัฐิ ด้านขวาคือหอราชบัณฑิตย์ หรือหอพระ ถัดเข้าไปข้างในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยจะเป็นพระที่นั่งมหามนเทียร มีพระแท่นบรรทมที่มีชื่อว่าพระที่นั่งจักรพรรดิ และพระที่นั่งนารีรัตน์โสภา รวมทั้งหอพระโสงย (หอพระเสวย) อยู่ภายในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัยด้วย
นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ที่มุมด้านหนึ่งเป็นหอพระขรรค์ หรือหอสัมฤทธิ์พิมาน ใช้เก็บเทวรูปเบญจเกษตร (เทวรูปสำคัญ 5 องค์ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพลเทพ พระคเณศ และพระอุมา) เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค และมุมอีกด้านหนึ่งเป็นหอสำราญภิรมย์ ใช้เก็บเครื่องดนตรีพระราชทรัพย์ (เครื่องดนตรีหลวง) และเครื่องใช้ในกระบวนราชาภิเษก รวมทั้งใช้เป็นที่พักก่อนเสด็จทรงช้างพระที่นั่งอีกด้วย
หากเทียบระหว่างพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย กับหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวังของไทยก็จะเห็นว่า ชื่อพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย สอดคล้องกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระแท่นบรรทมที่มีชื่อว่าพระที่นั่งจักรพรรดิก็สอดคล้องกับชื่อพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร
หอพระอัฐิ และหอราชบัณฑิตย์ ซึ่งอยู่ที่มุขสองข้างของพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ก็จะเหมือนกับ หอสุราลัยพิมาน และหอพระธาตุมณเฑียร ซึ่งอยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ถัดมาจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย) ในหมู่พระมหามณเฑียร
หอพระขรรค์ และหอสำราญภิรมย์ ซึ่งตั้งอยู่มุมของพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ก็จะเหมือนกับ หอศาสตราคม และพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ซึ่งตั้งอยู่มุมของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์มีเกยสำหรับประทับพระราชยาน และพระคชาธาร ลักษณะการใช้งานก็เช่นเดียวกับหอสำราญภิรมย์ของกัมพูชา
2. พระที่นั่งจันทฉายา เป็นพระที่นั่งตั้งอยู่บนแนวกำแพงพระราชวังเช่นเดียวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยพระที่นั่งจันทฉายาองค์เดิมสร้างขึ้นพร้อมกับพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย แต่ต่อมาฝรั่งเศสได้รื้อลงแล้วสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ เมื่อ พ.ศ. 2456 เพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธี, ใช้เป็นที่สำหรับเล่นละครหลวง, ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกในวันชาติ และบางครั้งใช้เลี้ยงรับรองแขกต่างประเทศ เป็นต้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า พระที่นั่งจันทฉายาเป็นพลับพลาสูง “…ปราสาทจันทรฉายาสร้างไว้เป็นที่เสด็จออกสนามตามอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในกรุงเทพฯ” โดยแต่เดิมสมเด็จพระสีสุวัตถิ์โปรดให้เล่นละครหลวงอยู่ริมพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย จนเมื่อฝรั่งเศสสร้างพระที่นั่งจันทฉายาขึ้นใหม่ จึงคิดสร้างให้ใช้งานสำหรับเป็นโรงละครหลวงไปด้วย
3. พระมหาปราสาทเขมรินทร์ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2470-2473 ในรัชสมัยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์มณีวงศ์ (สีสุวัตถิ์มุนีวงศ์) (ครองราชย์ พ.ศ. 2470-2484) เพื่อใช้เป็นที่ประทับถาวรของพระมหากษัตริย์กัมพูชา ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนโรดมสุรามฤต โปรดให้ใช้พระมหาปราสาทเขมรินทร์เป็นที่พักรับรองของแขกต่างประเทศ
นอกจากพระที่นั่งต่าง ๆ ภายในพระราชวังแล้ว พระบรมราชวังจตุมุขฯ ยังมีวัดประจำพระราชวังคือ วัดพระแก้วมรกต หรือวัดอุโบสถรตนาราม ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ภายในพระบรมมหาราชวังของไทย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงวัดพระแก้วมรกต ความตอนหนึ่งว่า “…วัดพระแก้วอยู่ทางขวาพระราชมนเทียร อย่าเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพฯ แต่ทำกำแพงกั้นเป็นต่างบริเวณกัน มีถนนคั่นกลางแทนฉนวน มีประตูสกัดถนนทั้งสองข้าง วัดพระแก้วมีพระระเบียงล้อมรอบ ฝาผนังพระระเบียงเขียนเรื่องรามเกียรติ์อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม…”
ส่วนพระแก้วมรกตของกัมพูชานั้น เป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นจากแก้วคริสตัลสีเขียวมาจากประเทศฝรั่งเศส สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า “เมื่อเห็นตัวจริงว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบและวัดมาดู ได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล…”
พระบรมราชวังจตุมุขฯ ในยุคแรกสร้างได้รับอิทธิพลจากไทย เนื่องด้วยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร และสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ต่างก็เคยเสด็จมาประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
จึงอาจกล่าวได้ว่า พระบรมราชวังจตุมุขมงคลได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าจะเป็น คติการก่อสร้าง นามพระที่นั่ง ตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ แต่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทหรือวัฒนธรรมของกัมพูชาเอง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระบรมราชวังจตุมุขมงคล วังหลวงเขมรที่ได้อิทธิพลจากวังหลวงไทย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com