Taxonomy มาตรฐานกลางเพื่อโลกที่ยั่งยืน
Taxonomy ที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ในบริบทของการเงินเพื่อความยั่งยืน Taxonomy หมายถึง มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนก และจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้ โดย Taxonomy จะใช้ในการช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายเป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ซึ่งการมีหลักการและแนวทางที่ชัดเจนนี้ จะช่วยให้มีความโปร่งใสในการลงทุนสีเขียว ลดปัญหาด้านการฟอกเขียวที่กล่าวอ้างเกินจริง (Greenwashing) ตลอดจนมีมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั้งระบบ อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2593 และเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการจำกัดอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ร่วมกันพัฒนา มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
ในส่วนของภาคการเงิน Taxonomy ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนไทยให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญมุ่งสู่ความยั่งยืน รวมถึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ อาทิ ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond) ให้สามารถใช้ระดมทุนเพื่อส่งเสริมการเงินด้านความยั่งยืนได้
สำหรับภาคตลาดทุน ผู้ระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน อาทิ Green Bond และ Sustainability Bond สามารถนำ Taxonomy มาใช้อ้างอิงในการคัดเลือกโครงการหรือกิจกรรมที่จะเข้าไปลงทุนได้ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับผู้จัดการกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) ในการคัดเลือกหลักทรัพย์และจัดพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ซึ่งการอ้างอิง Taxonomy ที่เป็นมาตรฐานกลางและมีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนนี้ จะช่วยเสริมความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ และ ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าการระดมทุนนั้น จะนำเงินไปลงทุนใช้กับกิจกรรมที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้เห็นถึงความสำคัญของการนำ Taxonomy มาปรับใช้ จึงได้มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขาย (Filing) สำหรับตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนที่นำ Thailand Taxonomy หรือ ASEAN Taxonomy มาอ้างอิง โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2571
ปัจจุบัน Thailand Taxonomy พัฒนามาสู่ระยะที่ 2 ที่ขยายขอบเขตกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการจัดการของเสีย
จากเดิมที่ในระยะที่ 1 จะประกอบด้วยภาคพลังงานและภาคการขนส่ง โดยคณะทำงานจะพิจารณาจากภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติสูง
หลักการของ Taxonomy จะแบ่งกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light System) ได้แก่
1. สีเขียว เป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ใกล้เคียงศูนย์หรือมีเส้นทางชัดเจนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เช่น การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
2. สีเหลือง เป็นกิจกรรมที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ ที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาให้กิจกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และอาจเข้าข่ายไปสู่สีเขียวได้ในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ เป็นต้น
3. สีแดง เป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจำเป็นต้องทยอยลดกิจกรรมเหล่านี้ลง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นต้น
นอกจากนี้ จะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกันด้วย (Minimum Social Safeguards) ทั้งนี้ ระบบสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวจะช่วยให้สามารถจำแนกแหล่งเงินทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มความยืดหยุ่นและเอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลและช่วยให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Taxonomy มิได้เป็นการระบุว่ากิจกรรมนี้ดีหรือไม่ดี หากแต่เป็นมาตรฐานที่ใช้จัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน รวมถึงไม่ได้หมายความว่าห้ามลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายตาม Taxonomy ผู้ลงทุนยังสามารถลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ เอกสาร Thailand Taxonomy จะได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยี
การเสริมสร้างการตระหนักรู้ในประเด็น Taxonomy ต่อผู้เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุนถือว่าเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้จัดทำ Sustainable Finance Resource Center เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มความยั่งยืน และมาตรฐานและเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาการของการจัดทำ Thailand Taxonomy และ ASEAN Taxonomy เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ศึกษา และใช้งานให้เกิดผลอย่างยั่งยืน โดยสามารถเข้าถึงได้ดังลิงก์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/ResourceCenter.aspx บนเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต.
การพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ระดมทุน และผู้ลงทุน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสามารถดำเนินการให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมที่มั่นคงในระยะยาว และ Taxonomy ที่มีความโปร่งใสและความชัดเจนในการประเมินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นมาตรฐานที่จะเสริมความเชื่อมั่นในการลงทุน และสร้างกลไกในการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป