ข่าวดี สพฐ. จ่อออกประกาศ 'ลดภาระครู' ไม่ต้องทำงานธุรการ-การเงิน-พัสดุ
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ครั้งที่ 26/2568 วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 โดยเน้นย้ำข้อสั่งการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว
โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่อง "การลดภาระครู" ที่ สพฐ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำกำชับให้ความสำคัญ ซึ่งวันนี้ สพฐ. ได้หารือกันถึงแนวทางที่จะลดภาระครูซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดเรา โดยมอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. กำหนดรายการและจะออกเป็นประกาศ สพฐ. เลยว่า เรื่องใดหรือโครงการไหนที่ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไปแล้ว เพื่อลดภาระครูให้เห็นผลอย่างชัดเจน
ส่วนข่าวที่จะนำข้าราชการครูมาเปลี่ยนเป็นสายสนับสนุนนั้น เป็นข้อเสนอที่จะต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในกระทรวงศึกษาธิการ โดยตำแหน่งที่จะนำมาเปลี่ยนนั้นไม่ใช่ตำแหน่งครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการนำเอาตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการในสถานศึกษาบางแห่งที่เกินเกณฑ์มาเปลี่ยนเป็นข้าราชการ 38ค(2) เพื่อให้มีบุคลากรสายสนับสนุนปฏิบัติงานต่างๆ เพิ่มยิ่งขึ้น เช่น งานธุรการ การเงินและพัสดุ เพื่อลดภาระงานครูและเพิ่มเวลาในการสอนให้แก่ครูได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือความเดือดร้อนกับครูในระบบ
เลขาธิการ กพฐ. ระบุด้วยว่า สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานธุรการโรงเรียนนั้น ขณะนี้ สพฐ. ดำเนินการยื่นข้อเสนอไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอปรับให้เป็นลูกจ้างชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว หากได้รับการอนุมัติ ธุรการโรงเรียนจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิม
- โดยกลุ่มที่ได้รับอยู่ 9,000 บาท จะได้ปรับเป็นเจ้าพนักงานธุรการ และมีค่าจ้างเพิ่มเป็น 13,920 บาท
- ส่วนกลุ่มที่ได้รับอยู่ 15,000 บาท จะได้ปรับเป็นนักจัดการงานทั่วไปและรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 บาท
รวมถึงได้รับสิทธิวันลา เงินสมทบประกันสังคม และสวัสดิการต่างๆ ในฐานะบุคลากรของรัฐตามระเบียบกระทรวงการคลัง
แต่เนื่องจาก สพฐ. มีโรงเรียนกว่า 29,000 โรง ทำให้จำนวนธุรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องขอให้ธุรการกลุ่มที่ได้เป็นนักจัดการงานทั่วไปดูแล 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่ให้ธุรการโรงเรียนต้องเดินทางไกลหรือสลับโรงเรียนบ่อย ๆ เพื่อไม่เป็นภาระเพิ่มเติม ทั้งในเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกเรื่องที่สำคัญว่า คือการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่ง รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งตอนนี้ได้เปิดรับสมัครเรียบร้อยแล้ว
- สำหรับตำแหน่งรอง ผอ.เขตพื้นที่ มีผู้สมัคร 1,304 คน
- ตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 598 คน
- ตำแหน่งรอง ผอ.โรงเรียน มีผู้สมัคร 3,767 คน
- ตำแหน่งครูผู้ช่วย มีผู้สมัครมากที่สุดถึง 77,053 คน
"ซึ่งเราจะดำเนินการจ้างสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้จัดสอบ เพื่อความบริสุทธิ์ โปร่งใสและเป็นธรรม และจะดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน หรือก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2568 เพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างทุกตำแหน่ง ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาภาระงานของครู โดยเฉพาะภาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เช่น งานพัสดุ การเงิน และธุรการ ซึ่งปัจจุบันครูจำนวนมากต้องทำควบคู่กับการสอนหลัก ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนลดลง
นางนฤมล กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับนายธนู ขวัญเดช เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หาแนวทางบรรเทาปัญหานี้ โดยเสนอแนวทางเกลี่ยอัตราครูที่เกินเกณฑ์จากโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน มากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ให้เปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) เพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการ
“แนวทางนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มหรือบรรจุข้าราชการใหม่ ถือเป็นการบริหารจัดการอัตรากำลังที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้มีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และครูเกินเกณฑ์ในบางพื้นที่” นางนฤมล ระบุ
อย่างไรก็ตาม นางนฤมล ยอมรับว่าแม้จะสามารถเกลี่ยอัตราครูไปเป็น 38 ค. (2) ได้บางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละปี พร้อมยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับการจัดสรรอัตราดังกล่าว จะยังคงได้รับสิทธิ์และสถานะเช่นเดียวกับข้าราชการครูทั่วไป ส่วนแนวทางให้โรงเรียนขนาดเล็กรวมกลุ่มใช้ธุรการร่วมกัน แม้ สพฐ. เคยนำมาใช้ แต่มีเสียงสะท้อนจากผู้บริหารโรงเรียนว่าขาดความสะดวก หลายโรงเรียนต้องการธุรการประจำของตนเอง จึงจำเป็นต้องหาทางออกที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ต่อไป