“ธนาคารกลางอังกฤษ” เล็งชะลอแผนออก “เงินปอนด์ดิจิทัล” หลังประเมินประโยชน์ลดลง
"ธนาคารกลางอังกฤษ" ชั่งน้ำหนักแผนออกเงินปอนด์ดิจิทัลสำหรับประชาชน หลังพบความจำเป็นลดลงและภาคเอกชนเร่งพัฒนาระบบชำระเงินทางเลือก ด้านผู้ว่าการเบลีย์เผยยังไม่มั่นใจว่าควรสร้างรูปแบบเงินใหม่
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.00 น. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) กำลังพิจารณาเลื่อนหรือระงับแผนการออกเงินปอนด์ดิจิทัลสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ท่ามกลางกระแสความไม่มั่นใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของโครงการ และสะท้อนแนวโน้มทั่วโลกที่สนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐ (CBDC) น้อยลง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า BOE ได้หารือกับภาคธนาคารเป็นการภายใน เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินทางเลือก ซึ่งอาจให้ประโยชน์คล้ายกับ CBDC โดยไม่ต้องดำเนินการออกเงินปอนด์ดิจิทัลสำหรับภาคครัวเรือน
แม้ BOE ต้องการคงความสามารถในการออก CBDC หากจำเป็นในอนาคต แต่ก็พร้อมจะชะลอหรือถอยออกจากโครงการ หากภาคเอกชนยังคงพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง และเจ้าหน้าที่ของ BOE เองก็เห็นว่าผลประโยชน์จากการเดินหน้าออกเงินปอนด์ดิจิทัลได้ลดน้อยลงมาก
ท่าทีล่าสุดนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่เจ้าหน้าที่ BOE และกระทรวงการคลังอังกฤษเคยประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรจะต้องมีเงินดิจิทัลในอนาคต โดยขณะนี้โครงการยังอยู่ในระยะออกแบบและจะมีการตัดสินใจร่วมกันอีกครั้งหลังจากขั้นตอนนี้เสร็จสิ้น
แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BOE เพิ่งแสดงความกังขาต่อแนวคิดการออกเงินดิจิทัลต่อสาธารณะ โดยหันไปให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พัฒนาเงินฝากแบบโทเคน ซึ่งถูกมองว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมกับสินทรัพย์ดิจิทัล
กระแสเปลี่ยนแปลงในสหราชอาณาจักรสะท้อนแนวโน้มระดับโลกที่สนับสนุน CBDC น้อยลง เช่น สหรัฐ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ได้ระงับการพัฒนา CBDC โดยอ้างเหตุผลด้านเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้หยุดโครงการนำร่องเงินดิจิทัลเมื่อเดือนที่แล้ว
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางยุโรปยังคงเดินหน้าโครงการยูโรดิจิทัล
การศึกษาล่าสุดโดยเจ้าหน้าที่ BOE พบว่า ผลประโยชน์จากการออก CBDC ลดลงอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ BOE ได้ลดบทบาทในการเป็นประธานคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งอาจสะท้อนความสนใจที่ลดลง
ปัจจุบันโครงการของ BOE ยังอยู่ในระยะออกแบบ ทำให้สหราชอาณาจักรล้าหลังกว่าหลายประเทศ และยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะออก CBDC หรือไม่
ทั้งนี้ความเป็นไปได้ในการออกเงินปอนด์ดิจิทัลยังเผชิญเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตที่ทำให้ผู้คนแห่ย้ายเงินเข้าไปในสกุลเงินดิจิทัลที่รัฐหนุนหลัง ซึ่งอาจดูดสภาพคล่องออกจากระบบการเงินทั่วไป
ในสหราชอาณาจักร โครงการนี้ยังตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มทฤษฎีสมคบคิด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน และได้รับความคิดเห็นจากสาธารณชนมากกว่า 50,000 รายในการเปิดรับฟังความเห็น
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เบลีย์กล่าวว่า เขายังไม่มั่นใจว่าเราจำเป็นต้องสร้างรูปแบบเงินใหม่ โดยเขาแสดงการสนับสนุนเฉพาะ CBDC สำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับประชาชนทั่วไป
แม้จะชะลอแนวคิดเงินปอนด์ดิจิทัล แต่เบลีย์ก็แสดงความกังวลต่อ stablecoin ที่ออกโดยประเทศอื่นหรือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรและบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินแบบดั้งเดิม หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้น BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาเงินดิจิทัลของตนเอง
ในรายงานของ BOE ที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว ระบุว่า ประโยชน์ของ CBDC ลดลงอย่างมากในช่วงหลัง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้เทคโนโลยีการชำระเงินออนไลน์ที่มีอยู่แล้วมากขึ้น
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างซาราห์ บรีเดน รองผู้ว่าการ BOE และกวินเน็ธ เนิร์ส ผู้อำนวยการด้านบริการการเงินของกระทรวงการคลัง ก็ได้ลดบทบาทในการเป็นประธานคณะทำงาน CBDC Engagement Forum โดยส่งเจ้าหน้าที่ระดับรองไปแทน ในรายงานการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพราะโครงการเข้าสู่ระยะออกแบบที่มีรายละเอียดมากขึ้น
อ้างอิง : bloomberg.com