‘Neta’ เผชิญ ‘วิกฤติศรัทธา’ ในไทย ส่งอะไหล่ล่าช้า-ค้างจ่ายซัพพลายเออร์
เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า“Neta” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนกำลังเผชิญกับ “ฟีดแบ็กเชิงลบ” ในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาการปรับโครงสร้างของบริษัทแม่ ที่ส่งผลให้การจัดส่งชิ้นส่วนอะไหล่ไปยังไทยและการจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ “เกิดความล่าช้า” จนทำให้ราคาของรถยนต์ใหม่บางรุ่นต้องถูกปรับลดลงกว่าครึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดการผลิตในประเทศ เพื่อรับเงินอุดหนุนได้ทันตามกำหนด ปัญหาเหล่านี้อาจบีบให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่
เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากการสำรวจถนนศรีนครินทร์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเรียงรายไปด้วยโชว์รูมรถยนต์ พบว่าโชว์รูมของ Neta กลับ “เงียบเหงา” แม้จะเปิดทำการ แต่ไฟส่วนใหญ่และเครื่องปรับอากาศกลับถูกปิดอยู่
หลังจากที่รออยู่ในโชว์รูมที่มืดมิดอยู่ 10 นาที ชายคนหนึ่งที่สวมเสื้อยืดก็ปรากฏตัวขึ้นและเริ่มอธิบายถึงรถยนต์ของบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ โดยกล่าวว่า น่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาถูกที่สุดในกรุงเทพฯ
รถยนต์ Neta V-II Hatchback ขนาดเล็กกำลังวางขายในราคา 280,000 บาท ทั้งที่ราคาเดิมอยู่ที่ 569,000 บาท พนักงานขายกล่าวว่า สำนักงานใหญ่ในจีนได้ขอให้ลดราคาลงเมื่อสัปดาห์ก่อน พร้อมเสริมว่า เขาสามารถลดราคาลงได้อีก หากซื้อรถหลายคันพร้อมกัน พร้อมชี้ไปที่สต็อกรถยนต์กว่า 600 คันของโชว์รูม
ด้าน “Hozon New Energy Automobile” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Neta ได้ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่า กระบวนการปรับโครงสร้างของบริษัท จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย
ในปัจจุบัน Hozon บริษัทแม่ของ Neta กำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรตามกฎหมาย บริษัทระบุว่า Neta จะยังคงลงทุนในตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง และจะจัดหาชิ้นส่วนและการอัปเดตซอฟต์แวร์ตามปกติ
“ประกาศของ Neta ล้วนเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ” ชายวัย 30 ปีผู้ประกอบอาชีพอิสระกล่าวกับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย เขาซื้อรถ Neta V-I ในปี 2021 ในราคา 549,000 บาท เพื่อหนีปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
แม้รถของเขายังคงใช้งานได้ในตอนนี้ แต่เขาก็เผชิญกับ “ความเสี่ยงที่อะไหล่ทดแทน จะไม่ถูกส่งมาจากจีน” เขากล่าวว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่เขายังต้องผ่อนชำระค่างวดรถต่อไป ทั้งที่บริษัทไม่สามารถจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
“ปัญหาทางการเงินของ Neta จะทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ และนำไปสู่การลดความนิยมในรถยนต์จีน” แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในประเทศไทยกล่าว
นอกจากปัญหาเรื่องอะไหล่แล้ว Neta ยังมีปัญหาค้างจ่ายเงินกับซัพพลายเออร์ด้วย โดยที่ผ่านมา บริษัทได้จ้างบริษัทรอบกรุงเทพฯ ให้ประกอบรถยนต์สำเร็จรูปมาตั้งแต่ปี 2024 แต่ดูเหมือนว่าจะ ค้างชำระเงินแก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งซัพพลายเออร์ท้องถิ่นรายหนึ่งเปิดเผยกับนิกเกอิ เอเชียว่า การที่ผู้ผลิตรถยนต์ไม่จ่ายเงินเช่นนี้ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสร้าง “ผลกระทบลูกโซ่” ไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไทยได้ริเริ่มมาตรการเงินอุดหนุนการซื้อรถอีวีเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนในปี 2022 โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศต่อปีภายในปี 2030 เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์อยู่ที่ 150,000 บาทต่อคันตลอดปี 2023 ก่อนจะลดลงเหลือ 100,000 บาทในปี 2024
เงินอุดหนุนเหล่านี้ไม่ได้จ่ายตรงให้กับผู้บริโภค แต่จะจ่ายให้กับผู้ผลิตรถยนต์หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง โดย Neta ได้ขายรถประมาณ 12,800 คันในไทยในปี 2023 และ 7,900 คันในปี 2024 ซึ่งหมายความว่า บริษัทน่าจะได้รับเงินอุดหนุนรวมประมาณ 2,700 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม Neta ดูเหมือนจะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2024 เพื่อรับเงินอุดหนุนได้ทันตามกำหนด บริษัทจำเป็นต้องผลิตรถยนต์ 13,000 คันในประเทศไทยในปี 2024 และ 19,000 คันในปี 2025 แต่ Neta เพิ่งผลิตได้เพียงไม่กี่พันคันเท่านั้น
อ้างอิง: nikkei