IFA ชี้ INGRS ปล่อยกู้ ICB กว่า 1.5 พันล้าน ไม่คุ้มค่า เสี่ยงสูง-ผลตอบแทนต่ำ
บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ INGRS เปิดเผยรายงานความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการพิจารณาให้สัตยาบันการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่ม ICB
โดยระบุว่ากลุ่ม INGRS ได้อนุมัติเงินกู้ระยะสั้นและเงินทดรองจ่ายแก่กลุ่ม ICB รวมทั้งสิ้น 197.31 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 1,505 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาส 1/2569 เท่ากับ 7.6298 บาท/ริงกิต) เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ชำระหนี้ และเป็นทุนหมุนเวียนของ ICB โดยมีการทำสัญญาเงินกู้ 3 ฉบับรวมวงเงิน 97.79 ล้านริงกิต
ทั้งนี้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า การเข้าทำรายการดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมและไม่สมเหตุสมผล ด้วยเหตุผลหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) แผนการชำระคืนขาดความชัดเจน และมีประวัติเลื่อนชำระหลายครั้ง 2) ฐานะการเงินของ ICB อ่อนแอ ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ 3) อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของ INGRS และไม่จูงใจเทียบกับ Project IRR ของโครงการใหม่ และ 4) เงื่อนไขของรายการอาจทำให้ INGRS สูญเสียประโยชน์และเผชิญผลกระทบด้านลบ
นอกจากนี้ยังพบว่าการดำเนินการให้กู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้ INGRS เสียโอกาสในการบริหารสภาพคล่อง และอาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะการตั้งอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อประโยชน์แก่ ICB
ขณะเดียวกันที่ปรึกษาทางการเงินอิสระประเมินว่า หากผู้ถือหุ้นอนุมัติให้สัตยาบัน จะเป็นการยอมรับการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล ส่วนหากไม่อนุมัติ ก็จะสามารถผลักดันให้มีการทวงถามหนี้ และปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ผ่านการจัดทำข้อตกลงชำระหนี้ (Settlement Agreement) อย่างเป็นระบบ แต่ทางที่ปรึกษาฯ เห็นว่า แผนทวงถามหนี้ที่ต้องพึ่งพากระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งอาจล่าช้านั้น ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม
โดยแม้ผลการลงมติในวาระที่ 2 ของการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 จะเป็นดุลยพินิจของผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระย้ำให้พิจารณาข้อมูลรอบด้าน โดยเฉพาะข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากกรณีนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นธรรมาภิบาล การปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และการปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดทุน
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ควรอนุมัติให้สัตยาบันการเข้าทำรายการดังกล่าว พร้อมรับรองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ โปร่งใส และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก