แผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่กระทบไทยและไม่ก่อสึนามิ ด้านนักวิชาการเตือนยังประมาทไม่ได้
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งเพจมิตรเอิร์ธ ให้สัมภาษณ์กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นระยะ จำนวนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกว่าจะเกิดคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอันดามันหลายประเทศ โดย ดร.สันติ ระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในอนาคต เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่เชื่อมโยงกับเขตมุดตัวสุมาตรา หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นก็ไม่สามารถก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนแนวระนาบ ไม่เกิดการยกมวลน้ำขึ้น แตกต่างจากการเกิดสึนามิในปี 2547 ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนแบบมุดตัว แต่การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กแบบถี่ๆ มีความเป็นไปได้ที่บ่งชี้ถึงแมกมาใต้แผ่นเปลือกโลกกำลังเคลื่อนที่ขึ้นมาด้านบน ซึ่งพื้นที่ใต้เกาะสุมาตรามีภูเขาไฟใต้ทะเลอยู่จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ดร.สันติ ระบุว่า หากพื้นที่อื่นเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ขนาดความรุนแรงไม่ถึง 3 นั้นไม่มีความหรือระวังมากนัก เนื่องจากโดยปกติแล้วทั่วโลกเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กในบริเวณใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ก็ไม่ควรเพิกเฉย และจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกี่ยวข้องกับการปะทุของภูเขาไฟ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องลงรายละเอียดเชิงลึกเพื่อหาสาเหตุต่อไป
โดยปกติแล้วการปะทุของภูเขาไฟมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ แบบลาวาไหลหลาก แม้ว่าจะเกิดใต้ท้องทะเลแต่ไม่สามารถก่อสึนามิได้ เนื่องจากลาวาจะค่อย ๆ เอ่อล้นขึ้นมาเปรียบเทียบกับน้ำล้นท่อ ซึ่งไม่สร้างแรงกระเพื่อมในน้ำ มักเกิดในแนวรอยแยกตัวเช่น สันเขากลางมหาสมุทร หรือบริเวณแผ่นเปลือกโลกในแถบฮาวาย แตกต่างจากการปะทุแบบให้เถ้า มักเกิดกับภูเขาไฟที่มีลักษณะยอดแหลม เมื่อเกิดการระเบิดขึ้นจะทำให้น้ำกระเพื่อม มวลน้ำมีการยกตัวจนสามารถก่อให้เกิดคลื่นสึนามิได้ ซึ่งองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาสามารถบอกได้ว่าภูเขาไฟใต้ทะเลบริวเวณหมู่เกาะนิโคบาร์นั้นตั้งอยู่บนแนวเดียวกับภูเขาไฟที่อยู่บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งหากเกิดการปะทุขึ้นจริงจะเกิดสึนามิขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทางภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยได้
แต่อย่างไรก็ตาม ดร.สันติ ชี้แจงว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการบ่งชี้ถึงโอกาสที่ภูเขาไฟใต้ทะเลจะปะทุขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าภูเขาไฟจะปะทุตอนไหน หรือจะเกิดสึนามิในช่วงเวลาใด แต่เมื่อมีเหตุบ่งชี้ถึงความเสี่ยงแล้ว ภาครัฐและภาคประชาชนจึงควรเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมในการรับมมือเพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทางด้านกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยันว่ากรณีแผ่นดินไหวใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์ไม่ส่งผลต่อประเทศไทยและไม่ก่อให้เกิดสึนามิตามที่มีข่าวลือ โดยนายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุว่า แผ่นดินไหวใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์เป็นกลุ่มแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางซึ่งไม่มีแผ่นดินไหวหลักที่ชัดเจน และเกิดเป็นประจำจากรอยแตกและรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก แต่การเคลื่อนตัวเป็นแบบแนวระนาบ ไม่เกิดการยกตัวและแทนที่ของน้ำในแนวดิ่ง ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสเกิดสึนามิขึ้นอย่างแน่นอน
ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวใต้ทะเลใกล้หมู่เกาะนิโคบาร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย แต่การเกิดกลุ่มแผ่นดินไหวจำนวนหลายครั้งในช่วงระยะเวลาไม่สั้นๆ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเฝ้าระวังที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อเพื่อศึกษาพฤติกรรมการขยับตัวของรอยเลื่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับบริเวณโดยรอบ รวมถึงพื้นที่แนวชายฝั่งของไทย
ส่วนกรณีข่าวลือว่าจะเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิครั้งใหญ่ในช่วงวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถพยากรณ์และระบุได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ใด ความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หรือเกิดขึ้นวันไหน ซึ่งการพยากรณ์นั้นทำจะดูจากการเก็บสถิติข้อมูลเพื่อดูการอุบัติซ้ำ และเฝ้าระวัง รวมถึงแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อลดความตื่นตระหนกเมื่อเกิดสถานการณ์จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมญี่ปุ่นแผ่นดินไหวบ่อย? ผลกระทบจากรอยต่อ 3 แผ่นเปลือกโลก
- แผ่นดินไหว 1,030 ครั้งใน 2 สัปดาห์ เกิดอะไรกับ "ญี่ปุ่น" หรือคำทำนายเป็นจริง?
- ญี่ปุ่นอพยพชาวบ้านหลังแผ่นดินไหวกว่า 1,000 ครั้ง
- ลือสนั่น “อภิมหาแผ่นดินไหว” 5 ก.ค.68 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่? คำทำนายมังงะทำผวาทั่วเอเชีย!
- เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ 2 จังหวัดภาคใต้จะเกิดสึนามิ วันที่ 5 ก.ค. 68