เศรษฐกิจไทยจะเกิดวิกฤติหรือไม่ เรียนรู้จากวิกฤติปี 40
พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นคำถามที่ดีมาก วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นผมเรื่องนี้กับแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่หลายประเทศเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรกของเศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี สร้างบทเรียนมากมายในเรื่องนโยบายและการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งที่สำคัญในความเห็นของผมคือ
1.เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่มากและต่อเนื่องเป็นทั้งประโยชน์และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ คือ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเพราะสภาพคล่องที่มีมาก ขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เงินเฟ้อ หนี้ต่างประเทศฟองสบู่ในราคาหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์
นี่คือความอ่อนแอที่จะสะสมมากขึ้นๆ และปะทุเป็นวิกฤติได้ถ้าความอ่อนแอมีมาก รุนแรงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่นำเงินเข้ามาลงทุน และเจ้าหนี้ที่ปล่อยเงินกู้เปลี่ยนไปหรือหมดลง เงินทุนไหลเข้าเปลี่ยนเป็นไหลออก หรือการเรียกคืนเงินกู้อย่างฉับพลัน สร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องและอัตราแลกเปลี่ยน นี่คือกรณีประเทศไทยปี 2540
2.ต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจในทุกวิกฤติ คือ หนี้ หมายถึงการก่อหนี้ที่สูงเกินความสามารถของเศรษฐกิจที่จะชำระคืนได้ คือมี “หนี้เกินตัว” จนเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่น ซึ่งกรณีประเทศไทยปี 2540 คือหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนที่สูงถึง 85.2 พันล้านดอลลาร์ ชี้ว่าวิกฤติเกิดขึ้นได้ถ้าประเทศมีหนี้มากและเกินตัว ไม่ว่าหนี้ที่ก่อจะเป็นหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจหรือหนี้ครัวเรือน
ที่สำคัญวิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา มีระบบการเงินที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอ มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่หรือลอยตัว มีทุนสำรองทางการมากหรือน้อยวิกฤติเกิดขึ้นได้ทุกกรณีถ้าประเทศมีหนี้เกินตัวและประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ตัวอย่างคือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ที่สหรัฐนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก สหรัฐเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับหนึ่งของโลก มีระบบการเงินที่เข้มแข็ง อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและทุนสำรองมีมากมาย แต่ก็เกิดวิกฤติเพราะหนี้ภาคเอกชนที่มีมากโดยเฉพาะหนี้อสังหาริมทรัพย์ที่สูงกว่า 10.5 ล้านล้านดอลลาร์หรือกว่า 100% ของจีดีพี และวิกฤติเกิดขึ้นเมื่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงินเปลี่ยน ตอกย้ำความสำคัญว่าหนี้คือสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ
3.การหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤติต้องมาจากการรักษาวินัยการเงินการคลัง ไม่ให้ภาครัฐกู้เงินก่อหนี้จนเกินกำลัง บริหารผลต่อเศรษฐกิจของเงินทุนไหลเข้าด้วยนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นและสมดุล เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจใช้จ่ายเกินตัวและลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ พัฒนาระบบการเงินให้เข้มแข็ง และปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริงที่จะสร้างพื้นฐานที่ให้เศรษฐกิจเติบโตและประชาชนมีรายได้ ซึ่งจะลดโอกาสของการเกิดปัญหาหนี้และวิกฤติเศรษฐกิจ
นี่คือสามบทเรียน ซึ่งหลังวิกฤติปี 2540 ประเทศในเอเชียก็เดินตามบทเรียนนี้ ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้น ปฏิรูประบบการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ผลคือเศรษฐกิจในเอเชียฟื้นตัวได้เร็ว รอดพ้นและปลอดภัยจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551
ประเทศที่ไปได้ดีสุดหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 คือ เกาหลีใต้ ที่เปลี่ยนตนเองจากประเทศกำลังพัฒนาที่เกิดวิกฤติมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับที่ 12 ของโลกด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ทำจริงจังและต่อเนื่อง โดยทำทั้งสี่ด้านคือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยน ระบบการเงิน ภาคเศรษฐกิจจริงและธรรมาภิบาล
ส่วนไทยกับอินโดนีเซียทำเฉพาะสองด้านแรกหลังวิกฤติปี 2540 คือ อัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงิน ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพแต่ไม่เติบโต อินโดนีเซียมาเริ่มปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริงและธรรมาภิบาลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัยประธานาธิบดีโจโควี ทำให้เศรษฐกิจพุ่งทะยานหลังจากนั้น ขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปีถึงปัจจุบัน
ขณะที่ประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย ไม่ปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริงและธรรมาภิบาลช่วง 28 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจึงไม่ไปไหนเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่มีการลงทุน ไม่มีนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานไม่พัฒนาดีขึ้น ปัญหาธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น ซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองในประเทศที่มีต่อเนื่องกว่า 20 ปี ไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ออกมาแย่สุดหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่อัตราการขยายตัวต่ำต่อเนื่องและปัจจุบันต่ำสุดในภูมิภาค
ต่อคำถามว่า ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ ผมมีข้อสังเกตดังนี้
1.วิกฤติเศรษฐกิจในลักษณะเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะเงินทุนไหลเข้ามาก มีหนี้ต่างประเทศมาก นำไปสู่ภาวะฟองสบู่และฟองสบู่แตก คงไม่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันไม่มีเงินทุนไหลเข้า ไม่มีฟองสบู่ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น และทุนสำรองทางการมีมากพอแต่วิกฤติที่อาจเกิดขึ้น จะเป็นผลจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องและไม่มีการแก้ไข พัฒนาไปสู่ภาวะตกต่ำรุนแรงของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไม่ขยายตัว กระทบรายได้และความสามารถในการชำระหนี้
ดังนั้น จุดที่ต้องระวังคือระดับหนี้ในระบบเศรษฐกิจทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันหนี้ทั้งสามกลุ่มอยู่ในเกณฑ์สูง หนี้ภาครัฐล่าสุดอยู่ที่ 64% ของจีดีพี หนี้ครัวเรือนที่ 88% ของจีดีพี และหนี้ภาคธุรกิจที่ประมาณ 80% ของจีดีพี หนี้เหล่านี้ถ้าสูงมากขึ้นไปอีกก็อาจสร้างปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ ทุกส่วนไม่มีรายได้ เกิดปัญหาชำระหนี้ทั้งระบบ หรืออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นนี่คือความเสี่ยงที่จะนำประเทศไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ
ในสามกลุ่มนี้ หนี้ภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือนจะมีกลไกตลาดควบคุมอยู่ทำให้การก่อหนี้เพิ่มจะไม่ง่าย คือธนาคารไม่ปล่อยกู้ ต่างกับหนี้ภาครัฐที่กลไกควบคุมไม่มี หรือมีเช่นเพดานหนี้แต่อาจไม่มีวินัยเพราะเป็นการตัดสินใจของนักการเมือง นี่คือเหตุผลทำไมไอเอ็มเอฟห่วงฐานะการคลังประเทศไทย และแนะนำให้ลดเพดานหนี้ภาครัฐกลับมาที่ 60% ของจีดีพี
2.การแก้ไขปัญหาหนี้หรือลดความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจที่ดีสุดคือ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ให้ขยายตัวได้สูงขึ้น เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นจะลดความเสี่ยงและผ่อนคลายทุกอย่าง การทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตจากจุดปัจจุบันต้องทำโดย“การปฏิรูปเศรษฐกิจ” เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะทางเลือกอื่นได้มาถึงจุดที่เลยพื้นที่ปลอดภัยไปแล้ว ไม่ว่าการลดดอกเบี้ย การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการก่อหนี้ ซึ่งทั้งหมดคือการแก้ปัญหาด้านอุปสงค์ การปฏิรูปคือการแก้ปัญหาด้านอุปทานของเศรษฐกิจ มุ่งไปที่ผลิตภาพ ความสามารถในการผลิต คุณภาพแรงงานและธรรมาภิบาล
ในการสัมภาษณ์ผมเปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนรถยนต์เก่า ที่มีปัญหามากต้องซ่อมต้องยกเครื่องเพื่อให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น แต่ที่ผ่านมาคนขับจะเอาแต่เติมน้ำมันและเหยียบคันเร่ง ไม่ซ่อมหรือแก้ปัญหา รถจึงวิ่งช้า ไปไหนได้ไม่ไกลเทียบกับรถคันอื่น ปัจจุบันถนนขรุขระขึ้น ลมต้านมากขึ้น น้ำมันก็มีน้อย รถจึงเหมือนจอดสนิท ล่าสุดคนขับก็ไม่อยู่ ผู้โดยสารลงจากรถและเถียงกันว่าจะเอาอย่างไงต่อ จะรอคนขับกลับมาและไปอย่างเดิม หรือจะจับมือพร้อมใจกันลงมือซ่อมรถทันทีเพื่อไปต่อ