ผู้เสียหาย STARK พร้อมสู้ต่อแม้ ก.ล.ต.ชี้แจง ปรับบลจ.ไม่มีเอี่ยว
ตัวแทนของนักลงทุนผู้เสียหายกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาว(LTF) หุ้นSTARK ชี้กลุ่มผู้เสียหายยังพร้อมสู้ต่อไป แม้วานนี้ (24 ก.ค.) เวลา10.00-12.00 น. กลุ่มตัวแทนของผู้เสียหายได้เข้าร่วมประชุมต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อฟัง ก.ล.ต.มาให้ข้อมูล ตามที่ได้ลงโทษเปรียบเทียบปรับต่อกองทุนดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 2.3 ล้านบาทว่าเป็นกรณี STARK หรือไม่ แม้ ก.ล.ต. ชี้แจงเป็นคนละกรณี แต่ผู้เสียหายจะยังคงหารือเพื่อนำไปสู่การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
นายสิทธา สุวิรัชวิทยกิจ ตัวแทนของนักลงทุนผู้เสียหายกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาว(LTF)หุ้น STARK เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (24 ก.ค. ) ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สภาผู้แทนราษฎร กรณีที่ได้ยื่นหนังสือให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มาให้ข้อมูลในกรณีลงโทษปรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งหนึ่งเป็นจำนวน 2.3 ล้านบาท ว่าเป็นกรณีเดียวกับ STARK หรือไม่
เนื่องจาก กลต.ระบุว่ามีการกระทำผิดระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2567 จึงทำให้กลุ่มผู้เสียหายมีความสงสัยว่า จะเป็นกรณีบลจ.แห่งนี้ลงทุนผิดพลาดในกรณีหุ้นSTARK จนมีผลเสียหายต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหรือไม่ เนื่องจาก บลจ.ดังกล่าวเคยออกแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ว่า "เมื่อ STARK ประกาศยกเลิกดีลการซื้อกิจการ LEONI กองทุนก็ได้ทยอยขายหุ้น STARK เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากเริ่มไม่แน่ใจในปัจจัยพืนฐานตามข้อมูลที่ปรากฎ และติดตามข้อมูลของบริษัทอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหุ้น STARK ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขายไปตั้งแต่วันที 28 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากไม่สามารถนําส่งงบการเงินประจําปี 2565 ได้
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ได้ชี้แจงว่าการปรับบลจ.จำนวน 2.3 ล้านบาท ไม่ใช่กรณี STARK เนื่องจากกรณี STARK นั้น บลจ. ได้ติดตามเหตุการณ์ของหุ้น STARK มาโดยตลอด และได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดําเนินกิจการของบริษัทด้วยความระมัดระวัง รวมถึงใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่างๆ ตามที่ปรากฏ เพื่อประมาณมูลค่ายุติธรรมของหุ้น STARK ขึ้นมาใหม่ และขายหุ้นออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง
โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัท STARK ยังคงสามารถดําเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด" ซึ่งปรากฏในเวลาต่อมาว่า STARK มีการตกแต่งบัญชีเท็จ และเป็นผลให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก จากราคาปิดสุดท้าย2.38บาท ลงมา 0.01ถึง0.05 บาท
บลจ.ดังกล่าวค่อยมาขายออก ก่อนจะถูกตลาดหลักทรัพย์ห้ามการซื้อขาย ประเมินมูลค่าขาดทุนเสียหายมากกว่า3,500ล้านบาท มีผลกระทบต่อ NAV ลดลงหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ทั้งนี้ในที่ประชุม นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการ ได้ขอให้ ก.ล.ต.ได้ให้ข้อมูลแก่ที่ประชุม โดยนางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.ได้เป็นผู้แทนชี้แจงว่า การลงโทษเปรียบเทียบปรับต่อบลจ.และผู้บริหารอีก 2 คนรวมเป็นเงิน 2.3ล้านบาทเศษเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับบลจ.ดังกล่าวมีการกระทำผิด
กล่าวคือ"มีระบบงานการจัดการลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ทบทวนและติดตามคุณภาพหลักทรัพย์ไม่รัดกุมเพียงพอ" เนื่องจากสำนักงานก.ล.ต.ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเวลาที่มีการกระทำผิดนั้น บลจ.นี้ได้มีการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 155 บริษัท ซึ่งคณะกรรมการการลงทุนของบลจ.จะต้องมีระบบงานและขั้นตอนการลงทุน โดยต้องมีข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพครบถ้วนทุกบริษัทประกอบการลงทุน
แต่ปรากฎว่า มีจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่ง คือจำนวน 78 บริษัท ที่บลจ.เข้าไปลงทุน โดยไม่ได้มีเอกสารหลักฐานการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ แต่กรณีที่บลจ.นี้เข้าไปลงทุนในหุ้น STARK มีข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นSTARKแต่ประการใด"
ส่วนที่มีนักลงทุนร้องเรียนว่าบลจ.ดังกล่าวลงทุนในหุ้นSTARKโดยไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้น ทาง ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่พบว่ามีการกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนการเปิดเผยข้อมูลนั้น ก.ล.ต.ได้เปิดเผยข้อมูลเพียงพอ ตามมาตรฐานแล้ว
ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล จึงแจ้งในที่ประชุม ขอให้สำนักงานกลต.ได้เปิดเผยข้อมูลให้เพียงพอต่อนักลงทุน กรณีนี้เมื่อกลต.เปิดเผยต่อคณะกรรมาธิการว่า บลจ.ดังกล่าวมีความผิดตามพรบ.หลักทรัพย์ตามมาตรา117 คือมีระบบงาน การจัดการลงทุนในเรื่องการวิเคราะห์ทบทวนและติดตามคุณภาพหลักทรัพย์ไม่รัดกุมเพียงพอ เนื่องจากการเข้าไปลงทุนหุ้น 155 หุ้น พบว่ามีมากถึงครึ่งหนึ่งคือ 78 บริษัทที่ขาดข้อมูลการวิเคราะห์ด้านคุณภาพ ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ใช่เรื่องSTARKเพียงหุ้นเดียวแล้ว
ดังนั้นจึงขอให้กลต.ส่งข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวมาให้คณะกรรมาธิการ และควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนและสาธารณชนด้วยว่า ในจำนวน 78 บริษัทนั้นประกอบไปด้วยบริษัทใดบ้าง ที่ไม่ได้มีข้อมูลเชิงคุณภาพ แต่บลจ.ยังตัดสินใจลงทุน และแบบนี้มีผลเสียหายต่อผู้ลงทุนอย่างไรบ้าง
นายณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ในฐานะอนุกรรมาธิการศึกษาแก้ไขการฉ้อโกง STARK กล่าวว่า เมื่อ ก.ลฎต.ชี้แจงว่าการปรับกองทุนนี้ไม่เกี่ยวกับหุ้นSTARK แต่เกี่ยวกับระบบงานการวิเคราะห์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ก็คงต้องรอให้ ก.ล.ต.เปิดเผยรายละเอียดต่อนักลงทุนต่อไปว่ากรณีนี้ที่ทำผิด ไม่มีข้อมูลเชิงคุณภาพครึ่งต่อครึ่ง หรือหุ้น 78 ตัวจาก 155 ตัว ไม่มีข้อมูลเชิงคุณภาพนั้นเป็นเรื่องใหญ่
เนื่องจากนักลงทุนทั่วไปต่างก็เข้าใจว่า กองทุนเป็นมืออาขีพ มีความพร้อมในด้านข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุนดีกว่านักลงทุนทั่วไป พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็น่าตกใจ จึงสมควรต้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และนักลงทุนด้วย
นายสิทธา ตัวแทนของผู้เสียหายกล่าวว่า หลังการประชุมจะรอข้อมูลเพิ่มเติมที่คณะกรรมาธิการขอให้ ก.ล.ต. ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะดำเนินมาตรการต่อ บลจ.ดังกล่าว เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ดีผู้เสียหายกรณี STARK จะยังคงหารือกันเพื่อต่อสู้ต่อไป