โดมความร้อนปกคลุมทั่วสหรัฐฯ กระทบประชาชนกว่า 100 ล้านคน
ประชาชนกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐฯ จะเผชิญกับสภาพอันตรายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโดมความร้อนที่แผดเผาพื้นที่ส่วนใหญ่ของตอนกลางประเทศกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกอุณหภูมิสูงและความชื้นตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด เจ็บป่วย และเสียชีวิต
มีการประกาศเตือนภัยความร้อนเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ค.) ทั่วทั้งชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐเมน ไปจนถึงเมืองวิลมิงตัน รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยดัชนีความร้อนในเวลากลางวันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในบางพื้นที่ถึง 10-15 องศาฟาเรนไฮต์ ขณะเดียวกัน อุณหภูมิในเวลากลางคืนก็จะสูงและอบอ้าวอย่างรุนแรง ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (NWS)
แม้ว่าพายุฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ซึ่งอาจมีความรุนแรง จะช่วยบรรเทาความร้อนในคืนวันศุกร์สำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ความร้อนและความชื้นจะยังคงทวีขึ้นในพื้นที่ตอนใต้ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และหุบเขาเทนเนสซี ซึ่งคาดว่าจะเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดและอันตรายมากที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ดัชนีความร้อน คือ อุณหภูมิที่รู้สึกได้เมื่อรวมความชื้นในอากาศเข้าไปด้วย
นครนิวยอร์ก มีการคาดการณ์ว่าจะมีดัชนีความร้อนสูงถึง 106 องศาฟาเรนไฮต์ในช่วงบ่ายวันศุกร์ ซึ่งสูงกว่าเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ที่ร้อนที่สุดในสหรัฐฯ เล็กน้อย
ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ดัชนีความร้อนอาจเกิน 115 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ที่ไม่มีระบบทำความเย็นเพียงพอหรือไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ NWS เตือนว่า นี่จะเป็นคลื่นความร้อนที่กินระยะเวลายาวนาน โดยแทบไม่มีความเย็นลงในตอนกลางคืน และระดับความชื้นจะสูงมาก ส่งผลให้มีอันตรายเพิ่มขึ้น
อุณหภูมิที่สูงและความชื้นที่มากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด โรคจากความร้อน และการเสียชีวิต โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ กลุ่มแรงงานกลางแจ้ง เช่น คนสวน ช่างก่อสร้าง เกษตรกร และพนักงานส่งของ รวมถึงผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยและผู้ที่มีปัญหาการใช้สารเสพติด ล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ
โดมความร้อน คือ ปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาเฉพาะ
เกิดขึ้นเมื่อมวลอากาศร้อนถูกกักไว้เหนือพื้นที่หนึ่งโดยระบบความกดอากาศสูงที่หยุดนิ่ง ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นดินสูงขึ้น ด้วยความที่ระบบความกดอากาศสูงดังกล่าวทำให้เกิดเมฆปกคลุมน้อย แสงแดดจึงส่องลงพื้นดินโดยตรงและทำให้อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้น
แม้ว่าโดมความร้อนจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน ซึ่งมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ก็สามารถมีคลื่นความร้อนได้โดยไม่มีโดมความร้อนเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศพบว่า โดมความร้อนในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมนุษย์ และแม้ว่าโดมความร้อนล่าสุดในสหรัฐฯ จะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ แต่ก็ยังคงสร้างสภาพอันตรายต่อพื้นที่ในตอนกลาง-ใต้ไปจนถึงหุบเขาแม่น้ำมิสซิสซิปปีตอนกลาง โดยยังมีการประกาศเตือนภัยความร้อนตั้งแต่รัฐโอคลาโฮมาไปจนถึงรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย
ในเขต “Corn Belt” หรือเขตปลูกข้าวโพดซึ่งครอบคลุมบางรัฐทางตอนกลางตะวันตกและตอนใต้ของสหรัฐฯ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เหงื่อข้าวโพด” (Corn Sweat) ทำให้ความชื้นในอากาศรุนแรงขึ้น และสามารถเพิ่มดัชนีความร้อนได้มากถึง 10 องศาฟาเรนไฮต์
นักพยากรณ์อากาศยังคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐแคนซัสไปจนถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐอินดีแอนา รวมถึงมีโอกาสเกิดพายุฟ้าคะนองกระจายตัวในบางส่วนของภูมิภาคนิวอิงแลนด์ แถบตอนเหนือของแอตแลนติกกลาง และรัฐนอร์ทดาโคตา
ขณะเดียวกัน สภาพอากาศแห้งและลมแรงได้ส่งผลให้มีการประกาศเตือนภัยไฟป่าระดับธงแดงในบางพื้นที่ของรัฐยูทาห์และโอเรกอน