จี้รัฐ เร่งแก้ปัญหาหลังพบ “พยาธิในผักสด” ในตลาดสด กทม. สูงถึง 90%
จากงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก 200 ตัวอย่าง จากตลาดสดใน 5 เขต ได้แก่ ห้วยขวาง คลองเตย ปทุมวัน จตุจักร และพระนคร พบว่า มากถึง 77% ของผักสดมีพยาธิปนเปื้อน โดยเฉพาะในเขตห้วยขวางและจตุจักรซึ่งพบอัตราปนเปื้อนสูงถึง 90%
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผักสดอาจเป็นแหล่งสำคัญของการติดเชื้อปรสิตในคน ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยอาหารที่เข้มงวดขึ้น แม้ว่าจะไม่มีประกาศควบคุมเรื่องพยาธิปนเปื้อน ผู้บริโภคจึงต้องป้องกันตัวเอง
ด้วยการล้างผักให้สะอาดอย่างทั่วถึงก่อนบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อีกทั้ง ด้านสาธารณสุขควรพิจารณาให้การรักษาเชิงป้องกันด้วยยาถ่ายพยาธิ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างน้อยปีละครั้ง
ขณะที่ เรื่องสารเคมีตกค้าง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเสี่ยงเรื่อง อาหารปลอดภัย ไม่แพ้กัน โดยการสุ่มตรวจผักนำเข้าที่ด่านเชียงของ โดยความร่วมมือของสภาผู้บริโภค คณะอนุกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค และ Thai-PAN พบสารพิษเกินมาตรฐาน 7 ใน 10 ตัวอย่าง หรือ 70 % ของผักที่ตรวจมีสารพิษเกินมาตรฐาน และมีการตรวจพบสารอันตรายร้ายแรงอย่าง คลอร์ไพริฟอส ในระดับสูงถึง 0.78 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ หากพบสารพิษตกค้างในผักเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย มีสิทธิเจอโทษตามกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 460 พ.ศ. 2568 ได้กำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดในอาหารและผักเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
หากพบว่าผักมีสารพิษเกินค่ากำหนด ถือว่าผิดกฎหมาย และผู้ที่เกี่ยวข้องอาจถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับกรณีว่าอาหารนั้น ไม่บริสุทธิ์หรือผิดมาตรฐาน
แม้ภาคประชาชนจะลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผักปนเปื้อนอย่างแข็งขัน แต่ฝั่งผู้ประกอบการเองก็ไม่นิ่งนอนใจ ตัวอย่างเช่น ตลาดผักผลไม้แห่งหนึ่งที่มีมาตรการเข้มงวด ด้วยการสุ่มตรวจผักผลไม้จากร้านค้าที่มาขายทุกวัน และลงโทษผู้ค้ารายใดที่จำหน่ายสินค้าผิดมาตรฐาน
แต่ถึงแม้จะมีมาตรการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ การตรวจสอบเหล่านี้ก็ยังเป็นเพียงแนวรับในปลายน้ำเท่านั้น ส่วนต้นทางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปนเปื้อน กลับยังขาดการควบคุมอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัย หรือระบบจัดการที่สามารถเรียกคืนสินค้าได้ทันทีเมื่อพบความเสี่ยง นี่จึงทำให้ผักผลไม้ที่ปนเปื้อนสารพิษหรือพยาธิ ยังคงเล็ดลอดเข้าสู่ตลาด และถึงมือผู้บริโภค โดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ล่วงหน้า
ทั้งนี้สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้รัฐ เร่งจัดตั้งระบบ “แจ้งเตือน–เรียกคืน” สินค้าไม่ปลอดภัย ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค พร้อมกำหนดให้สินค้านำเข้าทุกชนิดต้องมี ฉลากภาษาไทยชัดเจน เพื่อให้สามารถติดตามแหล่งที่มาและเรียกคืนสินค้าออกจากตลาดได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดปัญหา เพราะในโลกที่ความเสี่ยงปนเปื้อนอาจซ่อนอยู่ในทุกคำ ระบบเตือนภัยที่รวดเร็วและแม่นยำ คือเกราะป้องกันผู้บริโภคอย่างแท้จริง
นายปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเน้นย้ำความสำคัญของ “ระบบแจ้งเตือน–เรียกคืน” สินค้าไม่ปลอดภัย จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ด่านศุลกากรเชียงของ พบว่า หน้าด่านยังขาดเครื่องมือที่ทันสมัยและระบบจัดการแบบเบ็ดเสร็จ
ทำให้ผักผลไม้ที่มีสารพิษเหล่านี้หลุดเข้าสู่ตลาดบริโภคโดยไม่มีการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที และหากสินค้าใดหลุดเข้าไปในตลาดแล้ว เราต้องมีระบบที่ติดตามและเรียกคืนจากผู้บริโภคได้ทันที นี่คือหัวใจสำคัญของการจัดการผักผลไม้ที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาดในประเทศ เพื่อให้การปกป้องสุขภาพประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด