‘นิรันดร์’นวัตกรรมเพื่อสังคม ปฏิวัติงานดูแลผู้สูงวัย ในยุคดิจิทัล
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุเกิน 20 ล้านคนภายในปี 2569 ซึ่งเป็นจุดวิกฤติที่ต้องมีการจัดวางระบบบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับผู้สูงอายุจำนวนมาก เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระของสังคม แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อสังคม
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ริเริ่มโครงการ “ผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” มาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายในการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในชุมชน ลดภาระงบประมาณ โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีร่างกายแข็งแรงและจิตใจที่ดี
ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องดูแลในอนาคตที่อาจสูงถึงหลักแสนคน การทำงานแบบแมนนวลจะไม่สามารถทำได้ครอบคลุม ดังนั้น โครงการจึงได้นำ “แอปพลิเคชัน ‘นิรันดร์’ (Nirun) ที่พัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน แอปพลิเคชัน Nirun ถูกออกแบบมาให้เป็น “ผู้ช่วยดิจิทัล” หรือ “เลขาส่วนตัว” สำหรับผู้บริบาล
โดยมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายและครอบคลุม มีการแถลงข่าวกรณีความสำเร็จ โครงการบริบาลสิทธิผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส) องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จ่ายแล้ว 7500 บาทให้ผู้สูงอายุ เงินบำนาญชราภาพ ก้อนใหญ่รายเดือน
ธรรมศาสตร์รวมพลัง 39 ท้องถิ่น! ปั้นโมเดลผู้สูงอายุในชุมชน
"ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ” เป็นคนในพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุ
“ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.พม.กล่าวว่ามีความจำเป็นต้องทำให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคงในช่วงปั้นปลายของชีวิต โดยส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันบนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งเป็นการจัดระบบสวัสดิการชุมชนอย่างยั่งยืน
เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ ที่สำคัญ คือช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของประเทศในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศ ดังนั้นผู้ที่จะมาทำหน้าที่“ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ”จะเป็นคนในพื้นที่จึงเข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี
แอปพลิเคชัน Nirun ผู้ช่วยผู้บริบาล
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการขับเคลื่อนแผนงานระบบสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ สวทช. กล่าวว่าระบบการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ “Nirun for community” หรือเรียกว่า ระบบ “นิรันดร์” ซึ่งเป็นระบบ ซอฟต์แวร์บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ ออกแบบมาเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนโครงการบริบาลสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ที่จะช่วย ‘ผู้บริบาล’ ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน
“การทำงานของระบบนิรันดร์ ข้อมูลที่ผู้บริบาลฯ บันทึกเข้ามาในระบบนิรันดร์ทุกวัน สามารถประมวลผลและแสดงออกมาให้ผู้บริบาลฯ นำไปใช้ดูแลผู้สูงอายุได้ อาทิ การประมวลผลข้อมูลตั้งต้นของผู้สูงอายุ (อายุ, โรค, ผลประเมิน ADL) ซึ่งแสดงผลเป็น “แผนการดูแลเบื้องต้น” (Recommended Care Plan) หรือข้อแนะนำในการดูแล เช่น ควรเน้นกิจกรรมกายภาพบำบัด, ควรเฝ้าระวังเรื่องอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริบาลฯ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละบุคคลได้”
คนพื้นที่คนดี เสียสละ ภาวะผู้นำ
ส่วนผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ต้องเป็นคนในชุมชนนั้นๆและผ่านการคัดเลือกโดย อบจ. ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น สามารถอ่านเขียนและใช้สมาร์ตโฟนได้ หัวใจสำคัญคือต้องเป็นคนที่ชุมชนนิยม เป็นคนดี เสียสละ และมีภาวะผู้นำผู้บริบาลต้องเข้ารับการพัฒนา 240 ชั่วโมง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาทต่อเดือนทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก่อนปฏิบัติงานทุกวัน ผู้บริบาลทุกคนจะปฏิญาณตนว่า “ปกป้อง คุ้มครอง เพื่อประชาชนแข็งแรง ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนร่มเย็น ด้วยความรัก เสียสละ อดทน”
ธาวินทร์ ลีลาคุณารักษ์ ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กล่าวว่า ระบบนิรันดร์ช่วยสนับสนุนการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันของผู้บริบาลฯ ได้เป็นอย่างดี สะดวก รวดเร็วในการบันทึกข้อมูล และยังช่วยติดตามผลการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะรายในพื้นที่อย่าง Real Time ช่วยบันทึกข้อมูลประวัติส่วนบุคคลเบื้องต้น สภาพปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุในมิติต่างๆ การประเมินผลครอบคลุม ทั้ง 5 มิติ และวิเคราะห์กิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้
ช่วยทำให้ผู้บริบาลฯ มีข้อมูล พิกัดของพื้นที่ของผู้สูงอายุที่ชัดเจนเพื่อความสะดวกในการค้นหาและการเดินทางเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทันท่วงที สามารถนำข้อมูลภาพรวมของสภาพปัญหาและการดูแลผู้สูงอายุมาวิเคราะห์วางแผนการดูแลผู้สูงอายุในมิติต่างๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
“สิ่งที่ได้ประโยชน์จากระบบนิรันดร์ คือ การค้นหาข้อมูลผู้สูงอายุ แค่พิมพ์ชื่อย่อผ่านระบบฯ บนโทรศัพท์มือถือก็สามารถเลือกหาผู้สูงอายุที่เราต้องการได้ในเสี้ยววินาที พิกัดที่อยู่ของผู้สูงอายุ ลงพื้นที่บ้านผู้สูงอายุได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลการดูแลในมิติต่างๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุทุกเดือน นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการดูแลผู้สูงอายุได้ เช่น ข้อมูลการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว”
หลงมา ทีปะลา ผู้สูงอายุวัย 85 ปี ในตำบลนิคมกระเสียว อ.ด้านช้าง จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันอาศัยอยู่คนเดียว ลูกหลานไปทำงานกลับมาหาบ้าง กล่าวว่าดีใจ อุ่นใจที่มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ (บุ๊น-ธาวินทร์ ลีลาคุณารักษ์) เข้ามาดูแลเหมือนเป็นญาติคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐมีโครงการฯ นี้ โดยส่งคนเข้ามาคอยช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุ ในวันที่สภาพร่างกายผู้สูงอายุไม่เอื้ออำนวย และยังช่วยเหลือดูแลเป็นธุระเรื่องอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
“เวลาเขาเข้ามาเยี่ยมบ้านแต่ละทีเขาก็จะเอาของมาฝากตลอด เข้ามากวาดบ้าน ถูบ้าน รองน้ำให้ที่บ้าน ช่วยตรวจวัดความดันให้ทุกครั้ง เวลาเราไม่สบายก็ถามว่าตาเป็นอะไร ไปโรงพยาบาลไหม คือมีแต่สิ่งดีๆ ที่เขาเข้ามาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเรา”
นอกจากนี้โครงการผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนยังทำงานเชื่อมกับภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการใช้เกมที่พัฒนาระบบสมอง ทางด้านความคิด ความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ในผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมและสวัสดิภาพของผู้สูงอายุอีกด้วย
เกมขนมมงคลป้องกันสมองเสื่อม
ณัชชา โรจน์วิโรจน์ Founder & Industrial Designer บริษัท BLIX POP ในฐานะผู้พัฒนาเกมขนมมงคลให้ สวทช. รวมถึงรับสิทธิผลิตและจัดจำหน่ายจาก สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรมเกมขนมมงคลเข้ามาเป็นส่วน “เติมเต็ม” ให้การดูแลผู้สูงอายุในมิติของสุขภาพ ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในปัจจุบันที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และช่วยฝึกความทรงจำ เสริมพัฒนาการทางด้านสมองและกล้ามเนื้อมือ
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเกมขนมมงคล สนับสนุนให้ผู้บริบาลฯ นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่และชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี และยังเป็นความร่วมมือที่ทำให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ช่วยกันแก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี
“เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น”
ประเมิน บันทึก และทำรายงาน
Nirun ช่วยให้ผู้บริบาลสามารถประเมิน บันทึกข้อมูล และทำรายงานต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายเป็นแนวทางในการทำงาน มีหัวข้อและไกด์ไลน์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ลดการทำเอกสารคู่ขนาน เพื่อให้ผู้บริบาลสามารถทุ่มเทเวลาในการดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้น
ระบบตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ตรวจสอบการทำงานของผู้บริบาลให้ได้ตามมาตรฐาน ให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) แก่ผู้บริบาลเตือนให้ความสำคัญกับสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุ ช่วยให้ผู้บริบาลปรับปรุงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์มหาศาลจากข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายนอกเหนือจากการสนับสนุนการทำงานของผู้บริบาลแล้ว แอปพลิเคชัน Nirun ยังมีประโยชน์อย่างมากในเชิงการบริหารข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ
ภาพรวมสถานการณ์ผู้สูงอายุ ทำให้ทราบสัดส่วนของผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง หรือติดสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเหล่านี้ในแต่ละปี ซึ่งเป็นสัญญาณทางนโยบายที่สำคัญ
สนับสนุนการวิจัยและวางแผนงบประมาณ ข้อมูลที่เก็บในระบบ Nirun เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศและการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มั่นใจได้ว่านโยบายในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีความแม่นยำสูง
ยกระดับการบริหารจัดการ ผู้บริหารในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุในจังหวัดของตน และดำเนินการในเรื่องที่จำเป็น เช่น การดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ หรือผู้พิการให้ได้รับเบี้ยยังชีพอย่างครบถ้วน ผู้บริหารระดับกระทรวงก็สามารถติดตามสถานการณ์และปรับแผนงบประมาณได้
ต้นแบบกระทรวงดิจิทัล โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบของกระทรวงดิจิทัล เป็นการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ช่วยให้หน่วยงานราชการได้เรียนรู้และนำไปคิดแก้ไขปัญหา ช่องว่างที่สังคมมองไม่เห็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีข้าวกิน หรือไม่สามารถไปหาหมอเองได้