"หมอวรงค์" ลั่น ราชทัณฑ์เบิกความไม่ตรงทีมแพทย์ เตรียมยกธงขาวได้เลย
"หมอวรงค์" ลั่น ราชทัณฑ์เบิกความไม่ตรงทีมแพทย์ เตรียมยกธงขาวได้เลย ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้ตัว "ชาญชัย" เผย ศาลเรียก "วิษณุ" เบิกความ 30 ก.ค. นี้ บอก พบพิรุธใหญ่แพทย์ไม่รู้จ่ายยาอะไร ชี้ ใกล้ปิดเกม
วันที่ 18 ก.ค. 68 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมฟังการไต่สวนคดีชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า วันนี้ได้รับทราบข้อเท็จจริง ได้เห็นเอกสารเองกับหูได้ดูกับตา และคำให้การขัดแย้งกับแพทย์สภาจริง ๆ ซึ่งในอาทิตย์หน้าแพทย์สภาจะมาเบิกความ เมื่อเช้าตนได้ชี้แจงต่อศาลและศาลได้นำใบเสร็จขึ้นมาถามสรุปแล้ว ก็ถามว่าทำไมใบเสร็จถึงไม่มีค่ายา
"ผู้อำนวยการทั้งเก่าและใหม่ เขาบอกว่าไปซื้อยาข้างนอกมาใช้เอง ซึ่งตนงงมากกับระบบของโรงพยาบาลตำรวจ พี่แพทย์จ่ายยาทุกวันแต่ไม่รู้ว่าจ่ายยาอะไร เป็นเรื่องแปลกประหลาดเป็นพิรุธใหญ่มาก " นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า วันนี้ทางองค์คณะได้สอบถามมากพอสมควร แล้วตนจะให้หลักฐานเหล่านี้ไปปรากฏต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ผิดเพราะหลักฐานตัวนี้ได้ให้ไว้ก่อนที่จะเข้าไปฟังศาลไต่สวน และไม่ใช่เวชระเบียน ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้นเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ศาลได้เรียกหลักฐานไปแล้วไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ยืนยันว่าเปิดเผยต่อสาธารณะได้ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ใช่การกล่าวโทษผู้อื่น
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนไทยทั้งประเทศเวลาไปนอนโรงพยาบาล เวลาได้รับใบเสร็จจะมีรายการยาทุกคน แต่มีใบเสร็จนี้อันเดียวที่ไม่มี ซึ่งเป็นกรณีพิเศษเพราะฉะนั้นอยากไปโทษคนอื่นว่าเขากลั่นแกล้งตัวเองทำอะไร และทำผิดกฎหมายและทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปทั้งหมด เป็นเรื่องที่เจ้าตัวต้องไปพิจารณาตัวเอง
นายชาญชัย เปิดต่อว่า ตนได้ถามไปว่าใครเป็นคนส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน ซึ่งโดยปกตินายทักษิณสั่งไม่ได้ แต่วันนี้จะมีคนที่เข้าร่วมกระบวนการนายทักษิณ คือศาลอนุมัติให้นายวิษณุ เครืองาม มาเป็นพยานให้นายทักษิณ ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ความจริงจะปรากฏอีกรูปแบบหนึ่งทั้งระบบแล้วจะปิดก๊อกและความจริงจะปิดเกมแล้ว แล้วจะปรากฏว่าเรื่องนี้จะไปจบอย่างไร
ขณะที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า หัวใจสำคัญวันนี้คือการไต่สวนแพทย์ ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่มีการส่งตัวมาโรงพยาบาลตำรวจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อนักโทษรายนี้มาโรงพยาบาลตำรวจและไปอยู่ที่ชั้น 14 มีการถามว่าใครกำหนดให้เป็นคนอยู่ที่ชั้น 14 ซึ่งไม่มีใครชี้แจงได้ว่าใครเป็นผู้กำหนด แต่ในภาพรวมพยายามโบ้ยไปให้พยาบาลหรือศูนย์ประสานงานในการรับผู้ป่วย
โดยวันนี้เป็นการยืนยันว่าการส่งนักโทษรายนี้มา ด้วยหลักการแล้วต้องผ่านห้องฉุกเฉิน เพราะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน มีอาการเจ็บหน้าอก มีปัญหาการหายใจ แต่ที่จะฟังการไต่สวนแล้วยืนยันว่าไม่มีการผ่านห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีการซักถามกันในประเด็นห้องฉุกเฉินกับชั้น 14 และ ICU ว่าศักยภาพเป็นแบบไหน อย่างน้อยก็ให้รับรู้ว่าห้องฉุกเฉินเป็นห้องรักษาเบื้องต้นผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต ส่วน ICU จะเป็นการดูแลคนไข้วิกฤตแบบระยะยาว
" มีการชี้ให้เห็นว่าชั้น 14 เป็นห้องพิเศษหรือไม่ มีพยานอย่างน้อย 2 ปากชี้ให้เห็นว่าเป็นห้องพิเศษ แต่มีอยู่ 1 ปากที่พยายามบอกว่าเป็นห้องแยก หลาย ๆ ปากให้ข้อมูลสอดคล้องกันชี้ว่าชั้น 14 ที่เอาขึ้นไปส่งนั้น ด้วยสาเหตุสำคัญ 2 กรณี คือ อ้างเรื่องโควิดและอ้างเรื่องความปลอดภัย " นายแพทย์วรงค์กล่าว
นายแพทย์วรงค์ กล่าวว่าเสริมว่า การมาถึงโรงพยาบาลตำรวจในช่วงเที่ยงคืนเศษ ๆ ภาพปกติแล้วผ่านห้องฉุกเฉินแพทย์เวรห้องฉุกเฉินจะเป็นคนดูแลและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่คืนนั้นกลายเป็นปรึกษาแพทย์เวร ที่เป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมสมอง ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่าแพทย์ที่ถูกสอบจากโรงพยาบาลตำรวจวันนี้ กลายเป็นแพทย์ที่อยู่ในทีมเดียวกันคือ ศัลยกรรมสมองทั้ง 3 คน
ซึ่งมีการส่งตัวมาเพราะอาการแน่นหน้าอกและถูกสงสัยว่าเกี่ยวกับโรคหัวใจ แต่แพทย์ที่ดูแลกลับเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสมอง ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ด้านหัวใจในคืนนั้น และจากที่ฟังแพทย์ที่ทำการรักษาด้านสมอง กลายเป็นแพทย์ผู้สั่งการรักษาในคืนนั้น ทุกคนทราบอยู่แล้วว่ามีการใช้ยา 2 ตัวคือยาพ่นกับยาลดความดัน ที่น่าแปลกใจมากสำหรับคนที่อยู่ในวงการแพทย์คือ
" มีการปรึกษาแพทย์ทางด้านโรคหัวใจจริง ๆ ซึ่งมาปรึกษาในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ในเวลาปกติ และแพทย์โรคหัวใจมาดูแลจริง ๆในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ซึ่งมีการบันทึกไว้ชัดเจนว่าอาการผู้ป่วยทุเลาลง หากเป็นคนไข้ทั่วไปสามารถกลับไปรักษาที่บ้านได้ มีปัญหาอะไรก็ให้มาตรวจต่อได้ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ " นายแพทย์วรงค์กล่าว
นายแพทย์วรงค์ ระบุว่า ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องการรักษาผ่านิ้วล็อค ผ่าตัดเอ็นไหล่ ผ่านิ้วล็อคนั้น ถ้าเป็นคนทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลถือเป็นการผ่าตัดเล็ก อีกเรื่องคือการเจาะที่ไหล่ โดยทั่วไปควรนอนโรงพยาบาลประมาณ 7 วัน แต่นายทักษิณอาจมีภาวะอื่น ๆ แฝงตัวอยู่ก็อาจจะทำให้นอนโรงพยาบาลประมาณ 3 อาทิตย์
" แต่สิ่งที่น่าสนใจหากได้ฟังคำไต่สวน ทีมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลไม่ตรงกับทีมแพทย์ ทีมราชทัณฑ์พยายามยืนยันว่านักโทษรายนี้ติดเตียงต่อเนื่อง ในเมื่อถามแพทย์แต่ละท่านเมื่อเข้าไปตรวจเยี่ยมเจอคนไข้นั่งที่โซฟาก็มี บางท่านก็บอกว่าเมื่อเข้าไปตรวจเยี่ยม เจอคนไข้เดินอยู่ข้างเตียงก็มี บทสรุปคือผมว่าน่าจะยกธงขาวได้แล้ว ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้ตัว " นายแพทย์วรงค์กล่าว
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ กล่าวถึงการไต่สวนในวันนี้ เป็นการพิจารณาจากบันทึกของแพทย์ไม่ใช่ใบคำสั่งแพทย์ บันทึกแพทย์สามารถเขียนย้อนหลังได้ แต่คำสั่งแพทย์จะเขียนทุกวันไล่ตามเวลาจริงว่าสั่งยาอะไรบ้าง ซึ่งในการพิจารณาความนำบันทึกของแพทย์และใบคำสั่งแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนมาพร้อมกัน พร้อมเรียกร้องให้นายวิษณุ เครืองาม ที่ศาลจะนัดมาไต่สวนว่า คำพูดของนายวิษณุที่ระบุว่า นายทักษิณจำคุกแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ตะเชื่อได้ 100% จึงขอให้นายวิษณุ นำหลักฐานภาพถ่ายที่มีการลงทะเบียนระบบข้อมูลผู้ต้องขัง (รท.101) ที่นายทักษิณถอดเสื้อในแดนคุมขัง ที่มีการถ่ายรูปตรงและด้านข้าง คุมขังเพื่อยืนยันว่าเข้าไปในแดนคุมขัง และมีการลงทะเบียนจริง