กรมทางหลวงชนบท เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาว อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปากพนัง เชื่อมสองตำบล ร่นระยะทาง 40 กิโลเมตร คืบหน้ากว่า 30%
กรมทางหลวงชนบท เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาว อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปากพนัง เชื่อมสองตำบล ร่นระยะทาง 40 กิโลเมตร คืบหน้ากว่า 30% คาดแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในส่วนของฐานรากสะพานและถนนต่อเชื่อมสะพาน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 ต่อไป
อธิบดีฯ ให้รายละเอียดว่า สะพานดังกล่าวเชื่อมระหว่างตำบลบางศาลา และตำบลปากแพรก โดยสร้างเป็นงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 270 เมตร ความกว้าง 9 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กต่อเชื่อมสะพานขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 6 เมตร ความยาวรวม 1,495 เมตร มีงานติดตั้งป้ายจราจรเครื่องหมายอำนวยความปลอดภัยเเละระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ให้แก่ผู้ใช้เส้นทาง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 158.060 ล้านบาท ซึ่งเดิมประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ต้องเดินทางอ้อมเป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร ทช. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทั้งสองตำบลให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งยังเป็นเส้นทางส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน (ครั้งที่ 1) และลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย (MOU) ระหว่าง ทช. ผู้รับจ้าง และผู้แทนประชาชน เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความเป็นมา ลักษณะของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน พร้อมทั้งได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะ ตอบข้อซักถาม สอบถามความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน ประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้
การดำเนินโครงการฯ สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างทำการก่อสร้างนั้น จะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน (ครั้งที่ 2) และเมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน (ครั้งที่ 3) อีกครั้งต่อไป