โรคซึมเศร้า เด็ก-ผู้ใหญ่ ป่วยพุ่ง 1.3 ล้านคนกรณี’สีกากอล์ฟ’อาจพบได้ในผู้ป่วยไบโพลาร์
"กรณีที่บุคคลหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพระภิกษุ อาจพบได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยไบโพลาร์ช่วงที่มีอาการเมเนีย ซึ่งจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน เช่น พูดเก่งขึ้น ใช้เงินมากขึ้น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยั้งคิด…."
โรคซึมเศร้า กลายเป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง บางคนป่วยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งครอบครัว ที่ทำงาน เพื่อน คนรัก สังคมโซเชียลมีเดีย และอื่นๆ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทุกๆ 40 วินาที จะมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้า และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นภาระโรคอันดับหนึ่งของโลก
ล่าสุด โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (BMHH) ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการยกระดับการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า เปิดตัว “ศูนย์รักษาโรคซึมเศร้าครบวงจร (Comprehensive Depression Center)” อย่างเป็นทางการในวันนี้ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำนวัตกรรมและแนวทางการดูแลแบบองค์รวมมาตอบโจทย์ความท้าทายด้านสุขภาพใจในปัจจุบัน
พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH กล่าวว่า โรงพยาบาล BMHH เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตที่เปิดให้บริการมาเกือบ 2 ปี และได้รับการตอบรับอย่างดี พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้มีไว้แค่สำหรับผู้ป่วย แต่เปิดรับทุกคนให้เข้ามาพักใจ พูดคุย หรือผ่อนคลายอย่างสบายใจ บรรยากาศจึงถูกออกแบบให้เป็นมิตรและอบอุ่น แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป จากสถิติผู้เข้ารับบริการ พบว่ากลุ่มโรคซึมเศร้าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ วัยรุ่น ไปจนถึงเด็ก สะท้อนถึงสถานการณ์สุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากข่าวสารหรือแรงกดดันรอบตัว
พญ.ปวีณา กล่าวต่อว่า BMHH มุ่งเป็นศูนย์รักษาโรคซึมเศร้า โดยยึดหลัก 3 ประการคือ 1.รู้เร็วหายเร็ว 2.รักษาโดยทีมสหสาขา เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก นักดนตรีบำบัด จิตกรบำบัด เป็นต้น 3.ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล เพื่อต้องการให้คนไข้หายหรือใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติในชีวิตประจำวัน หลังการรักษา เรายังติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เช่น การโทรเยี่ยม หรือประสานการดูแลต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ป่วยย้ายถิ่นฐาน
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การตรวจวัดเฉพาะทาง หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า ที่ผ่านการวิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแอ และไม่มีใครเลือกที่จะป่วย ผู้ป่วยกำลังพยายามอย่างที่สุดเพื่อกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ
นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH กล่าวว่า ในประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดจากกรมสุขภาพจิต ปี 2567/2568 ชี้ว่า มีคนไทยกว่า 1.3 ล้านคนต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรือประมาณ 2% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน และมีประมาณ 1 ใน 4 หรือ ประมาณ 20-30% เท่านั้นที่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ปัจจัยหลัก 3 อันดับแรกที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่ ความเครียดสะสมจากชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน, ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม, และปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรมหรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง
จากกรณีของสีกากอล์ฟ ที่มีความสัมพันธ์กับพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป ในมุมมองทางการแพทย์ นพ.ณชารินทร์ ได้ให้ความเห็นว่า ตามหลักวิชาชีพและจริยธรรม จิตแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยบุคคลใดได้หากไม่ได้พบหรือพูดคุยกับบุคคลนั้นโดยตรง และที่สำคัญคือต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัวก่อนด้วย การประเมินจากพฤติกรรมเพียงบางด้านจึงไม่เพียงพอ เช่น กรณีที่บุคคลหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางเพศกับพระภิกษุ อาจพบได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยไบโพลาร์ช่วงที่มีอาการเมเนีย ซึ่งจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน เช่น พูดเก่งขึ้น ใช้เงินมากขึ้น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยั้งคิด หรือขับรถเร็วผิดปกติ แต่ถึงกระนั้น พฤติกรรมลักษณะเดียวไม่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคจิตเวชได้ จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย
ส่วนในการถ่ายคลิปหรือภาพเปลือยในลักษณะโชว์เรือนร่างเผยแพร่ นพ.ณชารินทร์ กล่าวว่า ก็ต้องดูแรงจูงใจเบื้องหลัง เช่น บางคนอาจทำไปเพื่อแบล็กเมล หรือมีเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตโดยตรง แต่หากบุคคลนั้นรู้สึกเร้าอารมณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้แสดงออกลักษณะนั้น อาจเข้าข่ายความเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งสามารถจัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเวชได้เช่นกัน ส่วนพฤติกรรมที่แสดงความหลงใหลในคนแต่งเครื่องแบบ เช่น พยาบาล ตำรวจ หรือการแต่งคอสเพลย์ในบริบททางเพศ หากเกิดขึ้นภายใต้ความยินยอมร่วมกัน ก็ถือเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต แต่หากรสนิยมนั้นละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่น มีเพศสัมพันธ์กับศพ หรือกับเด็กที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ กรณีเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายและอาจเข้าข่ายความผิดปกติทางจิต
กระแสของสีกากอล์ฟยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ อาจส่งผลกระทบกับลูกของสีกากอล์ฟ นพ.ณชารินทร์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะเด็กเล็กนั้น มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก พัฒนาการของเด็กอาจบิดเบี้ยว เช่น รู้สึกว่าแม่ไม่รักครอบครัว หรือเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำ ๆ จนเกิดการเรียนรู้ที่ผิด ส่งผลต่อทั้งการเรียน สุขภาพจิต และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นสิ่งสำคัญในตอนนี้คือ คนรอบข้างต้องช่วยปกป้องเด็ก ไม่พูดซ้ำเติมหรือวิจารณ์แม่ของเด็ก และไม่ควรมีการซักถามเรื่องราวหรือความรู้สึกในเวลานี้ เพราะเด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ควรถูกตราหน้า ยิ่งในยุคที่ข้อมูลในโซเชียลอยู่ถาวรและลบไม่ได้ การแสดงให้เด็กเห็นว่าเขายังมีคนที่พร้อมอยู่ข้างเขาให้พื้นที่ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่คนรอบข้างต้องให้ความสำคัญ
“ขณะเดียวกัน ประชาชนที่รับรู้ข่าวผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ควรเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นในข่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของวงการสงฆ์ทั้งหมดได้ พระภิกษุจำนวนมากยังคงประพฤติตนอย่างเหมาะสม รักษาศีล และทำประโยชน์เพื่อสังคม ดังนั้นจึงไม่ควรเหมารวมหรือมองทั้งวงการในแง่ลบ และหากข่าวที่ได้รับมีผลกระทบต่อจิตใจของตนเอง ซึ่งแต่ละคนแสดงออกแตกต่างกันไป เช่น บางคนร้องไห้ ซึม เงียบ หรือกินเยอะผิดปกติ ควรสังเกตตัวเอง และหากเริ่มรู้สึกว่าผิดปกติ ควรพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อยู่กับคนที่เข้าใจ ทำกิจกรรมที่เคยชอบ แม้จะต้องฝืนในช่วงแรก แต่การเริ่มฟื้นตัวเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเวชในระยะยาวได้อย่างมาก” นพ.ณชารินทร์ กล่าว
พญ.ปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นคือแนวโน้มในกลุ่มวัยเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มมีอัตราโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลัง 10 ปี จนถึงปี 2565 พบว่าปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และพฤติกรรมทำร้ายตัวเองที่เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เด็กบางคนไม่ได้มีพฤติกรรมเหล่านี้เพียงเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นเพราะต้องรับมือกับความเครียดที่เกินกว่าจะรับไหว สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กในยุคนี้ต้องแบกรับความคาดหวังหลายด้าน จนรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพยายามไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่สังคมหรือครอบครัวคาดหวัง ทั้งที่บางครั้งพวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำไปเพื่ออะไร
“การเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็วทำให้เด็กได้รับข้อมูลจำนวนมากในขณะที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ตามไม่ทัน พ่อแม่บางคนไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารหรือรับมือกับลูกอย่างไร เด็กจึงหันไปพึ่งพาข้อมูลหรือแรงสนับสนุนจากคนอื่นที่อาจไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางความเข้าใจในครอบครัว สถิติด้านสุขภาพจิตจึงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนจิตแพทย์ในประเทศยังคงมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะจิตแพทย์เด็ก ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังขาดแคลนอย่างมากเมื่อเทียบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเคสการรักษาของที่โรงพยาบาลอายุน้อยสุดคือ 9 ขวบ และคาดว่าจะอายุน้อยลงไปกว่านี้อีกในอนาคต” พญ.ปัทมาพร กล่าว
สำหรับที่ ศูนย์รักษาโรคซึมเศร้าครบวงจร BMHH นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้ป่วยทั้งในแง่ของผลการรักษาและคุณภาพชีวิต ได้แก่ 1. การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดลึก (dTMS) ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมองเฉพาะจุดผ่านอุปกรณ์คล้ายหมวก เพื่อกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า การรักษาใช้เวลา 20–30 นาทีต่อครั้ง ทำสัปดาห์ละ 5 วัน ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ข้อดีของ dTMS คือสามารถกระตุ้นได้ลึก แม่นยำ ไม่ต้องใช้ยาสลบ และปลอดภัยกว่าวิธีทั่วไป
2. ยาพ่นจมูก Esketamine นวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าแบบใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ตั้งแต่ปี 2019 โดยในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือดื้อยารักษาเดิมและผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีความคิดฆ่าตัวตายร่วมด้วย Esketamine ออกฤทธิ์เร็วโดยยับยั้งตัวรับ NMDA ของกลูตาเมต ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และเพิ่มความยืดหยุ่นของเครือข่ายประสาทในสมอง ส่งผลให้อาการดีขึ้นเร็วและมีโอกาสฟื้นตัวสูงขึ้น การออกฤทธิ์รวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ต่างจากยาต้านเศร้าแบบเดิมที่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
Esketamine เป็นนวัตกรรมยารักษาโรคซึมเศร้าในรูปแบบยาพ่นจมูก ซึ่งพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ตั้งแต่ปี 2019 โดยในประเทศไทยเริ่มนำมาใช้ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และศูนย์สุขภาพจิต BMSH เป็นหนึ่งในหน่วยงานแรกที่เริ่มใช้ยานี้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ยานี้ยังอยู่ในขอบเขตการทดลองกับผู้ใหญ่เท่านั้น ยังไม่มีการใช้หรือวิจัยในเด็กหรือวัยรุ่น และในไทยยังใช้กับผู้ป่วยจำนวนน้อย โดยที่ BMSH ใช้แล้วในผู้ป่วยประมาณ 10 ราย ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ความดันโลหิตสูงชั่วคราว และอาการคล้ายหลุดจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพแปลกๆ หรือรู้สึกว่าโลกไม่เหมือนเดิม ซึ่งอาจทำให้บางคนเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลชั่วขณะ ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังการพ่นยา เพื่อเฝ้าระวังและให้ความมั่นใจจนร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ