ต้นไม้ในประวัติศาสตร์ “ชาติ-ท้องถิ่น” ที่ยังยืนต้น อยู่ที่จังหวัดไหนบ้าง
ในประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ได้มีเพียง “บุคคล” ที่บอกเล่าได้ เพราะ “ต้นไม้” จำนวนไม่น้อย ที่ยืนต้นมากว่าร้อยปี ไม่ได้ให้เพียงดอกผล หรือร่มเงาแก่ผู้คน แต่ยังยืนเรื่องราวของบ้านเมืองได้เช่นกัน ทำหน้าที่เป็น “ต้นไม้ในประวัติศาสตร์”
ขอรวบรวมต้นไม้ในประวัติศาสตร์ชาติและท้องถิ่นบางส่วนมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
ต้นโพธิ์ประวัติศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ แม้จะไม่ทราบอายุที่ชัดเจน แต่มีบันทึกว่าเป็นต้นไม้ที่ติดมากับที่ดิน และมีอายุมากกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2477 ต้นโพธิ์จึงน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี พื้นที่รอบต้นโพธิ์เรียกว่า “ลานโพธิ์” เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองเพื่อการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยหลายครั้ง
ต้นจันหลายแผ่นดิน มีอายุราว 350 ปี ลำต้นขนาด 4 คนโอบ เส้นรอบวง 7 เมตร สูง 20 เมตร ยืนต้นอยู่หน้าพระที่นั่งจันทรพิศาล พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 ส่วนต้นจันหลายแผ่นดินนั้นเดิมมีอยู่ 2 ต้น ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียว
ต้นสะตือพักทัพ ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล (เดิมชื่อ วัดลุ่ม) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ขนาดเส้นรอบวง 5 เมตร สูง 15 เมตร ประวัติวัดบันทึกว่า วัดลุ่มตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2234 และต้นสะตือก็อยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่ต้น เมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพาทหารฝ่าวงล้อมไปรวมไพร่พลที่ภาคตะวันออก และได้มาค้างแรมพักทัพที่โคนต้นสะตือใหญ่นี้ ก่อนเดินทางไปตีเมืองจันท์
จำปาดะถวาย จำปาดะเป็นไม้ผลที่นิยมในภาคใต้ จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับสาเกและขนุน จำปาดะต้นนี้อายุกว่า 150 ปี ลำต้นขนาด 5 คนโอบ สูง 30 เมตร ยืนต้นอยู่ที่บ้านทุ่งเค็จ ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เจ้าของคือ นายวาเด็ง ปูเต๊ะ-พระสหายแห่งสายบุรี ของรัชกาลที่ 9 ทุกปีนายวาเด็งจะคัดเลือกจำปาดะผลที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดจำนวน 20 ผล ส่งถวายเข้าวังเป็นประจำทุกปี
ตะเคียนทองเรือรบ เป็นต้นตะเคียนทองอายุกว่า 200 ปี เส้นรอบวงเฉลี่ย 4.50 เมตร ความสูง 20 เมตร อยู่ริมถนนเลียบริมคลองคูเมืองเดิม หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ต้นไม้ประวัติศาสตร์ต้นนี้ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อนำไปทำเรือรบสำหรับราชการสงคราม เดิมมีอยู่หลายต้นเรียงตามสองข้างถนน แต่ถูกตัดไปใช้งาน ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ต้น
ตะเคียนนางไม้ อยู่ที่วัดหงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีอายุราว 400 ปี เส้นรอบวง 11.50 เมตร สูง 50 เมตร เดิมเรียกว่า “ต้นแม่โหงแม่นาง” ด้วยเชื่อว่ามีนางไม้สถิตอยู่ ประวัติวัดหงษ์เล่าว่า ต้นตะเคียนนี้ เมื่อสมัยสงครามไทยกับพม่า บ้านเมืองวุ่นวาย มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อ “จางวางเหม็ง” อพยพครอบครัวจากบ้านเชือก อยุธยา มาตั้งรกรากที่บ้านวัดหงษ์ ใกล้ๆ กับต้นตะเคียนใหญ่ ซึ่งก็คือ “ต้นแม่โหงแม่นาง”
สวนลิ้นจี่โบราณ เป็นสวนของบังอร เงินชูกลิ่น ซึ่งมีหลักฐานว่าถือโฉนดที่ดินโบราณ สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2424 มีต้นลิ้นจี่ขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี ความสูงราว 20 เมตร สวนดังกล่าวอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่กันมานาน ทั้งเป็นการปลูกแบบดั้งเดิมด้วยเมล็ด ต้นจึงแข็งแรง และอายุยืน ที่สังฆราชปาลเลอกัวซ์เคยบันทึกไว้ว่า มีการปลูกลิ้นจี่ในกรุงเทพฯ อย่างหนาแน่น เรียกว่า “คุ้งลิ้นจี่” หากปัจจุบันเหลือเพียงเขตจอมทอง
ที่สำคัญ “ต้นไม้ในประวัติศาสตร์” ไม่โกหก และไม่หนีหน้าเหมือนมนุษย์ แต่ปัญหาคือใครจะอ่านมันออกหรือเปล่าก็เท่านั้น
คลิกอ่านเพิ่ม :
- “ต้นไม้อายุยืน” หลัก 1,000 ปี ของไทย มีต้นอะไร ต้นที่อายุยืนสุดเท่าใด
- ยาสูบ พืชพรรณพลังใบ สูบกันมานานนับ 1,000 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ผู้เขียน (ไม่ได้ระบุ). รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พ.ศ. 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ต้นไม้ในประวัติศาสตร์ “ชาติ-ท้องถิ่น” ที่ยังยืนต้น อยู่ที่จังหวัดไหนบ้าง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com