จอมพล ป. คิดดึงปรีดีกลับไทย หวังช่วยต้านกลุ่มอนุรักษนิยม ช่วงทศวรรษ 2500
จอมพล ป. คิดดึงปรีดีกลับไทย หวังช่วยต้านกลุ่มอนุรักษนิยม ช่วงทศวรรษ 2500
ทศวรรษ 2490-2500 การเมืองไทยช่วงนั้นแบ่งออกเป็น “สามเส้า” ระหว่างกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และกลุ่มตำรวจของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่มทหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่เพียงเท่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองยังทวีความซับซ้อนขึ้นอีกกับกลุ่มอนุรักษนิยม
กลุ่มของจอมพล ป. เป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานะลำบากมากที่สุด เพราะไม่มีฐานกำลังเป็นของตัวเอง แม้จอมพล ป. จะมีความสนิทสนมกับพลตำรวจเอก เผ่า แต่ก็ไม่สนับสนุนให้พลตำรวจเอก เผ่า มีอำนาจเหนือจอมพล สฤษดิ์
จอมพล ป. เสมือนเหยียบเรือสองแคมด้วยการให้อีกสองกลุ่มคานอำนาจกันเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง จอมพล ป. ก็พยายามแสวงหาแนวร่วมจากประชาชน ด้วยการเปิดให้สังคมมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เช่น การไฮปาร์ค การเลือกตั้ง และการพยายามดึงปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทย หลังจากต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน (ซึ่งขณะนั้นเป็นคอมมิวนิสต์)
เรื่องที่จอมพล ป. คิดดึงปรีดีกลับไทย น่าจะมาจากเหตุที่ว่า รัฐบาลของจอมพล ป. อาจจะไปไม่รอด เพราะจอมพล ป. คงเห็นแล้วว่า จอมพล สฤษดิ์ มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษนิยม
จอมพล ป. เคยกล่าวกับปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของปรีดี หลังจากปาลได้รับนิรโทษกรรม และมาขอลาบวชในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2500 ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ โดยจอมพล ป. ฝากข้อความผ่านไปว่า
“บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว”
ขณะนั้นมีกระแสข่าวว่า จอมพล ป. แอบติดต่อกับปรีดีที่อยู่ในประเทศจีนเพื่อขอคืนดี และเพื่อหาทางร่วมมือกันในการต่อสู้กับอิทธิพลของกลุ่มอนุรักษนิยมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนจอมพล สฤษดิ์ โดยจอมพล ป. สัญญากับปรีดีว่าจะใช้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้ปรีดีใหม่
จอมพล ป. จึงฝากข้อความให้สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของท่าน ส่งถึงทนายความ 2 คน คือ ลิ่วละล่อง บุนนาค และชิต เวชประสิทธิ์ ต่อมา ทนายทั้งสองเดินทางไปประเทศจีนเพื่อพบปรีดีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 เพื่อ “ทราบข้อเท็จจริงบางประการ ในฐานะทนายความของจำเลย”
แต่หลังจากทนายความเดินทางกลับประเทศไทยได้เพียงสองสัปดาห์ก็เกิดการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
จอมพล ป. ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ นับเป็นการปิดประตูพาปรีดีกลับบ้านเกิดไปตลอดกาล ทั้งจอมพล ป. และปรีดี ก็ไม่มีใครได้หวนคืนกลับประเทศไทยอีกเลย
จอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ที่ประเทศญี่ปุ่น
ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ที่ประเทศฝรั่งเศส
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” บรรดาศักดิ์ที่ครั้งหนึ่งใช้เรียกแทนชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” มาจากอะไร?
- ฉากสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่าง “พระยาพหลพลพยุหเสนา” กับจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ณัฐพล ใจจริง. “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” (一箭双雕) : “การทูตใต้ดิน” เชื่อมไมตรีไทย-จีนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2498-2500) ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 49 ฉบับที่ 9, กรกฎาคม 2568.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : จอมพล ป. คิดดึงปรีดีกลับไทย หวังช่วยต้านกลุ่มอนุรักษนิยม ช่วงทศวรรษ 2500
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com