ทรัมป์ บรรลุข้อตกลงภาษี เวียดนาม 20% กดดัน ไทย เจรจา สหรัฐฯ
ข้อตกลงภาษีการค้าสหรัฐฯ - เวียดนาม จบที่ 20% ดร.กอบศักดิ์ ชี้เป็นจุดเปรียบเทียบที่ไทยต้องทำให้ดี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
3 ก.ค. 2568 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เผยผ่าน มุมมองดรกอบ ว่า นัยยะจากผลการเจรจาของสหรัฐกับเวียดนาม !!!
ข้อสรุปล่าสุดสำหรับเวียดนามที่ President Trump ประกาศออกมาเมื่อคืน จะเป็น
- จุดเปรียบเทียบที่ไทย ต้องพยายามให้ได้ ไม่น้อยหน้า
- ต้นแบบและบรรทัดฐานให้กับทุกประเทศที่เหลือ
โดยข้อตกลงดังกล่าวมีตัวเลขสำคัญ 3 ตัวเลข
0% 20% และ 40%
0% สำหรับสินค้าสหรัฐที่จะส่งมาที่เวียดนาม ที่ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไหนก็ตามที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา จะสามารถส่งมาที่เวียดนามโดยไม่โดนภาษีศุลกากร
เรื่องนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการพูดถึงชัดๆ แต่คำว่า Total Access คงหมายรวมไปถึงว่า จะต้องไม่มี Non-tariff Barriers ต่างๆ ที่เวียดนามจะแอบทำด้วย
ซึ่งสหรัฐคงจะแจ้งไทย (และคู่เจรจาคนอื่นๆ) เช่นกันว่า เขาต้องการ 0% และ Total Access ที่ไม่มีการกีดกันอื่นๆ สำหรับสินค้าสหรัฐ
“20% สำหรับสินค้าเวียดนามทุกอย่างที่ส่งออกมาที่สหรัฐ ตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะต่อไปจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐขาดดุลด้วย
และเป็นจุดเปรียบเทียบสำคัญที่ไทย (และประเทศอื่นในเอเชีย) ต้องทำให้ได้ ให้ดีกว่าเวียดนาม หรืออย่างน้อย ไม่น้อยหน้าเวียดนาม“
โดยหากจะจบสูงกว่าตัวเลขนี้ ก็ต้องให้ได้ไม่เกิน 25% ไม่เช่นนั้น บริษัทส่งออกในไทยก็จะเสียเปรียบคู่แข่งคนสำคัญของเรา บริษัทที่กำลังคิดว่าจะย้ายฐานมาที่ไทย ก็จะคิดหนักขึ้น ว่าไปเวียดนามดีกว่าไหม
40% สำหรับสินค้าจีน (หรือประเทศอื่นๆ) ที่จะแอบส่งมาให้เวียดนาม แล้วส่งต่อไปที่สหรัฐ โดยอัตรานี้จะเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐทำกับทุกประเทศที่เจรจาด้วย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่เป็นจุดส่งผ่านสำคัญ รวมถึงกับไทยด้วย
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักไก่ ไม่ให้มีช่องที่จะเอาสินค้าจีนเข้ามา แล้วส่งต่อไปสหรัฐแบบ Transshipment เพื่อรับสิทธิภาษี 20% ของเวียดนาม
ซึ่งการเตรียมการลักษณะนี้ มีนัยยะต่อไปว่า ภาษีกับจีน ที่สหรัฐมีอยู่ในใจ และจะคิดในท้ายที่สุด คงใกล้ๆ กับตัวเลขนี้
ทั้งนี้ หากเราลองกลับไปเปรียบเทียบกับกรณีอังกฤษ ที่ได้เจรจาเบื้องต้นไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ก็จะทำให้เห็นภาพชัดเจน
อังกฤษยอมให้สหรัฐ 0% สำหรับสินค้าต่างๆ ที่สหรัฐส่งมา หมายความว่า สหรัฐคงมีอยู่ในใจที่จะใช้อำนาจต่อรองจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ของตนเอง ในการเปิดประตูการค้าให้กับสหรัฐเอง เพื่อนำไปสู่ Free Trade / Free Access สำหรับสินค้าสหรัฐในทุกประเทศทั่วโลก จะได้บอกบริษัทที่มาลงทุนที่สหรัฐว่า สินค้าที่ผลิตในสหรัฐ (อย่างน้อยเมื่อเทียบกับยุโรป หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ) จะสามารถส่งไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด
ขณะเดียวกัน อังกฤษยอมให้สหรัฐคิดภาษีนำเข้า 10% ตัวเลข 10% นี้ คงเป็นตัวเลขที่สหรัฐมีในใจ สำหรับประเทศที่สหรัฐเกินดุลด้วย
10% สำหรับประเทศเกินดุล และประมาณ 20% สำหรับประเทศที่สหรัฐขาดดุลด้วย คงจะกลายเป็น Benchmark ที่เป็นกรอบในการเจรจาของทีมสหรัฐ
เพราะตัวเลขนี้ จะช่วยสร้างรายได้ให้สหรัฐจากภาษีศุลกากรไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ในเดือนพฤษภาคม เก็บได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์)
ช่วยลดการขาดดุลการคลัง ช่วยในการลดภาษีของ One Big Beautiful Bill ที่กำลังจะออกมา ช่วยปรับสมดุลทางการค้าของสหรัฐ
นอกจากนี้ ช่วยสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับบริษัทขยายการลงทุนในสหรัฐ เพื่อช่วยสร้างงานในประเทศ
ส่วนจีน (คู่ต่อสู้สำคัญของสหรัฐ ที่กำลังทาบรัศมี) ก็คงจะต้องจ่ายมากกว่าคนอื่นๆ 10% จาก Reciprocal Tariffs 20% จากกรณีของ Fentanyl และ 25% เดิม รวมแล้วอย่างน้อย 55%
ทั้งนี้ สินค้าจีนที่แอบส่งมาผ่านประเทศที่ 3 ก็จะโดนตรวจเข้มและโดนภาษีอย่างน้อย 40%
ซึ่งในจุดนี้ คงต้องปรับต่อไป เพราะว่าสินค้าขนาดเล็กของจีน (ราคาต่ำกว่า 800$) ที่ส่งไปสหรัฐ ขณะนี้โดนภาษี 54% ยังสูงกว่าการหลีกเลี่ยงผ่านประเทศที่ 3 ที่ตกลงกับเวียดนามล่าสุด
ทั้งหมด จะเป็นข้อสรุปในรอบแรกของสงครามการค้าโลก ที่จะนำไปสู่กรอบใหม่และสมดุลใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ
"ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ สามารถเจรจาให้ได้ผลที่ดีครับ"