เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงนำผ้าไทยสู่เวทีโลกผ่าน UNESCO x SACIT
ด้วยพระปณิธานในการธำรงรักษาและยกระดับมรดกภูมิปัญญาไทยสู่เวทีโลก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพลังสำคัญในการเผยแพร่คุณค่าของ ผ้าไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ ‘ผ้าไทย’ ดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างสง่างาม จึงทรงริเริ่มโครงการต่างๆ อาทิ ‘โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก’ โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของผ้าไทยในฐานะแฟชั่นที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
ทรงพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถศิลป์ และชุมชน และสร้างแรงบันดาลใจในการนำผ้าไทยมาต่อยอดเชิงสร้างสรรค์
เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน
นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจในการพัฒนาลวดลายผ้าไทย ภายใต้แนวพระดำริ “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ยังได้ขยายผลไปสู่ระดับนานาชาติ
‘องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย’ ได้ยกย่องให้พระองค์เป็นเจ้าหญิงผู้พระราชทานความตระหนักรู้ถึงแนวทางแห่ง ความยั่งยืน ให้แก่ประชาชนคนไทย
ในโอกาสสำคัญล่าสุด เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงร่วมขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับ องค์การยูเนสโก (UNESCO) และ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT และ สยามพิวรรธน์ ผู้ก่อตั้ง ICONCRAFT เพื่อสืบสานงานหัตถศิลป์ไทย ร่วมกันส่งเสริมช่างฝีมือจาก 7 จังหวัดในโครงการ "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก" (UNESCO Creative Cities Network: UCCN)
ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แคมเปญพิเศษชื่อ UNESCO x SACIT x ICONCRAFT: A Celebration of Thai Artisans and Creative Cities เพื่อเชิดชูช่างฝีมือไทย ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นจาก 7 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities) ต้นแบบมรดกแห่งวัฒนธรรมและช่างฝีมือไทย สู่ผลงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยจากการสร้างสรรค์โดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI และ 14 สุดยอดดีไซเนอร์ไทย เพื่อต่อยอดเป็นงานดีไซน์ใหม่ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่
จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญพิเศษดังกล่าวที่บริเวณ ICONLUXE Avenue ไอคอนสยาม เมื่อวันพุธที่ 25 มิถุนายน 2568
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ คลัตช์ผ้าไทยทรงออกแบบเพื่อ UNESCO Youth Program
กิจกรรมสำคัญในแคมเปญพิเศษนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ของแบรนด์ “SIRIVANNAVARI” ทรงออกแบบ กระเป๋าคลัตช์ จำนวน 2 ใบ สำหรับการประมูล เพื่อนำรายได้สมทบทุน โครงการ UNESCO Youth Program
ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนใน 7 จังหวัดของไทยที่ยูเนสโกประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สุโขทัย เพชรบุรี เชียงราย และ สุพรรณบุรี
กระเป๋าคลัตช์ทรงออกแบบทั้ง 2 ใบ ต่างมีคุณค่าทั้งในด้านการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าทอไทยโบราณ และวิจิตรงดงามด้วยงานปักอันประณีตโดยทีมช่างผู้ชำนาญแห่ง SIRIVANNAVARI Atelier & Academy ดุจงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
Siri Lumière (สิริ ลูมิแยร์)
กระเป๋าคลัตช์ใบแรกมีชื่อว่า Siri Lumière เนรมิตจาก ผ้ายกทอง “จันทร์โสมา” โดยกลุ่มทอผ้ายกทองของหมู่บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งก่อตั้งโดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะบรมครูผ้าไหม
ผ้าไหมยกทอง “จันทร์โสมา” ผืนนี้ เป็นผืนผ้าโทนสีฟ้าสลับสีทองอันงดงาม ทอด้วยไหมแท้ เส้นทอง และเทคนิคจกชั้นสูงเป็น ลายแก้วชิงดวง สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ความสามัคคี และความกลมเกลียวที่ยั่งยืน
อ.วีรธรรม ยังได้เพิ่มเสน่ห์ของงานออกแบบร่วมสมัยให้กับผ้าผืนนี้ ด้วยเส้นสายอันคมชัดพันพาดระหว่างกัน จนมีลักษณะคล้าย เลข 8 อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลและความเป็นนิรันดร์
ส่วนงานปักประดับ ประกอบด้วยนกยูงโลหะโทนสีทองเปล่งประกาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ใต้ฐานตัวนกยูงสลักอักษร SIRIVANNAVARI
ในส่วนหางนกยูงที่รำแพน ทรงออกแบบเป็น สัญลักษณ์รวงข้าว สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง ปักประดับด้วยปล้องแก้วและคริสตัลอันประณีตโดยทีมช่างผู้มีความชำนาญแห่ง SIRIVANNAVARI Atelier & Academy ซึ่งก่อตั้งโดยองค์ดีไซเนอร์ในปี 2016
นางแบบผู้เชิญคลัตช์ สิริ ลูมิแยร์ สวมชุดตัดเย็บด้วยผ้าไหมมัดหมี่จาก 'มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ' ประกอบด้วย เบลเซอร์ไหล่ตั้ง หรือ ไอริส แจ็คเก็ต (IRIS Jacket) ซิกเนเจอร์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI บ่งบอกถึงปรัชญาในงานออกแบบของแบรนด์ที่ปรารถนาในการเสริมความมาดมั่นให้กับสุภาพสตรียุคใหม่ (Empowering Woman)
เพิ่มความพิเศษด้วยการจับเดรปบริเวณหน้าอก แฝงกลิ่นไองานกูตูร์ที่มีความพิถีพิถันในแบบฉบับของแบรนด์ จับคู่กับกางเกงขาสั้น ทำให้ดูมีความทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม็ตช์กับรองเท้าบู๊ทยาว
Siri Royale (สิริ รอยาล)
สำหรับกระเป๋าคลัตช์ใบที่สองมีชื่อว่า Siri Royale งดงามด้วยผ้าไหมทอลายแก้วชิงดวง รังสรรค์ขึ้นมาเฉพาะสำหรับงานนี้และถือว่ามีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง เพื่อร่วมเชิดชูจิตวิญญาณแห่งช่างฝีมือไทย และสะท้อนความงามของงานหัตถศิลป์ไทยผ่านมุมมองร่วมสมัย ผลงานของ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย อีกเช่นกัน
แบรนด์ SIRIVANNAVARI ได้นำผ้าไหมทอลายแก้วชิงดวงผืนนี้มาต่อยอดด้วยงานปักอันพิถีพิถันโดยทีมช่างฝีมือแห่งอเตอลิเยร์ เนรมิตลวดลายที่งดงามกลมกลืนไปกับลายผ้าทอ เสริมให้ ‘ลายแก้วชิงดวง’ มีความโดดเด่นและมีมิติมากยิ่งขึ้น อันถือเป็นไฮไลท์สำหรับผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้
นางแบบผู้เชิญคลัตช์ สิริ รอยาล สวมชุดสร้างสรรค์จากผ้าไหมมัดหมี่จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตัวเสื้อด้านในมีดีไซน์ร่วมสมัยด้วยคัตติ้งแบบอสมมาตร (asymmetrical cut) ซึ่งบริเวณชายเสื้อยาวไม่เท่ากัน และสวมทับด้วยเบลเซอร์ จับคู่กับกางเกงขายาว
นิทรรศการฉลองพระองค์เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
อีกหนึ่งความพิเศษภายในงาน คือ นิทรรศการฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จากพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 8 ชุด ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย
ฉลองพระองค์ทุกชุดในนิทรรศการฯ เป็นผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดย ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ดีไซเนอร์เจ้าของห้องเสื้อธีระพันธ์ (TIRAPAN) ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) ประจำปี 2562
ประกอบด้วยฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจิตรลดา และ ชุดไทยเรือนต้น ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ในพระราชพิธีหรือโอกาสอันเป็นทางการ และแฝงไปด้วยความหมายทางประวัติศาสตร์
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการ SACIT นำ ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ประธานแถลงข่าวการจัดงาน UNESCO x SACIT x ICONCRAFT ชมนิทรรศการฉลองพระองค์ฯ
อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย และ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์
รติรส จุลชาต กับดีไซเนอร์ในแคมเปญ UNESCO x SACIT x ICONCRAFT
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ นำ ออเดรย์ อาซูเลย์ ชมนิทรรศการในแคมเปญ UNESCO x SACIT x ICONCRAFT
แคมเปญ “UNESCO x SACIT x ICONCRAFT
ในแคมเปญ UNESCO x SACIT x ICONCRAFT: A Celebration of Thai Artisans and Creative Cities ยังมี การลงนามแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ระหว่าง องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT และ สยามพิวรรธน์
เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ของไทยเป็นผู้นำและบุคลากรด้านวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งต่อยอดโครงการ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” โดยมุ่งสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างยั่งยืนให้กับเยาวชนในพื้นที่
กลุ่มผ้าทอไตลื้อ ครูดอกแก้ว x ATELIER PICHITA
ผลงานล่าสุดใน 'กลุ่มแฟชั่น' คือการเชื่อมโยง ภูมิปัญญาหัตถศิลป์ไทยท้องถิ่นจาก 7 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของ 14 ดีไซเนอร์ชั้นนำ โดยแบ่งเป็น 7 ดีไซเนอร์ที่เป็นผู้สืบสานภูมิปัญญาไทยภายใต้การสนับสนุนของ SACIT และอีก 7 ดีไซเนอร์แถวหน้าของประเทศที่ ICONCRAFT ได้เชิญมาร่วมออกแบบคอลเลคชั่นพิเศษ ได้แก่
- แบรนด์ ATELIER PICHITA ออกแบบชุดจากผ้าทอไทลื้อของ “กลุ่มผ้าทอไตลื้อ ครูดอกแก้ว” จังหวัดเชียงราย
- แบรนด์ THEATRE ออกแบบชุดจากผ้าทรงดำของ “กลุ่มทอผ้าไทยทรงดำบ้านดอนมะนาว” จังหวัดสุพรรณบุรี
- แบรนด์ CHAI GOLD LABEL ออกแบบชุดจากผ้าบาติกกลิ่นอายล้านนาของ “รักษ์บาติก” จังหวัดเชียงใหม่
- แบรนด์ HOOK'S BY PRAPAKAS ออกแบบชุดจากผ้าบาติกวาดมือของ “กลุ่มยิ่งบาติกเพ้นท์” จังหวัดภูเก็ต
- แบรนด์ WISHARAWISH ออกแบบชุดจากผ้าลายอย่างของ “ภูษาผ้าลายอย่าง” จังหวัดเพชรบุรี
- แบรนด์ PYVET ออกแบบชุดจากผ้าจกขนเม่นของ “สุนทรีผ้าไทย” จังหวัดสุโขทัย
- แบรนด์ JANESUDA ออกแบบชุดจากผ้าบาติกสีสันสดใสของ Marionsiam (มารียองสยาม) กรุงเทพมหานคร