“สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” วีรบุรุษของ 3 กษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรบุรุษของ 3 พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่สามารถกอบกู้เอกราชให้กลับมาเป็นปึกแผ่น ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการรบและทำสงครามอย่างแข็งแกร่ง ทำให้คนไทยยกย่องให้พระองค์เป็น“วีรบุรุษ”
ไม่เพียงแค่บุคคลธรรมดาทั่วไปเท่านั้นที่เคารพพระองค์ แม้แต่พระมหากษัตริย์ 3 พระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงนับถือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็น “วีรบุรุษ” ของชาติเช่นกัน
ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ‘วีรบุรุษของวีรบุรุษ’ ในทัศนะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ของศุภกาณฑ์ นานรัมย์
ส่วนหนึ่งของเล่มเล่าว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีวีรบุรุษมากมาย (วีรบุรุษในความหมายของสมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ คือ โดดเด่นในฐานะผู้ปกป้อง รักษาเอกราชของชาติ ยอมสละความสุขส่วนพระองค์ให้ราษฎร) เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และที่สำคัญคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ขณะเดียวกัน วีรบุรุษ 3 พระองค์แรกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ก็ทรงมี “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นวีรบุรุษเช่นกัน
ดังข้อความที่ปรากฏว่า “วีรบุรุษของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้มีเพียงสมเด็จพระนเรศวร ยังรวมถึง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบิดา และพระเชษฐา หากสังเกตจะพบว่า สมเด็จพระนเรศวรคือวีรบุรุษของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยกย่อง และยังเป็นวีรบุรุษของพระองค์อีกด้วย”
การยกย่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในแต่ละรัชกาลนั้นแตกต่างกันออกไป ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 4 จะเห็นว่าพระราชนิพนธ์ของพระองค์ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่ในแง่ของนิพนธ์ประวัติศาสตร์ พระองค์กลับทรงยกเอาเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาทรงพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องครั้งสมเด็จพระนเรศวรเป็นตัวประกันเมืองหงสา หรือเรื่องช้าง ในชุมนุมพระบรมราชาธิบาย และประชุมพระราชนิพนธ์ ภาคปกิณกะ ที่มีข้อความเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ เป็นต้น
ขณะที่รัชกาลที่ 5 ปรากฏความประทับพระราชหฤทัยของพระองค์ต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผ่านพระราชนิพนธ์ประวัติศาสตร์ เช่น พระราชนิพนธ์ วิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร อธิบายเรื่องรูปทองสำริด, พระราชนิพนธ์ วิจารณ์เรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราชและพระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช
ทั้งหมดมีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอยุธยาพระองค์นี้ทั้งสิ้น
ในหนังสือยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ยุคพระนเรศวร ไว้ว่า อาจเพราะทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและรัชกาลที่ 5 ทรงพบแรงกดดันทางการเมืองทั้งนอกและในคล้าย ๆ กัน
พระราชกรณียกิจและพระราชวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงอยู่ในพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และอยู่ในใจของคนไทยสืบมาถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- มุมน่าสะพรึงกลัวของ “พระนเรศวร” จากบันทึกวัน วลิต กับงานเขียนโต้ของคึกฤทธิ์
- พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม”…นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?
- “สมเด็จพระนเรศวร” พระนามแปลกปลอมของ “สมเด็จพระนเรศ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศุภกาณฑ์ นานรัมย์. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช “วีรบุรุษของวีรบุรุษ” ในทัศนะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. [ม.ป.ท.]:มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2555. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:185957.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” วีรบุรุษของ 3 กษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com