อัปเดตศึก "ภาษีทรัมป์" ใครปิดดีลได้เท่าไหร่ แลกอะไรบ้าง ไทยถึงจุดไหน
ในยุคที่การค้าโลกกลายเป็นอาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์ การเก็บภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ต่างต้องเร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าที่พุ่งสูงลิ่ว
ล่าสุด ทรัมป์ได้เปิดเผยดีลภาษีที่ได้ข้อตกลงแล้วเพียง 5 ประเทศจากทั่วโลก ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหราชอาณาจักร และล่าสุดคือญี่ปุ่น พร้อมให้เส้นตายประเทศอื่น ๆ ต้องเจรจาให้จบภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ไม่เช่นนั้นภาษีใหม่จะมีผลทันที
เวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศที่ปิดดีลกับสหรัฐฯ ได้เร็วที่สุด โดยยอมให้สินค้านำเข้าจากอเมริกาไม่ต้องเสียภาษี แลกกับการลดภาษีสินค้านำเข้าจากเวียดนามเหลือ 20% จากเดิมที่ตั้งไว้สูงถึง 46% อย่างไรก็ตาม หากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ พิจารณาว่ามีการ "ทรานชิป" หรือส่งผ่านมาจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จะถูกเก็บเพิ่มเป็น 40% ทันที
อินโดนีเซีย ก็เป็นอีกประเทศที่ลงนามข้อตกลงสำคัญกับสหรัฐฯ ได้ โดยสินค้าจากอินโดนีเซียจะเสียภาษี 19% ขณะที่สินค้าอเมริกันนำเข้าจะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด ข้อตกลงนี้ยังมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม อินโดนีเซียตกลงซื้อสินค้าอเมริกันวงเงินกว่า 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นพลังงาน 15 พันล้านดอลลาร์ เกษตร 4.5 พันล้านดอลลาร์ และเครื่องบิน Boeing จำนวน 50 ลำ ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการเปิดตลาดอินโดนีเซียครั้งใหญ่ที่สุดให้กับสินค้าอเมริกัน
ฟิลิปปินส์ ก็ได้รับอัตราภาษีที่เท่ากับอินโดนีเซีย คือ 19% แลกกับการเปิดตลาดให้สินค้าอเมริกันโดยไม่เก็บภาษีเช่นกัน โดยการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการพบหารือระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่ทำเนียบขาว
เมื่อหันมามองประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการเจรจาโดยยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สินค้าส่งออกของไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 36% ซึ่งเท่ากับอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตราดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร เปิดเผยว่า ไทยได้ส่งข้อเสนอเกือบครบถ้วนตามที่ฝ่ายสหรัฐฯ ร้องขอ เหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อยที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและคาดว่าจะสรุปดีลได้ภายในไม่กี่วันข้างหน้า เป้าหมายของไทยคือการได้รับอัตราภาษีในระดับที่ใกล้เคียงกับเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ที่ 20% และ 19% ตามลำดับ
โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การขยายสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 90% ของรายการทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ราว 60% พร้อมทั้งเสนอซื้อสินค้าอเมริกันที่มีความต้องการในประเทศอย่างก๊าซธรรมชาติเหลว ผลิตภัณฑ์การเกษตร และเครื่องบิน Boeing เพื่อช่วยลดดุลการค้าที่เคยมียอดเกินดุลกับสหรัฐฯ ถึง 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา
ข้อเสนอชุดใหม่นี้อาจช่วยลดดุลการค้าลงได้ถึง 70% ภายใน 3 ปี และบรรลุสมดุลทางการค้าภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ไทยยังให้คำมั่นว่าจะลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ รวมถึงในโครงการก๊าซของรัฐอลาสกาที่ได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีทรัมป์อีกด้วย ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในภูมิภาคและความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการพักงานของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร การบรรลุข้อตกลงทางการค้าฉบับนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาอีกครั้ง
สำหรับประเทศอาเซียนอื่น ๆ นอกจากไทย ที่ยังไม่มีดีลอย่างเป็นทางการ ได้แก่ บรูไน จะถูกเก็บภาษี 25% กัมพูชา 36% มาเลเซีย 25% ลาว 40% และเมียนมา 40% ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีจากอัตราที่ประกาศไว้ในเดือนเมษายน ขณะที่ท่าทีของทรัมป์ยังเปิดช่องให้เจรจาต่อรอง โดยระบุในจดหมายว่า “หากประเทศของท่านพร้อมเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ และยกเลิกกำแพงภาษีที่ไม่เป็นธรรม เราอาจพิจารณาปรับอัตราภาษีนี้ขึ้นหรือลง”