บิ๊กบอส "แสนสิริ" เชื่อมือผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ปลุกอสังหาฟื้น! เปิด 3 มาตรการเร่งเครื่องเศรษฐกิจ
ท่ามกลางความมืดมนที่สะสมมายาวนานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้ง กำลังซื้อหดตัว หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง และกำแพงภาษีจากต่างประเทศที่ถาโถมความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้ดิ่งลง
ความหวังครั้งใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง"วิทัย รัตนากร" เป็น "ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่" เริ่มปฏิบัติหน้าที่ 1 ตุลาคม 2568
การมาของ "วิทัย" ไม่เพียงแค่เปลี่ยนผู้ควบคุมเกมการเงินของประเทศ แต่ยังจุดประกายความหวังของธุรกิจอสังหาฯที่กำลังรอ "มืออาชีพตัวจริง" เข้ามาพลิกฟื้นวงจรเศรษฐกิจครั้งใหญ่
คำถามคือ ภายใต้การคุมเกมของผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ "อสังหาไทย" จะรอด หรือ ร่วง ?
อีกทั้ง มาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ที่รัฐควรเร่งออกแบบเพื่อปลุกอสังหาฯอีกครั้ง ต้องเป็นเช่นไร ?
เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ไทย"อุทัย อุทัยแสงสุข" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์" ยอมรับว่า การเข้ามาของคุณวิทัย รัตนากร ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ด้วยประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และธนาคาร ตลอดจนความสามารถและความเชี่ยวชาญของท่าน จะประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และรัฐบาลได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะมีนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
"ภาพรวมผมมั่นใจว่าคุณวิทัยจะนำเสนอมุมมองที่รอบด้านและนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ เราจะได้เห็นนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่น ทันต่อสถานการณ์ และพร้อมปรับตัวเพื่อลดภาระประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน"
ทั้งนี้การผลักดันมาตรการที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพคือสิ่งสำคัญสูงสุด โดยมาตรการกระตุ้นอสังหาฯและเศรษฐกิจประเทศที่อยากเห็นแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้คือ
มาตรการระยะสั้น "ลดภาระ-เร่งฟื้นกำลังซื้อ"
นี่คือมาตรการเร่งด่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนแอและภาระหนี้สินของประชาชน
• ผลักดันการลดดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน ช่วยลดภาระการผ่อนชำระของผู้กู้ และกระตุ้นกำลังซื้อ
• แก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าผิดปกติ การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากภาคการส่งออกอ่อนแอ กำลังซื้อโดยรวมของประเทศก็จะลดลง
มาตรการระยะกลาง "ปลดล็อกสินเชื่อ-เสริมแกร่งผู้ประกอบการ"
• สร้างความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อ แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีความแข็งแกร่งและมีผลกำไรที่ดี แต่การเข้าถึงสินเชื่อยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ ในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อจริง และผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินงานและขยายการลงทุนได้
• แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ปัญหาหนี้ครัวเรือนฉุดรั้งกำลังซื้อของประเทศ การแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มต้นจากการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างรายได้ให้กับประชาชน การสร้างงาน การเพิ่มรายได้ และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องและกลับมามีกำลังซื้ออีกครั้ง
มาตรการระยะยาว "ฟื้นฟูระบบ-สร้างภูมิคุ้มกัน"
• แก้ไขปัญหาหนี้เสียรายย่อยในระบบ การจัดการกับหนี้เสียรายย่อยในระบบอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาระให้กับสถาบันการเงินและทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น
• พัฒนากฎระเบียบที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ การทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะช่วยลดอุปสรรคและส่งเสริมการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ อาทิ การทบทวนหลักเกณฑ์ให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ยาวนานขึ้น จากเดิมอายุสัญญาเช่าเพียง 30 ปี
"สิ่งที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการเห็นมากที่สุดคือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระหนี้สินของผู้กู้และหนี้ครัวเรือน สิ่งสำคัญคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อที่แท้จริง การผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคการเงิน และภาคธุรกิจ จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจไทยเราให้พลิกฟื้นขึ้นท่ามกลางภาวะกดดันในปัจจุบัน"