GDP สิงคโปร์ Q2/25 โตเกินคาด แตะ 4.3% YoY เตือนภาษีสหรัฐฯ เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
GDP สิงคโปร์ Q2/25 โตเกินคาด แตะ 4.3% YoY เตือนภาษีสหรัฐฯ เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -14 ก.ค. 68 12:02 น.
เศรษฐกิจสิงคโปร์ ขยายตัวที่ 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังเติบโตในอัตรา 4.1% ในไตรมาสแรก และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส พบว่า GDP ของสิงคโปร์ เติบโต 1.4% ซึ่งเป็นการกลับมาพลิกบวก หลังจากหดตัว 0.5% ในไตรมาสแรก
การเติบโตของ GDP ของสิงคโปร์ ได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิต ซึ่งขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้นจาก 4.4% ในไตรมาสแรกของปี 2025 โดยภาคส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% ของเศรษฐกิจประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP ไตรมาส 2 จะสูงกว่าคาดการณ์ แต่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ของสิงคโปร์กล่าวว่า “ยังคงมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 เนื่องจากขาดความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ” โดยย้อนกลับไปในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา MTI ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศลงมาอยู่ที่ 0-2% จากการคาดการณ์เดิมที่ 1-3% ซึ่งในปี 2024 ที่ผ่านมา ตัวเลข GDP ตลอดทั้งปีของสิงคโปร์เติบโตที่ 4.4%
สิงคโปร์ยังไม่ได้รับจดหมายภาษีจากสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างจากชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงเผชิญกับภาษีพื้นฐาน 10% จากสหรัฐฯ แม้จะขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมีข้อตกลงการค้าเสรีมาตั้งแต่ปี 2004 ก็ตาม โดยคณะทำงานเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภาษีของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะออกมาตรการช่วยเหลือทางธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าโลก
การประกาศตัวเลข GDP ครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ Monetary Authority of Singapore: MAS) ซึ่งมีกำหนดประชุมในช่วงปลายเดือนก.ค. ซึ่งในการประชุมเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายนโยบายเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน และกล่าวว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านลบ ที่เกิดจากความผันผวนของตลาดการเงิน และอุปสงค์ขั้นสุดท้ายในต่างประเทศที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กล่าวเตือนว่า การค้าโลกที่อ่อนแอลงอย่างกะทันหันหรือต่อเนื่องมากขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าของสิงคโปร์ และในทางกลับกันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศยังคงสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสิงคโปร์ลดลงมาอยู่ที่ 0.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2021 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมค่าที่พักและการเดินทางขนส่งโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัว อยู่ที่ 0.6% ชะลอตัวลงจากระดับ 0.7% ในเดือนเม.ย.
ที่มา CNBC
รายงาน โดย สิริพงศ์ สิริชุมศรี เรียบเรียง โดย สิริพงศ์ สิริชุมศรี
อีเมล์. siripong@efinancethai.comอนุมัติ โดย Supak Hopuengju
ดูข่าวต้นฉบับ