‘ซีอีโอแบงก์‘ เตือนศก.ครึ่งหลังผันผวน เตรียมรับ ’ภาษีทรัมป์-ท่องเที่ยวชะลอ‘
ท่ามกลางสัญญาณ “เศรษฐกิจไทย” ครึ่งหลังปี 2568 เปราะบางมากขึ้น จากแรงกดดันรอบด้าน ทั้งการชะลอตัวส่งออก ผลกระทบภาษีทรัมป์ การท่องเที่ยวหดตัว ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากนี้ “น่าห่วง” มากขึ้น ส่งผลให้บรรดาเหล่า “ซีอีโอ” นายแบงก์ออกมาเตือนถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2568 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้น มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตระดับต่ำกว่าครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก หรือมีความเสี่ยงจะไม่เติบโต จากการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลึก หลังขยายตัวสูงไปแล้วในช่วงครึ่งแรก
ประกอบกับอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐที่จะเก็บจากสินค้าไทยอาจสูงกว่าคู่แข่งสำคัญหลายประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อบรรยากาศการลงทุน ขณะที่แรงหนุนจากท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงแรง แต่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐทำได้เพียงในระดับจำกัด ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะมีผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2569 เช่นกัน
- กสิกรยึดหลักบริหารธุรกิจรอบคอบ ตามยุทธศาสตร3+1
ท่ามกลางความท้าทายปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและนอกที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยมุ่งเน้นสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้าผู้ฝากเงิน ผู้ลงทุน
ที่ครอบคลุมถึงลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจด้วยการดูแลช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ตลอดจนการส่งมอบผลตอบแทนที่มั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้น ผ่านการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 3+1 และการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Productivity) ต่อเนื่องภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
โดยความเสี่ยงข้างต้น ส่งผลให้ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 10,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 232 ล้านบาท หรือ 2.36% ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองอยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ในอนาคต
“เอสซีบีเอกซ์” ย้ำเดินหน้าธุรกิจรอบคอบ
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยืดเยื้อ
กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ให้ความสำคัญกับการช่วยประคับประคองลูกหนี้ทุกกลุ่ม ผ่านมาตรการที่หลากหลายและต่อเนื่อง
โดยยอมรับว่า สภาวะเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนสูง โดยการประเมินล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มดังกล่าวถึงเป็นที่มาของการปรับประมาณการนักท่องเที่ยวลงปีนี้เหลือ 34.2 ล้านคน
รวมถึงคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งปีนี้ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25%
ดังนั้น ท่ามกลางความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังคงเดินหน้าด้วยความมีวินัยและความรอบคอบ
- กรุงไทยเตือนรับมือภาษีนำเข้าสหรัฐมากกว่า2เท่า
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ครึ่งหลังต้องเตรียมรับมือกับภาษีศุลกากรที่อาจจะสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว กระทบกับความสามารถการแข่งขันของประเทศ คาดจะทำให้ส่งออกสินค้าไทยชะลอตัว และสินค้าที่มีอุปทานส่วนเกินในต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบผู้ประกอบการ ห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและประเทศ
ส่วนของธนาคารดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ด้วยความระมัดระวัง พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ หนุนการเร่ง ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส2” ที่ปรับเงื่อนไขช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SME กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น
ครอบคลุมกลุ่มที่เป็น NPL และกลุ่มเปราะบางที่ยัง ไม่เป็น NPL แต่มีสัญญาณอ่อนแอ ซึ่งเพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ที่ธนาคารดำเนินการมาต่อเนื่อง
- ทีทีบี ชี้ศก.เต็มไปด้วยความท้าทาย
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า จากเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อสถานการณ์ลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น และปักธงให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านโปรแกรมและโครงการต่างๆ
สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญลำดับต้นๆ เป็นเรื่องความช่วยเหลือลูกค้า การเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นตามแผนบริหารส่วนทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ให้มีเสถียรภาพท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ส่วนช่วงที่เหลือของปียังเน้นดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบรักษาเสถียรภาพและความแข็งแกร่งทางการเงินควบคู่กับการบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
- กรุงศรีฯมองศก.เสี่ยงครึ่งปีหลัง
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2568 มีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง ภายใต้บริบทความเสี่ยงจากมาตรการเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้จากสหรัฐ
ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ ความท้าทายจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดการณ์ในภาคท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือนในระดับที่สูง
และประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิต อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ต่อเนื่องในปี 2569 ทั้งนี้ สำหรับปี 2568 กรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับ 2.1%
รายงานข่าวจาก ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ท่ามกลางบริบทความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ธนาคารยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมยึดแนวทางให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม มุ่งมั่นให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการเติบโตอย่างยั่งยืน
- โฟกัสดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นก่อนมาตรการภาษีศุลกากรสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ แต่อุปสงค์ภายในประเทศกลับอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน
โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน และความระมัดระวังใช้จ่ายครัวเรือน จากความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและปัญหาหนี้สิน
ขณะที่ ภาคท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมไม่เต็มประสิทธิภาพ
ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวครึ่งปีหลัง เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค จากแรงกดดันการส่งออก ท่องเที่ยว ความไม่แน่นอนทางการเมือง กำลังซื้อภายในอ่อนแอจากรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้นและภาระหนี้ครัวเรือน