ปัจจัยลบรุมเร้าศก.ไทย เวิลด์แบงก์หั่นเหลือ1.8% KKP ชี้เสี่ยงถดถอยทางเทคนิค
ธนาคารโลก(World Bank)เปิดเผยรายงาน Thailand Economic Monitor: Digital Pathways to Growth ฉบับเดือนก.ค. 68 โดยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดิม 3.2% เหลือเพียง 1.8% และปรับลดประมาณการปี 2569 เหลือ 1.7%
สะท้อนผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลง การส่งออกที่อ่อนแอลง การบริโภคที่ชะลอตัว และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ยังไม่เต็มที่ แต่หากบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น อัตราการเติบโตอาจขยับขึ้นเป็น 2.2% ในปี 2568 และ 1.8% ในปี 2569 ได้
รายงานฉบับนี้ ยังบอกอีกว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากความอ่อนแอภายในประเทศ ความเสี่ยงจากภายนอก และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกมานาน โดยเฉพาะความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริง
แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.1% ในไตรมาสแรกของปี 2568 แต่แรงส่งดังกล่าวมาจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะการส่งออกที่เร่งตัวก่อนมาตรการภาษีจากประเทศคู่ค้าโลกจะมีผลบังคับใช้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในประเทศยังคงซบเซา การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 2.6% แม้รัฐบาลจะมีมาตรการโอนเงินสดให้กับประชาชนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.6%
ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยจำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากความกังวลด้านความปลอดภัย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 24% จากปีก่อนหน้า ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดของไทยยังล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ธนาคารโลกชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน เม.ย. 68 อยู่ที่ -0.2% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากราคาน้ำมันที่ลดลงและมาตรการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.9% บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านราคาในหมวดอื่น ๆ ที่ยังต่ำมาก
สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในประเทศที่ยังเปราะบาง จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไท ย(ธปท.)ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.0% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อต่ำ ภาวะการเงินตึงตัว และแนวโน้มการเติบโตที่อ่อนแอลง
ธนาคารโลกระบุว่า แม้ระดับหนี้ครัวเรือนจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 87.9% ของ GDP แต่ยังสูงที่สุดในอาเซียน โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ใช้หลักประกันยังคงอยู่ในระดับที่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลไทยจึงได้ออกมาตรการผ่อนปรนระยะสั้นและเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อลดภาระหนี้ครัวเรือน แต่ผลข้างเคียงคือ การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวและการบริโภคในประเทศยิ่งลดลง
ด้านบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลที่ 2.2% ของ GDP และมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงคิดเป็น 46.2% ของ GDP หรือราว 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น แต่ธนาคารโลกเตือนว่า ไทยยังมีความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมั่นนักลงทุนและนโยบายการค้าโลก
โดยเฉพาะเมื่อการนำเข้าทุนชะลอลง รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริการลดลง และบัญชีเงินทุนยังขาดดุลอย่างต่อเนื่องจากกระแสเงินทุนไหลออกและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 2.5% เมื่อเทียบกับค่าเงินหลัก
ส่วนการคลัง รายงานระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ของ GDP เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและงบลงทุน รัฐบาลได้ดำเนินโครงการโอนเงินสด 10,000 บาท 2 เฟส เพื่อสนับสนุนการบริโภคและการชำระหนี้ครัวเรือน
ทำให้ “พื้นที่ทางการคลัง” ของไทยแคบลงมาก ต้องหันไปสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ตรงจุด และเน้นการเพิ่มผลิตภาพมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อบริโภคระยะสั้น
ดร.เกียรติพงษ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทยกล่าวว่า กรณีที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโตได้ 2.2% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือการเจรจาเรื่องนโยบายภาษีกับสหรัฐฯ หากผลออกมาเป็นบวก การลงทุนจะเริ่มกลับมา
“ปัจจุบันผู้ขอสิทธิพิเศษทางด้านการลงทุนกับ BOI ค่อนข้างแตกต่างจากในอดีต จากเดิมกระจุกตัวอยู่ในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ หรือจีน แต่ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทสิงคโปร์ ฮ่องกง เข้ามาลงทุนใน Digital Sector มากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดี”
ส่วนกรณีการเติบโตเกิน 2% หรือให้เติบโตเต็มศักยภาพ มี 2 ส่วนหลักที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือปรับโครงสร้างฐานะการคลัง ลดหนี้สาธารณะให้ต่ำลง จากปัจจุบัน 65.6% ของ GDP และขาดดุลงบประมาณ 6.3% ต่อ GDP ผ่านการปรับแผนการคลังระยะปานกลาง เน้นการส่งเสริมการเติบโตของ GDP เพื่อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลง สำหรับอีกส่วนที่ต้องเร่งทำคือการลงทุนในทักษะดิจิทัลของประชาชน
ขณะที่ก่อนหน้า KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ ฯ และจีนที่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังคงเผชิญแรงกดดันหลายด้านทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว และปัจจัยลบในปี 2025 ที่สำคัญคือ
การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีโอกาสกลับมาชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี การบริโภคในประเทศที่ยังคงอ่อนแอตามสินเชื่อที่หดตัว ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ KKP Research ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2025 จาก 1.7% เหลือ 1.6% และปี 2026 เหลือ 1.5%
งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังท้าทาย จากหลายปัจจัยลบที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย จึงมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค(Technical Recession)ได้จากปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจะทยอยหมดไป คือ
- แรงส่งจากฐานต่ำของการลงทุนภาครัฐในปีก่อน
- การเร่งการส่งออกที่สูงผิดปกติในช่วงต้นปีก่อนการขึ้นภาษี
- การท่องเที่ยวที่จะทยอยชะลอตัวลงโดยจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเริ่มติดลบในช่วงครึ่งหลัง ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศเดิมของไทยที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว
“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจทำให้เศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าคาด การรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้จะต้องใช้การประสานนโยบายอย่างรอบด้าน ระหว่างนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย นโยบายการคลังที่แม่นยำ และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาว”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,111 วันที่ 6 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568