เร่งถกเคาะใช้งบปั๊มเศรษฐกิจ 4 หมื่นล. ‘คลัง’ คาดสรุปพร้อมชงบอร์ดกระตุ้นฯ
'คลัง' แจงคณะอนุกลั่นกรองฯ เร่งถกใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาท หลังขยักไว้รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะสั้น โอด อปท. ส่งตัวเลขทะลัก-กระจุกตัว ต้องเร่งพิจารณาใหม่ คาดหากได้ข้อสรุปเร่งชงบอร์ดกระตุ้น-ครม. เคาะต่อทันที ฟุ้งงบบูสเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท ดันเงินเข้าระบบไตรมาส 4/68-ไตรมาส 1/69 ช่วยปั๊มจีดีพีโต 0.4-0.5%
23 ก.ค. 2568 - นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันที่ 23 ก.ค. 2568 จะมีการหารือถึงแนวทางในการพิจารณาจัดสรรเงินเพื่อใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับวงเงินที่เหลืออีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท จากงบประมารกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดสรรไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นเม็ดเงินดังกล่าวสามารถใช้ในโครงการกระตุ้นและรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ในหลายกรณี ซึ่งต้องเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท โดยมีการแบ่งไว้ 4 หมื่นล้านบาทนั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องเตรียมไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจระยะใกล้ ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะขยับดีขึ้นหรือแย่ลง รวมถึงก่อนหน้านี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการส่งคำขอใช้งบประมาณเข้ามา ซึ่งไม่สอดคล้องในเรื่องตัวเลข และมีการกระจุกตัว ทำให้ต้องมีการพิจารณาแนวทางการจัดสรรงบประมาณกันใหม่
“เบื้องต้นยังต้องรอผลสรุปจากการประชุมวันนี้ ที่การประชุมในรอบก่อนหน้าได้มีการวางหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณ ทั้งเรื่องเงื่อนไขของเวลา ซึ่งด้วยกรอบของเวลาแล้วอย่างน้อยโครงการจะต้องผูกพันงบประมาณให้ได้ก่อนวันที่ 30 ก.ย. นี้ ต้องถูกต้องตามข้อกฎหมาย และต้องมีความเหมาะสม ซึ่งหากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ วันนี้ (23 ก.ค.) มีข้อสรุป ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาต่อ และหลังจากนั้นต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป” นายเผ่าภูมิ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 หมื่นล้านบาทนี้จะมีการนำไปช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่นั้น รมช.การคลัง ระบุว่า รัฐบาลยังมีหน้าที่ในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง ผ่านการดูแลโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว การปรับปรุงทุนมนุษย์ นั่นหมายความว่ายังต้องมีการพิจารณาการดูแลเศรษฐกิจในหลาย ๆ มิติ ไม่ได้มีแค่การดูแลผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการประเมินว่า เม็ดเงินจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ที่ได้มีการจัดสรรไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาทนั้น จะสามารถเข้าสู่ระบบได้เต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 4/2568 ถึงไตรมาส 1/2569 ซึ่งจะช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4-0.5% ซึ่งถือว่าเม็ดเงินสามารถเข้าสู่ระบบได้ค่อนข้างเร็ว