‘พิชัย’ อัดซอฟต์โลน 2 แสนล้าน เยียวยาธุรกิจโดนภาษีสหรัฐ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Roundtable : The Art of The (Re)Deal ในหัวข้อ “กรอบเจรจา และการรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์ ว่า จากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ว่างานนี้จะจบเช่นไร แต่ทั่วโลกมีปัญหาแน่นอน สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐได้เตรียมมาตรการเยียวยามาดูแลผู้ประกอบการส่งออก
โดยได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐ โดยใช้งบประมาณจากสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ ดูแลผู้ประกอบการต่อไป
"เราจะช่วยเหลือผู้ประกบอากรให้ถูกต้องทุกกลุ่ม วันนี้เราก็เก็บข้อมูลของแต่ละกลุ่มมาให้เยอะที่สุด เพื่อที่จะออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน โดยจะเริ่มใช้ก็ต่อเมื่อเราจะทราบสัดส่วนภาษีที่เราโดนกระทบแล้ว"
นอกจากนี้ จะเปิดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบแจ้งเข้ามาผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และให้สภาอุตฯ แยกแต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ว่ามีปัญหาใดบ้าง เพื่อให้แก้ไขได้ตรงจุด โดยเราจะให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการรายกลาง และรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งในปี 2567 กว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากพิจารณาจากยอดดังกล่าว 1 ใน 3 ของมูลค่านั้น เป็นภาคอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากสหรัฐที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยเป็นเวลานาน ซึ่งเขาได้ทักษะของแรงงาน ไม่สามารถหาทดแทนได้ในสหรัฐ รวมถึงซัพพลายเชนที่อยู่ในไทย ฉะนั้น จึงขอให้เป็นความพยายามของผู้ประกอบการที่ต้องสื่อสารกับสหรัฐ
“ของที่บริษัทส่งไปเป็นส่วนให้ส่งไปสหรัฐ และเป็นส่วนประกอบที่จะนำไปสู่การพัฒนาเอไอทั้งสิ้น ฉะนั้น การพัฒนาเอไอก็คงต้องหวังใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ เราก็หวังว่าบริษัทขนาดใหญ่นี้ จะสามารถเจรจากับสหรัฐได้ เพราะในภาพรวมเป็นผลดีกับสหรัฐ”