WHA ยันภาษีทรัมป์ไม่กระทบลงทุน ชี้ไทยได้เปรียบโครงสร้างพื้นฐาน
นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม "Roundtable : The Art of (Re)Deal” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัจจุบันคงต้องรอดูกันว่าจะตกลงกันอย่างไร โดยยังมีหลายประเด็น เช่น การถ่ายเท (Transshipment) จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่
ทั้งนี้ ธุรกิจของ WHA ไม่กังวล โดยยอดขายที่ดินปีนี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการพิจารณาปัจจัยลงทุนหลายอย่าง ทั้งภาษีศุลกากร โครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่ซัพพลายเชน เป็นต้น
โดยจะเห็นได้จากการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่ทุกประเทศต้องการ สิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบคือ ซัพพลายเชนและแรงงานที่คุ้นเคย ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีฐานที่มั่นคง ทั้งแรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งในช่วงแรกที่ทราบข่าวว่าจะโดนเก็บภาษี 36% WHA ได้สำรวจบริษัททั้ง 300 บริษัท รวมโรงงานกว่า 1,200 แห่ง ซึ่งตอนนี้ยังตอบกลับมาไม่ครบทั้งหมด
“ความแน่นอนยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เช่นเดียวกับความชัดเจนยังคงมีความไม่ชัดเจนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามที่ออกมาโดยผู้นำของทั้ง 2 ประเทศชี้แจงไม่ตรงกัน“
นายณัฐพรรษ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมต้องดูเป็นรายภาค หรือเซกเตอร์ (Sector) โดยบางเซกเตอร์ต้องดูเป็นรายบริษัท เช่น ลูกค้าในกลุ่มยานยนต์ที่ประกอบ End Product ไม่ได้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพราะเน้นพวงมาลัยขวา แต่บางกลุ่ม เช่น มอเตอร์ไซค์ ก็ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น อาจจะต้องรอกันต่อไป
ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า ถ้าวันนี้ธุรกิจยังไม่ได้ทำแผนธุรกิจ (Action Plan) อาจจะช้าไปสักหน่อย แต่ก็ถือว่ายังไม่สายเกินไป และแต่ละธุรกิจจะต้องมองว่าสถานการณ์ (Scenario) จะขาดหรือเหลืออะไรบ้าง
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ WHA มีธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม จึงต้องการให้เห็นภาพว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และผลิตภัณฑ์ (Product) ของไทยและเวียดนามมีความแตกต่างกันสำหรับบางอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากไม่สามารถมาไทยได้ หากเป็นโรงงานขนาด 500 คนขึ้นไปไทยมีข้อจำกัดเพราะอีกไม่ถึง 10 ปีก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงควรไปลงทุนที่เวียดนาม
อย่างไรก็ตาม หากอุตสาหกรรมใดต้องการได้ Supply Chain หรือโครงสร้างพื้นฐานก็มาลงทุนที่ไทย และต้องการให้เห็นภาพที่ชัดว่า หากไม่รวมภาษีที่เกิดขึ้น จะพบว่าเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากกว่าไทยอยู่แล้ว ถือเป็นข้อได้เปรียบของเวียดนาม ซึ่งวันนี้ไทยยังไม่รู้ว่า Transshipment จะจบที่เท่าไหร่ด้วยซ้ำ และที่ตอบไม่ได้คือ วันนี้ยังไม่รู้ว่าจีนจะจบเท่าไหร่เช่นกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อน FDI
เมื่อยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก่อนสหรัฐฯ จะประกาศภาษี 36% ลูกค้ารายใหญ่ของ WHA ได้เดินทางไปดูที่ดินที่สหรัฐฯ แต่ในช่วง 1-2 ปีเมื่อดูต้นทุนแล้วไม่สามารถไปลงทุนได้ จึงจะมาขยายพื้นที่ (Scale) ต่อที่ไทย เป็นต้น ดังนั้น วันนี้สถานการณ์มีหลายแนวทางมาก จึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายณัฐพรรษ กล่าวต่อไปอีกว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ชัดเจนว่าไทยกับเวียดนามไปด้วยกันได้ โดยเวียดนามใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งไทยใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) มาก ส่วนชิป และ AI ที่หลายคนห่วงเรื่องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ซึ่งสุดท้ายแล้วดาต้าเซ็นเตอร์คือ End-User ภาพของเทคโนโลยีชัดเจนขึ้น ลูกค้าที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์จากจีนยืนยันว่าไม่ได้ใช้ชิปขั้นสูงนี้อยู่แล้ว ส่วนฝั่งตะวันตกก็เป็นลูกค้าสหรัฐฯ ที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์อยู่แล้วเช่นกัน
ขณะที่ชิปรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ถูกใช้ในกลุ่มที่มีข้อจำกัด เพราะเป็นการใช้งานเฉพาะจริง รุ่นใหม่สุดอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ส่วน Non-complex AI หรือ AI ที่ไม่ซับซ้อน ก็ยังคงไปต่อได้
"ปัจจุบัน Infrastructure สำคัญมาก อยู่ที่ว่าจะต่อยอดอย่างไร เพราะการปรับอุตสาหกรรมอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญกว่า ส่วนความช่วยเหลือด้านการเงินคงแบ่งเป็นรายส่วน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงการตลาด ดังนั้น จึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพ"