นโยบาย PD First สปสช. ช่วยผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตตามความเหมาะสม
14 กรกฎาคม 2568 พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ สปสช. มีการนำนโยบายการล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก (PD First) กลับมาใช้ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 เม.ย.2568 จนถึงปัจจุบัน
พบว่า ผลที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้จะยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านก็ตาม โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยที่รับการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เพิ่มขึ้น และในบางจังหวัดในภาคใต้หรือภาคเหนือ มีสัดส่วนการล้างไตทางช่องท้องต่อการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) จากเดิมที่การล้างไตทางช่องท้องมีจำนวนน้อยมาก แต่ขณะนี้มีสัดส่วนเป็น 40% ต่อ 60%
ทั้งนี้ ภายใต้การนำนโยบาย PD First กลับมาใช้ สปสช. ได้เพิ่ม 2 กลไกสำคัญ ได้แก่ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการบำบัดทดแทนไตแต่ละวิธี (Shared Decision Making) เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี และเลือกวิธีที่เหมาะสม โดยจะประสานการทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมวิชาชีพ
การคัดกรองเพื่อขออนุมัติการบำบัดทดแทนไต (Pre-Authorization) โดยจะคัดกรองตั้งแต่ต้นว่าผู้ป่วยถึงระยะที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตแล้วหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้จะอ้างอิงจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและหากได้รับการอนุมัติ จะมีการประเมินต่อถึงวิธีการบำบัดที่เหมาะสม หากแพทย์เลือกวิธีที่เหมาะสมให้แล้วแต่ผู้ป่วยคิดว่าไม่เหมาะก็สามารถยื่นอุทธรณ์ขอเปลี่ยนวิธีได้
"สปสช. ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะหากดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตในระยะเริ่มต้นของการฟอกเลือด และลดการใช้งบประมาณลงได้" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้จะใช้กับผู้ป่วยไตรายใหม่เท่านั้น ส่วนผู้ป่วยไตรายเก่ายังสามารถรับบริการตามเดิมได้ ตามประกาศ สปสช. เรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไตรายเก่าต้องการเปลี่ยนวิธีการบำบัด เช่น จากล้างไตทางช่องท้องเป็นการฟอกเลือด จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายใหม่
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า หากหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องได้คุณภาพตามตัวชี้วัด เช่น ไม่ติดเชื้อ ไม่ขาดสารอาหาร ไม่เสียชีวิตเร็วเกินไป ฯลฯ สปสช. จะจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม เพื่อจูงใจหน่วยบริการให้การดูแลอย่างมีคุณภาพ มากไปกว่านั้น สปสช. ยังส่งเสริมการลดจำนวนผู้ป่วยไตรายใหม่ผ่านคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD Clinic) ที่มีคุณภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น ชุดตรวจคัดกรองโรคไต โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพควบคุมโรค NCDs รวมถึงการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เช่น ปรับลดความเค็มในอาหารด้วยเครื่องวัดความเค็ม (Salt Thermometer) ฯลฯ
ทั้งนี้ การนำนโยบาย PD First กลับมาใช้ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายล้างไตในปี 2565 ที่เน้นให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมเลือกวิธีร่วมกับแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดเข้าถึงบริการมากขึ้น และไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านไป 2 ปี พบว่าผู้ป่วยที่ฟอกเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องลดลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยมองว่าการฟอกเลือดสะดวกกว่า เพราะมีหน่วยบริการและบุคลากรดูแล จึงเลือกวิธีนี้กันมากขึ้น
"จากเดิมสัดส่วนการล้างไตด้วยตนเองต่อฟอกเลือดอยู่ที่ 40:60 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 15:85 โดยจำนวนผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบฟอกเลือดเพิ่มจาก 20,000–30,000 ราย เป็น 80,000–90,000 รายต่อปี" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ผลที่ตามมาคือ ปัญหาคุณภาพบริการฟอกเลือด และงบประมาณสนับสนุนค่าล้างไตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ฟอกเลือด โดยเฉพาะใน 90 วันแรก เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากการคัดเลือกวิธีบำบัดของทีมดูแลอาจไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมมาก ควรได้รับการดูแลแบบประคับประคองมากกว่าการฟอกเลือด ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องยังคงที่
สำหรับในภาพรวมผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทองที่ต้องล้างไตขณะนี้มีประมาณ 90,000 ราย โดยเป็น HD เกือบ 70,000 ราย และ PD อีก 20,000 ราย แบ่งเป็น CAPD ประมาณ 15,000 ราย และ APD อีก 5,000 ราย ผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 รายต่อปี จากเดิม 16,000–17,000 รายต่อปี โดย สปสช. ตั้งเป้าควบคุมผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องล้างไตไม่เกิน 15,000 รายต่อปี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว