เงินเฟ้อไทยติดลบ 3 เดือนต่อเนื่อง ลดลง 0.25% ในเดือน มิ.ย. ยังรั้งท้ายอาเซียน กระทรวงพาณิชย์ย้ำ ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
อัตราเงินเฟ้อไทยติดลบ 3 เดือนต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน โดยลดลง 0.25% YoY กระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์เงินเฟ้อตลอดทั้งปี 0.5% แม้เดือนหน้าจ่อติดลบเป็นเดือนที่ 4 พร้อมยืนยัน ไทยไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือน ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
วันนี้ (7 กรกฎาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) เดือนมิถุนายน 2568 เท่ากับ 100.42 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 100.67 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง หรือ ‘ติดลบ’ 0.25% (YoY) โดยมาจากปัจจัยหลัก ดังนี้
การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลจากความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ผ่อนคลายลง
การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการ โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี พูนพงษ์กล่าวว่า ยังมีราคาสินค้าอาหารบางชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร และอาหารสำเร็จรูป สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมอาหารและพลังงาน พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.06% (YoY) แต่ชะลอลงจากเดือนพฤษภาคม 2568 ที่สูงขึ้น 1.09%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 ลดลง 0.35% (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง 0.17% (QoQ)
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้น 0.97% (AoA)
ยันไทยยังไม่เข้าสู่ ‘ภาวะเงินฝืด’ คาดไตรมาส 4 เงินเฟ้อพลิกบวก
โดยพูนพงษ์ยืนยันว่า ไทยไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเดือนนี้มาจากราคาพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งมีน้ำหนักถึง 12.9% ของตะกร้าเงินเฟ้อ และราคาอาหารผัก ซึ่งคิดเป็น 4.5% ของน้ำหนักตะกร้าเงินเฟ้อ ‘ลดลง’ เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังชี้ว่า สินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อส่วนใหญ่ยังเป็นบวก
โดยจากรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อทั้งสิ้น 464 รายการในเดือนมิถุนายน 2568 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า มีราคาสินค้า 227 รายการ ‘ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น’ ได้แก่ เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู ผักชี ผักบุ้ง น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน-เย็น) ขนมหวาน ค่าเช่าบ้าน ค่าแต่งผมชาย เป็นต้น
สำหรับสินค้า 59 รายการที่ ‘มีราคาคงเดิม’ ได้แก่ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี ค่าโดยสารรถไฟ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
ส่วนสินค้า 178 รายการที่มี ‘การปรับราคาลดลง’ ได้แก่ ไก่ย่าง ไข่ไก่ มะเขือเทศ ขิง ต้นหอม กะหล่ำปลี ทุเรียน ส้มเขียวหวาน มะม่วง ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู น้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์และดีเซล) เป็นต้น
เปิดแนวโน้มเงินเฟ้อไทยระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม พูนพงษ์ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนกรกฎาคมน่าจะยังติดลบอยู่ เป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2568 ก็คาดว่า จะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ซึ่งเฉลี่ยติดลบ ก่อนคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาพลิกบวกในไตรมาส 4 โดยปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ‘ลดลง’ ในไตรมาสที่ 3 ได้แก่
ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง หลังจากมีการทำข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของความขัดแย้ง
ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย
ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น
การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
พาณิชย์คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ภายใต้สมมติฐานที่ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี 2568 อยู่ที่ 1.3-2.3% ขณะที่คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีไว้ที่กรอบ 63-73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั้งปี คาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
พร้อมทั้งมองว่า คาดการณ์ดังกล่าวยังเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือน ยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนมิ.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ -0.25% โดยยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยถูกกดดันจากด้านอุปทานเป็นสำคัญ อาทิ ราคาพลังงาน ผักและผลไม้สด
นอกจากนี้ มองไปยังไตรมาส 3 ปีนี้ ยังคาดว่า เงินเฟ้อไทยอาจหดตัวต่อเนื่อง แต่จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อไทยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 0.3% โดยมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มราคาพลังงานโลกที่ลดลง การนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบอุปสงค์ในประเทศให้ลดลง กดดันภาพรวมเงินเฟ้อไทยอีกที
เงินเฟ้อไทยยังต่ำสุดในอาเซียน
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลง 0.57% (YoY) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สปป.ลาว)
- 🇧🇳บรูไน -0.5%
- 🇹🇭ไทย -0.57%
- 🇸🇬สิงคโปร์ 0.8%
- 🇮🇩อินโดนีเซีย 1.6%
- 🇲🇾มาเลเซีย 1.2%
- 🇵🇭ฟิลิปปินส์ 1.3%
- 🇻🇳เวียดนาม 3.24%
- 🇱🇦สปป.ลาว 8.3%
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร