ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้กัมพูชามีเรื่องกับไทยหวังสร้างภาพลักษณ์'บุรุษเหล็ก'ให้ฮุน มาเนต
เว็บไซต์ military.china ชี้ว่า กัมพูชากำลังใช้ข้อพิพาทชายแดนกับไทยเพื่อเสริมสร้างอำนาจทางทหาร โดยชี้เบาะแสว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ประกาศ ณ ค่ายทหารกำปงชนัง ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี จะต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาสองปี โดยอ้างว่าการดำเนินการครั้งนี้มีขึ้นเพื่อรับมือกับความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม military.china ชี้ว่า "เบื้องหลังพายุลูกนี้ คือแผนการทางการเมืองของฮุน เซน และบุตรชาย"
หลังเกิดการเผชิญหน้ากับไทย ฮุน มาเนต เรียกร้องให้ "ปฏิรูปกองทัพและเสริมสร้างการป้องกันประเทศ" ทันที แต่ military.china วิเคราะห์ว่าการตอบสนองของกัมพูชาต่อการเผชิญหน้านี้ "ดูเหมือนจะมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การตัดกระแสไฟฟ้าของไทยและการปิดด่านชายแดน ส่งผลให้รถบรรทุกทุเรียนจำนวนมากต้องติดค้างอยู่ที่ชายแดน และราคาผลไม้ในกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้นในชั่วข้ามคืน การกระทำเหล่านี้ดูเหมือนจะมีการวางแผนอย่างรอบคอบ"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนชี้ว่า ฮุน มาเนต เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้วด้วยรากฐานที่ตื้นเขิน ดังนั้น "เขาใช้วิกฤตการณ์ชายแดนผลักดัน "กฎหมายการรับราชการทหาร" ที่ล่าช้ามานาน เพื่อแสดงภาพลักษณ์ผู้นำที่เข้มแข็ง พร้อมกับควบคุมกองทัพ การเพิ่มกำลังทหารเกณฑ์จะกลายเป็นกำลังสำคัญสำหรับตระกูลฮุน"
military.china ชี้ว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาอ่อนแอ การใช้จ่ายทางทหารคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของงบประมาณแผ่นดิน และการลงทุนในอาชีพของประชาชนยังไม่เพียงพอ การเกณฑ์ทหารได้ก่อให้เกิดการประท้วงในหมู่คนหนุ่มสาว และเสียงคัดค้านได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย แต่ "ฮุน มาเนต ใช้วิกฤตการณ์ชายแดนเพื่อเบี่ยงเบนความขัดแย้งภายในประเทศ และเปลี่ยนความไม่พอใจให้กลายเป็นความรู้สึกชาตินิยม"
อีกแง่มุมหนึ่งก็คือความพยายามจะใช้สถานการณ์นี้ดึงมหาอำนาจเข้ามา ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า "ฮุน เซนและบุตรชายได้แสดงอำนาจทางทหารผ่านการซ้อมรบร่วมระหว่างจีนและกัมพูชา และในอีกด้านหนึ่ง ฮุนเซนขู่ว่าจะโจมตีกรุงเทพฯ ระยะไกลเพื่อพยายามหาแรงสนับสนุนจากมหาอำนาจ"
"เกมหมากรุกระหว่างฮุนเซนและลูกชายเผยให้เห็นความจริงอันโหดร้ายของการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ความขัดแย้งบริเวณชายแดนสามารถใช้เป็นเครื่องมือ ความกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาวสามารถใช้เป็นเครื่องต่อรอง และเสียงเรียกร้องความช่วยเหลืออาจกลายเป็นกับดักทางการเมืองได้เช่นกัน" ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
โดยทีมข่าวต่างประเทศ The Better
Photo - ประชาชนถือรูปของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ขณะเข้าร่วมการเดินขบวนแสดงความสามัคคีซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลกัมพูชาในกรณีพิพาทชายแดนกับไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 (ภาพโดย TANG CHHIN Sothy / AFP)