ผนฉจพชจร : ผู้นำฉลาดจะพาชาติเจริญรุ่งเรือง
ทวี สุรฤทธิกุล
“ผนงจพรปต” ที่ย่อมาจาก “ผู้นำโง่จะพาเราไปตาย” ดูจะให้ความหมายที่ชัดเจนกับรัฐบาลยุคนี้
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่เพิ่งผ่านมา มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชฯ ได้จัดให้มีการเสวนาทางประวัติศาสตร์ เรื่อง “50 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จีน” โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปาฐกถานำ นายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสารสิน วีระผล ผู้บริหารบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอู๋ซื่ออู๋ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้ร่วมเสวนา และมีนายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา จัดขึ้นที่โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยท์ ถนนพระราม 4 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่งกว่า 300 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ นักธุรกิจ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากหลายกระทรวง ชาวจีนในไทย และสื่อมวลชนจำนวนมาก
นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ตามกำหนดการกำหนดเวลาไว้ให้ 20 นาที ซึ่งพอครบกำหนดเวลา ท่านก็เหมือนจะพอทราบว่าจะต้องจบ แต่ท่านก็ขออนุญาตที่จะใช้วลาอีกเล็กน้อย แต่ว่าเป็นเวลาเล็กน้อยถึงอีกครึ่งชั่วโมง ซึ่งผู้ฟังดูเหมือนจะไม่รู้สึกเสียเวลาแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ท่านพูดนั้น “มีคุณค่า” เป็นอย่างยิ่ง
เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการลำดับเหตุการณ์ของการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไทยได้มีความสัมพันธ์กับ “สาธารณรัฐจีน” หรือจีนคณะชาติอยู่ก่อนแล้ว แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คอมมิวนิสต์ยึดประเทศจีนได้ จีนจึงกลายเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แล้วก็เกิดปัญหาว่าไทยจะอยู่ข้างไหน ซึ่งไทยก็เลือกที่จะสนับสนุนจีนคณะชาติที่หนีไปอยู่ที่ไต้หวันนั้นต่อไป
ท่านอานันท์เล่าไปจนถึงเหตุการณ์ก่อนที่ไทยจะมาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2518 โดยบอกว่ามีการเตรียมการมานานก่อนหน้านั้นสัก 5 - 6 ปีแล้ว โดยเฉพาะในภาคเอกชน ที่มีทั้งนักธุรกิจและสมาคมกีฬาบางแห่ง เช่น สมาคมเทเบิ้ลเทนนิสหรือปิงปอง รวมถึงรัฐบาลที่ในกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ที่ได้มีรัฐมนตรีช่วยชื่อพลจัตวาชาติชาย ชุณหวัณ ผู้ถูกเนรเทศไปเป็นทูตในหลายประเทศมากว่า 15 ปี ตั้งแต่ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2500
ท่านอานันท์กล่าวชมพลจัตวาชาติชายว่า “ตัดสินใจได้ดี แต่อย่าถามเหตุผล” (ผู้ฟังส่งเสียงฮา) นั่นก็คือการริเริ่มที่จะเปิดความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ โดยในปี 2515 ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐอเมริกาก็ไปจับมือกับเหมาเจ๋อตง ทำให้เราคือรัฐบาลไทยรับรู้แล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป และต่อมาประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อีก 2 ประเทศ คือมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็ไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน จนถึงในปี 2517 ประเทศไทยก็มีวิกฤติพลังงาน ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง รัฐบาลไทยได้ขอซื้อนำมันจากจีน ซึ่งจีนก็ขายให้โดยดีในราคาไม่แพง ที่รัฐบาลจีนใช้คำว่า “Friendly Price” หรือ “ราคามิตรภาพ” อันเป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ ว่าจีนกำลังเปิดกว้างที่จะต้อนรับประเทศไทยเข้าเป็นมิตรประเทศอย่างจริงจัง
ต่อมาในตอนต้นปี 2518 ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ คือเขมรก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ จากการรุกรานของเวียดนามที่ถูกคอมมิวนิสต์ยึดครองเมื่อปลายปี 2517 และสหรัฐอเมริการก็พ่ายแพ้อย่างยับเยิน หนีออกจากเวียดนามอย่างน่าสมเพช นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ได้เรียกประชุมสภาความมั่นคง ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แต่ฝ่ายทหารคัดค้าน อย่างไรก็ตามทางกระทรวงต่างประเทศ ที่มีพลตรีชาติชาย ชุณหวัน ที่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ เห็นด้วย และได้รีบเร่งให้มีการดำเนินการเพื่อเดินทางไปจีน ระหว่างนั้นที่อ่าวไทยก็มีเรือรบสหรัฐชื่อมายาเกซ ล่วงล้ำเข้ามา รัฐบาลไทยจึงประท้วงสหรัฐด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูต คือนายอานันท์ ปันยารชุน กลับมา รัฐบาลจึงให้นายอานันท์ที่ปลอดภารกิจอยู่นั้น “รีบประสาน” ให้มีการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนให้ได้โดยเร็ว ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และได้ไปลงนามกับจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นั้น
จากนั้นก็เป็นการเสวนาของวิทยากรทั้งสามท่าน ประกอบกับการเชื่อมโยงและซักถามอย่างออกรสของนายสุทธิชัย หยุ่น ทำให้ผู้ฟังเหมือนถูกตรึงอยู่ใน “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์” ในเวลาร่วม 3 ชั่วโมงนั้นอย่างไม่รู้สึกเบื่อ ถึงขั้นที่ได้ทำให้นายอานันท์ที่ร่วมรับฟังอยู่โดยตลอด ยกมือขึ้นขอร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายอีกยี่สิบกว่านาที เพราะท่านก็คงมี “อารมณ์ร่วม” อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นที่ท่าน “Implied” หรือ “แฝงนัย” ไว้ในความคิดเห็นในตอนท้ายของท่านนี้ ที่ผู้เขียนขอนำมาบันทึกไว้ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่าง “คลุม ๆ” นั้นทั้งหมด แต่หลายคนที่ฟังอยู่ก็น่าจะเข้าใจไปได้ในทางนี้เหมือนกัน
ท่านอานันท์กล่าวว่า ความสำเร็จของภารกิจครั้งนั้นต้องขอชื่นชม “ผู้นำ” ของไทย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่กล้าตัดสินใจและสนับสนุนการทำงานของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี โดยกล้า “หักหาญ” กับทหารใหญ่ทั้งหลาย “อย่างสุขุมลุ่มลึก” คือทหารก็ไม่เสียหน้า แต่รัฐบาลก็ได้ทำตามการตัดสินใจเพื่อแก้วิกฤติได้อย่างทันท่วงที แต่ที่ท่านอานันท์ชื่นชมนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์เป็นอย่างมากก็คือ “บุคลิกภาพของผู้นำ” ที่ได้ทำให้ประเทศไทยดูมีเกียรติอย่างสูงส่ง ได้รับการยอมรับนับถืออย่างจริงใจยิ่งกว่าชาติใด ๆ ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไปในทุกมิติ ประชาชนคนไทยมีความสุขสบายในการไปมาหาสู่และการอยู่อาศัย อย่างเช่น ปัญหาเรื่องสัญชาติของคนจีน ก็ไม่ได้เป็นปัญหา และทำให้คนจีนในไทยมีชีวิตที่ดีและมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจที่จีนยืนหยัดค้ำจุนและช่วยไทยให้มีการพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นมาโดยตลอด
นายอานันท์ได้ฝากข้อคิดให้กับผู้ฟังในวันนั้นว่า ตราบใดที่ประเทศไทยมีผู้นำที่ดี มี “ความฉลาด” ก็จะทำให้ประเทศไทยมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในสายตาของชาวโลก รวมถึงที่ทำให้คนไทยและสังคมไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เหมือนอย่างที่ในยุคหนึ่งเรามีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”
ผู้เขียนขอเติมไปอีกว่า นายกรัฐมนตรีของไทย “ที่ดี ๆ” หรือ “ที่ฉลาด ๆ” ก็ยังพอหาได้อีก อย่างท่านอานันท์นั้นก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ควรอยู่ในลิสต์ของ “ผนฉจพชจร : ผู้นำฉลาดจะพาชาติเจริญรุ่งเรือง” นั้นได้อีกท่านหนึ่ง
แต่ใครที่เป็น “ผนงจพรปต : ผู้นำโง่จะพาเราไปตาย” ก็ช่วยกันจดจำเขียนใส่หนังตะกวดไว้อย่าให้ลืม !