ใกล้เส้นตายภาษีทรัมป์ ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลย์ พิสูจน์ ‘พลังต่อรอง’ แต่ละชาติ
นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่กดดันเศรษฐกิจอาเซียนอย่างหนัก ตอนนี้หลายประเทศกำลังลุ้นขอลดภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) กับสหรัฐฯ ให้ทันเส้นตายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ตอนนี้ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา กำลังเดินหน้าหารือในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.แบบที่เวลาก็บีบเค้นเหลืออีกไม่กี่วันจะถึงเส้นตาย 1 สิงหาคมนี้
เพื่อนบ้านไทยอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตอนนี้เจรจาบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไปก่อนหน้าแล้ว
การเจรจาที่ต้องแข่งกับเวลานี้หากไม่สามารถตกลงได้ ไทยและกัมพูชาอาจถูกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึง 36% มาเลเซีย 25% และสิงคโปร์อย่างน้อย 15%
‘เดโบราห์ เอล์มส์’ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการค้าของ Hinrich Foundation บอกว่า บรรดารัฐมนตรีพาณิชย์ชาติอาเซียนต่างเดินทางมาคุยกันที่ดีซีแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องแลกเงื่อนไขใดบ้างเพื่อแลกกับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า
ความคืบหน้าล่าสุดที่สรุปได้ตอนนี้
ฟิลิปปินส์ ปลดล็อกภาษีจาก 20% เหลือ 19% พ่วงด้วยการได้รับคำชื่นชมจากทรัมป์ในฐานะประเทศที่ให้ “ภาษีศูนย์” แก่อเมริกา
อินโดนีเซีย ตกลงลดภาษีนำเข้าเกือบทั้งหมด แลกกับการที่สหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้จาก 32% เหลือ 19%
เวียดนาม บรรลุข้อตกลง ลดภาษีตอบโต้เหลือ 20% แม้สินค้าขนส่งผ่านต้องเผชิญภาษีสูงถึง 40%
ในรายงานจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 เตือนว่า ความไม่สม่ำเสมอของการเจรจา อาจยิ่งสกัดการค้าและบั่นทอนการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน
สิงคโปร์ แม้เป็นชาติเดียวในอาเซียนที่มีดุลการค้าติดลบกับสหรัฐฯ จึงควรเป็นเป้าน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะรอด หากไม่ลงนามภายในเวลาที่กำหนด อัตราภาษีตอบโต้จะพุ่งจาก 10% เป็นอย่างน้อย 15%
ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เดินทางเยือนสหรัฐฯสัปดาห์นี้ หวังยืดขอบเขตยกเว้นในสินค้ากลุ่มยา โดยอ้างถึงดุลการค้าที่สิงคโปร์ก็ติดลบสหรัฐเป็นหลัก
นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากภาษียาเพิ่มเป็น 25% อัตราภาษีรวมจะขยับไป 11% ทำให้การเติบโตของสิงคโปร์ในปี 2025 ติดลบ 0.1–1.0 จุด ซึ่งตอนนี้สิงคโปร์ตั้งความหวังว่าจะได้รับข้อยกเว้นด้านนี้
ส่วนทางฝั่งไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง แถลงว่าทีมเจรจาได้ยื่นข้อเสนอสุดท้ายต่อสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยหวังให้ภาษีตอบโต้ลดลงเหลือ 20% สำหรับสินค้าส่งออกมูลค่า 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024 คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งประเทศ
นักวิจัยเศรษฐกิจประเมินว่า หากอัตราภาษีตอบโต้ตกลงที่ 15–20% ไทยจะยังเติบโต 1.1–1.4% ตลอดปีนี้ แต่เตือนว่าความพยายามเจรจาแบบรายประเทศอาจทำให้เอกภาพอาเซียนอ่อนแอ
ด้าน มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ยอมรับยังไม่ถึงขั้น “สถานะสุดท้าย” ในการเจรจากับวอชิงตัน เรื่องหลักที่ยังต้องตกลงคือภาคไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และชิป
ส่วน กัมพูชา ที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ เกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่า 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดนประเมินว่า หากไม่ลดภาษี 65% ของสินค้าจะย้ายฐานผลิตออกนอกประเทศ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราขจัดความยากจนพลิกกลับเป็นลบ และแรงงานอาจตกงานสูง
กลุ่มสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา เตือนว่าจะกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการลดความยากจนจะชะลอตัวเร็ว และหลายคนอาจกลับสู่ความยากจนเพราะขาดโอกาส
การเจรจาช่วงสุดท้ายก่อน 1 สิงหาคมจึงเป็นบทพิสูจน์ “พลังต่อรอง” ของแต่ละชาติในอาเซียนว่า จะได้ข้อตกลงบรรเทาความเสี่ยงทางการค้า และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้หรือไม่