หมอตุลย์ ค้านเลื่อนตำแหน่ง 2 นายแพทย์ตำรวจ ปมถูกแพทยสภาชี้ผิดจริยธรรม-ป.ป.ช. สอบคดี ทักษิณ ชั้น 14
วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
เพื่อขอคัดค้านการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. โดยให้เหตุผลว่านายแพทย์ทั้งสองอยู่ระหว่างถูกสอบสวนในคดีสำคัญ และมีมติชัดเจนจากแพทยสภาว่ากระทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์
นพ.ตุลย์กล่าวว่า การคัดค้านครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกรณีการส่งตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2567 โดยไม่มีการส่งตัวกลับเรือนจำ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยในขณะนั้น พล.ต.ท.โสภณรัชต์ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ และเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว
นพ.ตุลย์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2568 คณะกรรมการแพทยสภามีมติชัดเจนว่า นายแพทย์ตำรวจทั้งสองนายกระทำผิดตามข้อ 16 ของข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 กรณีให้ข้อมูลและเอกสารทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการของทักษิณไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลให้มีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ของ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ เป็นเวลา 3 เดือน และของ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ นายแพทย์ทั้งสองยังถูกผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลอื่น และอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.ชี้กระทบภาพลักษณ์ ตร. หากเลื่อนตำแหน่งช่วงสอบสวน
นพ.ตุลย์ ย้ำว่า การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจทั้ง 2 นาย มีผลให้ทักษิณไม่ต้องรับโทษในเรือนจำตามคำพิพากษา และได้รับการรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างข้อมูลเท็จเกี่ยวกับอาการป่วย ซึ่งเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 112 และหากมีการเลื่อนตำแหน่งในช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง
ข้อเรียกร้องถึง ผบ.ตร. และนายกรัฐมนตรี
นายแพทย์ตุลย์ได้เรียกร้องให้ ผบ.ตร. ดำเนินการ 3 ประการ ได้แก่:
ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และหากพบมูลความผิด ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป
สั่งย้ายข้าราชการตำรวจทั้ง 2 นาย ออกจากตำแหน่งเดิม ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจโดยเด็ดขาด เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในโรงพยาบาลตำรวจที่มีข้อมูลสามารถให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. และศาลได้อย่างเต็มที่
ให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 2 นาย ทำรายงานชี้แจง กรณีการถูกสอบสวนโดยแพทยสภาและ ป.ป.ช. รวมถึงกรณีการเป็นพยานในศาลฎีกา เพื่อส่งประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
นพ.ตุลย์ยังกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้ว่าควรเป็นไปอย่างโปร่งใสและยึดหลักคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุตรสาวของทักษิณ ชินวัตร ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนจับตามองการแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นพ.ตุลย์ยังเชื่อว่าโรงพยาบาลตำรวจยังมีข้อมูลสำคัญที่ถูกปิดบังอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กรณีกล้องวงจรปิดบริเวณชั้น 14 ของโรงพยาบาลที่ระบุว่ามีปัญหาเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งที่กล้องในจุดอื่นยังใช้งานได้ปกติ และยังมีบุคลากรหลายรายที่มีข้อมูลสำคัญแต่ไม่สามารถให้การได้ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลและอำนาจของ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ และ พล.ต.ท.ทวีศิลป์
หลังจากยื่นหนังสือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว นพ.ตุลย์จะเดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้ตรวจสอบและป้องกันไม่ให้มีการเลื่อนตำแหน่งบุคคลที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและถูกชี้มูลว่ากระทำผิดจริยธรรม