พระสมเด็จฯพิมพ์โบราณ ตามตำราตรียัมปวาย
มีประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาเรื่องพระสมเด็จฯของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต กล่าวคือ พระสมเด็จฯแบบสี่เหลี่ยม แบบฐาน 3 ชั้นนั้นมีวิวัฒนาการอย่างไรในการสร้าง ก่อนที่จะมีช่างทองหลวงในราชสำนักเข้ามาช่วยสร้าง ทำโดยช่างสำนักไหนบ้าง มีรูปแบบพิมพ์ทรงและเนื้อหาอย่างไร ก่อนที่จะได้พระสมเด็จฯที่เป็นพิมพ์ทรงมาตรฐาน หรือองค์ครู (ตรียัมปวายเรียกว่า เป็นพิมพ์ทรงหลวงวิจารณ์เจียรนัย) อย่างที่เห็นกันเช่นทุกวันนี้
ตรียัมปวายได้กล่าวไว้ในหนังสือ พระเครื่องประยุกต์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ไว้ว่า “กล่าวกันว่า “นายเทศ” (กล่าวกันว่าเป็นหลานเจ้าพระคุณฯ) บ้านอยู่ถนนดินสอ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ขึ้นถวายท่านเจ้าพระคุณฯ เป็นเบื้องแรก ซึ่งเข้าใจว่าเป็น พิมพ์ทรงเส้นด้าย, พิมพ์ทรงฐานคู่, พิมพ์ทรงสังฆาฏิ เป็นต้น สำหรับพิมพ์ทรงอกครุฑเศียรบาตรนั้น เชื่อกันว่าเจ้าพระคุณฯ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ต่อมาเจ้าวังหลังพระองค์หนึ่ง ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมช่างสิบหมู่ ได้คิดออกแบบใหม่ถวาย กล่าวคือ ได้ดัดแปลงแก้ไขจากแบบเก่าๆ ให้ได้ลักษณะงดงามยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในที่สุด หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงราชสำนัก ร.4 เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ซึ่งนับว่าเป็นแบบพิมพ์ที่งดงามมาก …”
แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์เจาะลึกถึงประเด็นนี้ต่อ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดของพระสมเด็จฯแต่ละพิมพ์ทรงที่เกี่ยวข้อง ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก่อนดังต่อไปนี้
พระสมเด็จฯพิมพ์ทรง “เศียรบาตรอกครุฑ” หรือ “พิมพ์ทรงไกเซอร์”
หนังสือปริอรรถาธิบายเล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย ได้แยกแยะพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ ออกเป็น 4 แบบ 9 พิมพ์ทรงย่อย มีทั้งของวัดระฆังฯและของวัดบางขุนพรหมดังต่อไปนี้
1. แบบพิมพ์โปร่ง มี 2 พิมพ์ทรงย่อย มีเฉพาะของวัดบางขุนพรหม
- พระเกตุปลีเขื่อง พระพักตร์ป้อมสั้น พระศอกลืนหาย ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
- พระเกตุปลียาว พระพักตร์ป้อม ลำพระองค์กึ่งผายโปร่งและนูนเด่น ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
2. แบบพิมพ์เขื่อง มี 4 พิมพ์ทรงย่อย มีทั้งของวัดระฆังฯและวัดบางขุนพรหม
- พระเกตุเรียว พระพักตร์ป้อมกลม พระกรรณบายศรีคมชัด ฯลฯ (วัดระฆังฯ)
- พระเกตุปลี พระพักตร์ป้อมป้าน พระกรรณบายศรีชัด ฯลฯ (วัดระฆังฯ)
- พระเกตุปลียาว พระพักตร์ป้อมกลมนูน ลำพระองค์กึ่งผายเขื่องนูน ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
- พระเกตุปลีขยุกขยิก ลำพระองค์เขื่องนูน พระพาหาเขื่องมาก ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
3. แบบพิมพ์สันทัด มี 2 พิมพ์ทรงย่อย มีทั้งของวัดระฆังฯและวัดบางขุนพรหม
- พระเกตุปลีเขื่อง พระพักตร์ป้อมเขื่อง พระกรรณบายศรีคมชัด ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
- พระเกตุปลี พระพักตร์ป้อมป้าน พระกรรณบายศรีคม ฯลฯ (วัดระฆังฯ)
4. แบบพิมพ์ย่อม มี 1 พิมพ์ทรงย่อย เป็นของวัดบางขุนพรหม
- พระเกตุเรียว พระพักตร์ป้อมมน พระกรรณบายศรีคม ฯลฯ (วัดบางขุนพรหม)
สำหรับเหตุที่เรียกว่า “พิมพ์ทรงไกเซอร์” นั้น “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตสรุปความจากหนังสือ ประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ของ “ฉันทิชัย” ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2494 (นิตยสารตำรวจ) พิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2509 ดังต่อไปนี้
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 นั้น ได้นำพระพิมพ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ไปด้วย เห็นจะเป็นการเสด็จข้ามทวีปครั้งแรก ของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแห่งภาคตะวันออกไกล ปรากฏตามจดหมายเหตุครั้งนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช ทรงกระทำพิธีปรารถนาอธิษฐานพระองค์ต่อหน้า พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตต่อหน้าสมเด็จพระสังฆราช และพระสงฆ์ราชาคณะเป็นทางราชการว่า ไม่มีสรณะอื่นใดยิ่งไปกว่าพระรัตนตรัย อาศัยเหตุนี้ การที่ทรงนำเอาสมเด็จพระพุฒาจารย์ติดไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อ และโดยเฉพาะในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ได้ทรงนำพระไชยเนาวโลหะน้อยประจำพระองค์ ไปด้วยเหมือนกัน …
ตามที่เล่ากันมาว่า พระพิมพ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงนำไปด้วยนั้น เป็นพระพิมพ์ชนิดเศียรบาตร พระพิมพ์นี้ เป็นด้วยลักษณะพระเกตุมาลาป้อมและเขื่อง มีลักษณะคล้ายบาตรเลยเรียกกันว่า “สมเด็จเศียรบาตร” เป็นพระผง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านสร้างด้วยแม่พิมพ์ใหญ่ทำติดกันเป็นแผง มีรอยมือกดด้านหลังพระพิมพ์ 2 รอย สีเนื้อขาวอมเหลืองเป็นพระพิมพ์ที่นิยมกันมาก บางคนก็เรียกกันว่า “ทรงไกเซอร์” การที่เรียก “ทรงไกเซอร์” เป็นด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนำ “สมเด็จเศียรบาตร” ไปด้วยนั้น ทรงเก็บ “สมเด็จ” ไว้ในกระเป๋าฉลองพระองค์ตลอดเวลา ขณะนั้นเสด็จประทับเป็นพระราชอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติของสมเด็จพระเจ้ากรุงเยอรมัน พระเจ้าไกเซอร์แลเห็นเป็นรัศมีออกจากกระเป๋าฉลองพระองค์ จึงประหลาดพระทัยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเก็บอะไรไว้ในกระเป๋าฉลองพระองค์ จึงขอดูของประหลาดในกระเป๋าฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสตอบว่าไม่มีอะไรประหลาดอยู่เลย นอกจากพระพิมพ์องค์เดียว เมื่อพระเจ้าไกเซอร์ทรงรับเอามาทอดพระเนตรแล้วตรัสถามว่า “ปูนหรือ?” ทรงตรัสตอบว่า “ไม่ใช่” แล้วทรงอธิบายถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธานุภาพแห่งการสร้างพระพิมพ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ให้พระเจ้ากรุงเยอรมันฟัง ทำให้พระเจ้ากรุงเยอรมันสนพระทัยในปาฏิหาริย์ที่ทรงตรัสเล่าถวายนั้นเป็นอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงได้ถวายพระพิมพ์เศียรบาตรไว้แก่พระเจ้าไกเซอร์ การที่เรียก พระพิมพ์เศียรบาตร ว่า “ทรงไกเซอร์” มีปฐมเหตุเล่ามาดังนี้”
อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพลแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคยกล่าวไว้ว่า พระพิมพ์นี้สังเกตจากพิมพ์ทรงที่องค์พระมีลักษณะโบราณและสมถะ เช่นเดียวกับองค์เจ้าประคุณสมเด็จโต
พระสมเด็จฯพิมพ์ทรง “เส้นด้าย”
หนังสือปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย ได้แยกแยะพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงเส้นด้าย ออกเป็น 2 แบบหลักๆ โดยยึดเอาตามลักษณะของวงแขนมาใช้ในการแบ่ง คือแบบพิมพ์แขนวง มี 4 พิมพ์ทรงย่อยและแบบพิมพ์แขนทอดมี 14 พิมพ์ทรงย่อย รวมทั้งสิ้น 18 พิมพ์ทรงย่อย โดยเป็นของวัดบางขุนพรหมทั้งหมด ในการแบ่งพิมพ์ทรงย่อยนั้น สามารถสรุปลักษณะหลักของพิมพ์ทรงย่อยต่างๆได้ดังนี้
- ตามลักษณะของพระเกตุ มีแบบ พระเกตุทะลุซุ้มฯ พระเกตุเรียว พระเกตุเรียวยาว พระเกตุปลี พระเกตุปลียาว ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระพักตร์ มีแบบ พระพักตร์ตั๊กแตน พระพักตร์เสี้ยม พระพักตร์ป้อม พระพักตร์รูปไข่ ฯลฯ
- ตามลักษณะของลำพระองค์ มีแบบ ลำพระองค์ตัววี ลำพระองค์ตื้น ลำพระองค์กึ่งผาย ลำพระองค์เลือน ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระเพลา มีแบบ พระเพลากว้าง พระเพลาแคบ พระเพลาบาง พระเพลาโค้ง พระเพลาหนา พระเพลาเรียวคม ฯลฯ
- ฯลฯ
พระสมเด็จฯพิมพ์ทรงฐานคู่
หนังสือปริอรรถาธิบายเล่มที่ 1 ของ ตรียัมปวาย ยังได้แบ่งพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงฐานคู่ออกเป็น 2 แบบหลักๆ เช่นกัน โดยเป็นของวัดบางขุนพรหมทั้งหมด คือ แบบพิมพ์ฐานเส้น มีจำนวน13 พิมพ์ทรงย่อย และ แบบพิมพ์ฐานหนา มีจำนวน5 พิมพ์ทรงย่อย รวมเป็น 18 พิมพ์ทรงย่อย โดยยึดเอาลักษณะของเส้นอาสนะ (ฐาน) ที่มีแบบฐานเส้นหรือฐานหนาเป็นจุดบอกถึงความแตกต่าง ส่วนในการแบ่งพิมพ์ทรงย่อยนั้น สามารถสรุปลักษณะหลักของพิมพ์ทรงย่อยต่างๆได้ดังนี้
- ตามลักษณะของพระเกตุ มีแบบ พระเกตุทะลุซุ้ม พระเกตุเรียว พระเกตุปลี พระเกตุปลีงาม พระเกตุปลีทะลุซุ้ม พระเกตุปลีคดกริช ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระพักตร์ มีแบบ พระพักตร์ตั๊กแตน พระพักตร์ตั๊กแตนอิ่ม พระพักตร์เสี้ยม ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระกรรณ มีแบบ พระกรรณหูแพะ พระกรรณหูช้าง ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระอุระ มีแบบ พระอุระร่องลึก พระอุระตัน ฯลฯ
- ฯลฯ
พระสมเด็จฯพิมพ์ทรงสังฆาฏิ
หนังสือปริอรรถาธิบายเล่มที่ 1 ของ ตรียัมปวาย ได้แบ่งพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงสังฆาฏิออกเป็น 4 แบบหลักๆโดยเป็นของวัดบางขุนพรหมทั้งหมด ตามลักษณะที่แตกต่างกันของท่อนแขนองค์พระ คือ แบบพิมพ์แขนวงเกตุทะลุซุ้ม มีจำนวน 1 พิมพ์ทรงย่อย, แบบพิมพ์แขนวง มีจำนวน 9 พิมพ์ทรงย่อย, แบบพิมพ์แขนวงกึ่งหักศอก มีจำนวน 3 พิมพ์ทรงย่อย, แบบพิมพ์หักศอก มีจำนวน 5 พิมพ์ทรงย่อย รวมทั้งสิ้น 18 พิมพ์ทรงย่อย ในการแบ่งพิมพ์ทรงย่อยนั้น สามารถสรุปลักษณะหลักที่ปรากฏบนพิมพ์ทรงย่อยต่างๆออกมาได้ดังนี้
- ตามลักษณะของพระเกตุ มีแบบ พระเกตุทะลุซุ้ม พระเกตุเรียว พระเกตุเรียวมาก พระเกตุเรียวทะลุซุ้ม พระเกตุเรียวยาว พระเกตุเรียวยาวทะลุซุ้ม พระเกตุปลียาว พระเกตุปลีคดกริช พระเกตุคดกริชทะลุซุ้ม พระเกตุเรียวคดกริช ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระพักตร์ มีแบบ พระพักตร์ตั๊กแตน พระพักตร์ป้อม พระพักตร์เสี้ยม ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระกรรณ (มีทั้งแบบมีหูและไม่มีหู) มีแบบ พระกรรณหูแพะบาง พระกรรณหูช้าง พระกรรณระย้า ฯลฯ
- ตามลักษณะของลำพระองค์ มีแบบ ลำพระองค์อกร่องโค้งงาม ลำพระองค์อกร่องธรรมดา ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระเพลา มีแบบ พระเพลาโค้งขัดราบ พระเพลาขัดราบกว้าง พระเพลาขัดเพชร ฯลฯ
- ตามลักษณะของพระอาสนะ มีแบบ พระอาสนะบาง พระอาสนะแบบหนา พระอาสนะบางแซม พระอาสนะแบบหนาแซม ฯลฯ
- ฯลฯ
(อย่างไรก็ตามครูอาจารย์ท่านอื่นอาจจะมีการแบ่งแยกพิมพ์ทรงย่อยของพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงที่กล่าวมาแตกต่างออกไปบ้างก็เป็นได้ แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ตรียัมปวาย เป็นผู้วางรากฐานที่สำคัญท่านหนึ่งในการศึกษาพระสมเด็จฯของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต)
แม่พิมพ์ของวัดระฆังฯ เดิมหรือแม่พิมพ์สร้างใหม่ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม
หนังสือพระเครื่องประยุกต์ ของตรียัมปวาย พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ยังได้พูดถึงกรณีการสร้างพระสมเด็จฯ วัดบางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ. 2413 ไว้ด้วยว่า “ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาทำพิธีสร้างพระสมเด็จฯ ที่วัดอินทรวิหาร แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ประธานของวัดใหม่อมตรส การสร้างต้องการปริมาณมาก จึงใช้แม่พิมพ์ทุกแบบของวัดระฆังฯ ที่เป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า แม้จะเป็นบางแบบพิมพ์เลิกสร้างที่วัดระฆังฯ แล้ว เช่นพิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่ก็ตาม …”
น่าสนใจว่า พระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงเส้นด้าย, พิมพ์ทรงฐานคู่ และน่าจะรวมถึงพิมพ์ทรงสังฆาฏิ ของวัดบางขุนพรหมที่ตรียัมปวาย กล่าวถึงในหนังสือปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 1 ที่ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” นำมาสรุปไว้ข้างต้นนั้น เป็นพระสมเด็จฯ ที่ใช้แม่พิมพ์ของวัดระฆังฯ ที่ทำโดย “นายเทศ” ที่สร้างไว้ในช่วงแรก ตามที่ตรียัมปวายกล่าวไว้ในหนังสือ พระสมเด็จประยุกต์ (หรืออาจเรียกว่าเป็นพิมพ์โบราณ) หรือเป็นแม่พิมพ์ที่แกะขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมโดยเฉพาะ ทำโดยช่างสิบหมู่หรือช่างทองหลวง ที่เป็นช่างชุดเดียวกับที่แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงมาตรฐาน โดยเป็นการเลียนแบบพิมพ์ทรงเดิมของ นายเทศ (อาจรวมถึงช่างชาวบ้านที่เข้ามาช่วยงานวัด)
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงความหลากหลายทางมิติของแต่ละพิมพ์ทรงที่มีปรากฏ ดังเช่นที่ตรียัมปวายแยกแยะออกมาเป็นพิมพ์ทรงย่อยเป็นจำนวนมากถึง 18 พิมพ์ทรงย่อยสำหรับแต่ละพิมพ์ทรง “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตอนุมานว่าความหลากหลายทางมิติที่มีจำนวนมากนี้ส่วนใหญ่เกิดจากแม่พิมพ์ที่มีการสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก (น่าจะเป็นในช่วงที่มีการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม) นั่นเอง
ข้อสันนิษฐานนี้มาจากเหตุผลที่ว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นมีการสร้างจำนวนมากในเวลาที่มีจำกัด ทำให้ต้องสร้างแม่พิมพ์สำหรับแต่ละพิมพ์ทรงไว้หลายแม่พิมพ์ เพราะการใช้แม่พิมพ์จำนวนน้อยแม่พิมพ์ต่อหนึ่งพิมพ์ทรงย่อมสามารถสร้างพระได้ในจำนวนที่ค่อนข้างน้อย และการที่ต้องมีการสร้างแม่พิมพ์ไว้เป็นจำนวนมากนั้นเหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะมาจากแม่พิมพ์ที่สร้างนั้นอาจจะไม่มีความคงทนมากนัก เมื่อมีการใช้งานระยะหนึ่งจะมีการสึกหรอ ทำให้ต้องมีการสร้างแม่พิมพ์ไว้ทดแทนด้วย การสึกหรอที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสองปัจจัยหลักๆ คือ วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์และวัสดุที่ใช้ทำพระ เนื้อพระนั้นส่วนใหญ่ทำจากปูนเปลือกหอยที่มีความแข็งทำให้แม่พิมพ์สึกหรอได้ง่าย สำหรับวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์นั้น อาจจะทำจากหินสบู่ หินลับมีด หรือจากไม้ การสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้น แม่พิมพ์ส่วนใหญ่น่าจะทำจากไม้ สังเกตได้จากพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมส่วนใหญ่นั้น จะปรากฏขอบปลิ้น และองค์พระมีการโก่งตัวขึ้น (แบบด้านหลังตรงกลางแตะพื้น สำหรับพระสมเด็จวัดระฆังจะโก่งตัวในทิศทางตรงข้าม – ข้อมูลจาก นิรนาม ผู้ชำนาญการพระสมเด็จฯ กล่าวไว้ในหนังสือพรีเชียส ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) ซึ่งน่าจะเกิดจากวิธีการผลิต ที่เป็นการนำเอาแม่พิมพ์ไม้กดลงบนเนื้อพระแล้วดึงแม่พิมพ์ขึ้นทำให้มีเนื้อพระถูกดูดตามขึ้นมาตามแรงเสียดทานจากแม่พิมพ์ (แม่พิมพ์ไม้ชนิดนี้เวลาสร้างแม่พิมพ์มักจะตัดขอบแม่พิมพ์พอดีกับเส้นกรอบบังคับพิมพ์) พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่ไม่มีลักษณะเช่นนี้ (ไม่มีขอบปลิ้น) เข้าใจว่าสร้างจากแม่พิมพ์หินสบู่ที่เป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ เวลาผลิตจะใช้เนื้อพระกดลงบนแม่พิมพ์ หรืออาจสร้างจากแม่พิมพ์ไม้ที่ตัดปีกกว้างเลยกรอบบังคับพิมพ์ไปมาก เวลาผลิตอาจจะใช้แม่พิมพ์กดบนเนื้อพระหรือใช้เนื้อพระกดบนแม่พิมพ์ก็ได้
บทส่งท้าย
น่าสนใจว่า ถ้าอ้างตามตำราตรียัมปวาย แม่พิมพ์โบราณของวัดระฆังฯ ทั้ง 3 แม่พิมพ์นี้ กล่าวคือ พิมพ์ทรงเส้นด้าย, พิมพ์ทรงฐานคู่ และทรงพิมพ์ทรงสังฆาฏิ ที่สร้างโดยนายเทศ (และน่าจะรวมถึงกลุ่มช่างชาวบ้าน) รวมถึงพิมพ์เศียรบาตรอกครุฑ ที่กล่าวกันว่าออกแบบโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตนั้น มีอิทธิพลอย่างไรต่อการออกแบบพิมพ์ทรงของ ช่างสิบหมู่และช่างทองหลวง ที่เข้ามาช่วยออกแบบพระสมเด็จพิมพ์ทรงมาตรฐานทั้งของวัดระฆังฯ และวัดบางขุนพรหมในช่วงท้ายของการสร้างพระสมเด็จฯ น่าสังเกตว่าพระสมเด็จฯ พิมพ์ทรงเส้นด้ายและพระสมเด็จพิมพ์เศียรบาตรอกครุฑนั้น เป็นพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมฐาน 3 ชั้น ที่มีลักษณะที่แสดงถึงพระวรกายที่สมบูรณ์ของพระพุทธองค์เป็นลักษณะที่ทรงตรัสรู้แล้ว เป็นพุทธศิลป์แบบสังเขป มีความสมมาตร ในขณะที่พิมพ์ทรงฐานคู่ และทรงพิมพ์ทรงสังฆาฏินั้น ถึงแม้จะเป็นพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมฐาน 3 ชั้นเช่นกัน แต่ยังได้รับอิทธิพลในการออกแบบมาจากพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น ที่เป็นแบบทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่มากเช่นกัน
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมองค์ครู เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ ที่งดงามมากองค์หนึ่ง มีคราบขี้กรุบางๆ ปกคลุมทั้งองค์ มีวรรณะขาวอมเหลืองสะอาด พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา มีความสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์ของพิมพ์ทรงคือฐานทั้งสามชั้นเป็นเส้นคู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ทรง และเส้นจีวรทั้ง 2 เส้นจะวิ่งขึ้นไปชนเส้นอกตรงๆ (ถ้าเป็นพิมพ์ฐานแซมวัดบางขุนพรหม เส้นจีวรจะมีลักษณะผายออกไปทางซอกแขนทั้ง 2 ข้าง) ขอบพระปรากฏขอบปลิ้นชัดเจน ซึ่งขอบปลิ้นมักจะพบในพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เส้นกรอบบังคับพิมพ์ด้านบนปรากฏการนูนให้เห็น ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบ เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม
ผู้เขียน พ.ต.ต. คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์
อ่านคอลัมน์ ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ เพิ่มเติม
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระสมเด็จฯพิมพ์โบราณ ตามตำราตรียัมปวาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พระสมเด็จฯพิมพ์โบราณ ตามตำราตรียัมปวาย
- ลายแทงพระสมเด็จฯ ตามรอยขรัวโต
- สมเด็จจิตรลดา ใบมะขาม พระเครื่องฝีพระหัตถ์ ร.๙ ใครมีเป็น มงคลชีวิต
- แกะรอยพระสมเด็จฯ ตามตำราโบราณ
- พระบูชาไพรีพินาศรุ่นแรกปี 2495 พุทธคุณล้น พระหายาก มูลค่าสูงมาก
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath