โลกอีกใบมาสร้างไว้ในที่ทำงาน? อะไรทำให้คนนอกใจแฟนมาแอบเล่นชู้กับเพื่อนร่วมงาน
“รู้ปะ มีรุ่นพี่ที่ออฟฟิศฉันเขาแอบกิ๊กกัน ทั้งที่ต่างฝ่ายก็แต่งงานกันแล้วนะ”
“ออฟฟิศฉันก็มี”
“ที่ทำงานฉันก็ด้วย”
ทุกครั้งเวลาเปิดบทสนทนาเรื่องความรักที่ออฟฟิศกับเพื่อนวัยเรียนทีไร เป็นต้องได้ยินเรื่องแอบเล่นชู้ของคนที่ทำงานทุกครั้งไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน แถมยังเป็นคนละสายงาน แต่เรื่องคล้ายๆ กันนี้ดันเกิดขึ้นได้แทบทุกวงการ แค่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้นเอง
ความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงแบบนี้เกิดได้ไม่ว่ากับใคร ตั้งแต่เจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงานรุ่นเดียวกัน ไปจนถึงรุ่นพี่กับรุ่นน้อง แม้จะรู้ว่าผิดแต่ก็ยังแอบกุ๊กกิ๊กแบบไม่แคร์สายตาใคร แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องมาเป็นพยานรู้เห็น (ทั้งที่ไม่อยากรู้) เรื่องส่วนตัวของคนในออฟฟิศ จนกลายเป็นความอึดอัดใจในที่ทำงาน
จากตอนแรกที่คิดว่าเรื่องความเจ้าชู้เป็นนิสัยเฉพาะตัว แต่พอเจอเหตุการณ์นี้ซ้ำๆ หลายครั้งเข้าก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ที่ทำงานกลายเป็นสถานที่ลักลอบคบกันของพวกคนมีเจ้าของนะ แล้วเรื่องส่วนตัวนี้จะไม่ส่งผลต่อการทำงานจริงหรือเปล่า?
เมื่อเส้นเพื่อนร่วมงานหายไป
ไม่ว่าจะคุยกับใคร ก็เป็นอันต้องเคยเห็นคนในออฟฟิศนอกใจแฟนทั้งนั้นกัน เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นง่ายขนาดนั้นจริงเหรอ
อันที่จริงการนอกใจในที่ทำงานเกิดขึ้นบ่อยและไม่ได้เป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกกันไปเอง ลอรี ฮอลแลนเดอร์ (Lori Hollander) นักบำบัดด้านครอบครัวและคู่สมรส ระบุใน Good Therapy ว่า คนนอกใจส่วนใหญ่หรือราว 85% มักเริ่มต้นในที่ทำงาน ด้วยเปอร์เซ็นต์ที่สูงขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่หลายๆ คนจะเคยพบเห็นเรื่องความรักต้องห้ามทำนองนี้บ่อยๆ
แน่นอนว่าการนอกใจมันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานที่ต้องการความเป็นมืออาชีพในการทำงาน หลายคนจึงพยายามไม่เอาเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวมาปะปนกัน แต่ถึงจะรู้แบบนั้น แล้วอะไรยังทำให้บางคนยังเลือกจะก้าวข้ามเส้นศีลธรรมนี้กันละ
มีการสำรวจจาก Society for Human Resource Management (SHRM) ปี 2022 พบว่าสถานที่ทำงานเอื้อให้คนเกิดความรักขึ้นได้ง่าย แถมยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 33% ของพนักงานชาวอเมริกันระบุเคยมีความรักในที่ทํางาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ก่อนช่วงโรคระบาดปี 2019
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หลายคนตกหลุมรักคนในที่ทำงาน เอมี่ กอร์ดอน (Amie Gordon) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาความสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัย Michigan อธิบายว่า ที่ทำงานเอื้อต่อการก่อตัวของความใกล้ชิดและความคุ้นเคย ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่นำไปสู่ความรัก ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก ของ โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) นักจิตวิทยาที่อธิบายว่า ความรักประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ความใกล้ชิด ความปรารถนา และการผูกมัด
ลองนึกภาพการทำงานที่ต่างฝ่ายต่างต้องทำงานด้วยกันตลอดเวลา แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยเรื่องงาน แต่การพูดคุย หรือปรึกษากัน ก็ทำให้เกิดความใกล้ชิดและความรู้สึกดีๆ ต่อกัน และยิ่งทั้งคู่ผ่านช่วงเวลายากลำบาก เช่น งานเร่ง หรือโปรเจ็กต์สุดหิน ด้วยกันมา ก็ยิ่งเพิ่มความรู้สึกเป็นทีมเดียวกัน หากทั้งคู่ยังโสดก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะความรักในที่ทำงานเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็นคือหากต่างฝ่ายต่างมีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว ดันมาแอบเล่นชู้กันในที่ทำงานก็อาจมีปัญหาใหญ่ตามมาได้
อย่างไรก็ตาม แม้ความใกล้ชิดและความคุ้นเคยจะมีส่วนทำให้เกิดความรัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าจะเกิดกับทุกคนเสมอไป อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจจาก เลอ กอย (Le Goy) นักบำบัดคู่รักในลอสแองเจลิส อธิบายเพิ่มว่า สิ่งที่ทำให้คนเรานอกใจไปคบกับคนที่ทำงาน อาจเพราะรู้สึกว่าคนที่ทำงานดูน่าดึงดูดกว่า เมื่อเทียบกับการกลับไปเจอคู่ของตัวเองจริงๆ ที่มักเหนื่อยล้าจากการดูแลลูกๆ หรือพูดคุยเฉพาะเรื่องบิลค่าใช้จ่าย และงานบ้าน ในขณะที่การอยู่กับชู้รักในที่ทำงานมักเต็มไปด้วยความมั่นใจ และดูเหมือนเป็นคนมีความสามารถมากกว่า จึงทำให้รู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลเหล่านี้จะเป็นข้อแก้ตัวสำหรับการนอกใจ เพราะการแอบมีความสัมพันธ์ลับๆ คือการหักหลังความไว้วางใจของคนรักอย่างร้ายแรง แถมยังถือเป็นการฉวยโอกาสใช้ความใกล้ชิดในที่ทำงานมาเป็นข้ออ้าง โดยที่คนรักที่รออยู่ที่บ้านไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเขาแค่สนิทกันเพราะงานหรือกำลังสวมเขาให้อยู่แน่
แอบคบกันแต่ทำคนอื่นเดือดร้อน
แม้ความรักจะเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคน แต่ในกรณีการนอกใจกับคนในที่ทำงาน อาจไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างที่คิด จะให้เพื่อนร่วมงานทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นก็อาจจะยากสักหน่อย เพราะเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็อาจทำให้บรรยากาศการทำงานอึดอัดขึ้นไม่น้อย
การนอกใจในที่ทำงานส่งผลต่อทั้งด้านการทำงานและความสัมพันธ์ เจนนิเฟอร์ มิซกาต้า (Jennifer Mizgata) ที่ปรึกษาด้านอาชีพอธิบายว่า เหตุการณ์นี้ย่อมส่งผลกับงาน และทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกลำบากใจ
ในเรื่องงาน แน่นอนว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคนที่ทำนอกใจ หรืออาจเป็นหัวข้อในวงสนทนา จนอาจนำมาสู่ความไม่เช่ือใจในการทำงาน และแย่ยิ่งกว่าเมื่อคนนั้นเป็นหัวหน้า หรือผู้บริหารเพราะแม้จะไม่มีใครกล้าพูดถึงต่อหน้าให้ได้ยิน แต่ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจ เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนตามมา เช่น เข้าข้างคนใดคนหนึ่ง ปล่อยให้มีคนทำงานหนักกว่า หรือไม่ยอมตัดสินตามความเป็นจริง จนกระทบกับการทำงานได้
ส่วนฝั่งเพื่อนร่วมงาน ก็อาจเกิดความรู้สึก moral distress หรือภาวะบีบคั้นทางศีลธรรม หมายถึงการที่เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันผิด แต่กลับไม่มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เช่น เราเห็นคนแอบนอกใจแฟน เล่นชู้กันในที่ทำงาน จนเรารู้สึกเครียดและเหนื่อยล้ากับสถานการณ์ที่ได้รับรู้มา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการนิ่งเงียบ แม้จะเห็นใจครอบครัวของคนที่ถูกนอกใจก็ตาม
ในสถานการณ์นี้ที่ปรึกษาด้านอาชีพก็ได้ให้คำแนะนำว่า หากรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจและการทำงานของตัวเอง อาจลองพูดคุยกับพวกเขาได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็ตาม ท่าทีการพูดคุยอาจจะไม่ใช่เดินไปบอกตรงๆ ว่าการที่เขาแอบคบกันผิดหรือถูก แต่ให้เป็นการสื่อสารที่เน้นเรื่องงานเป็นหลัก ว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกับการทำงานยังไง หรือทำให้งานเรามันยากขึ้นยังไงบ้าง
อย่างไรก็ตาม เรื่องความสัมพันธ์มักเป็นเรื่องซับซ้อน ดังนั้นเราอาจต้องกลับมาชั่งใจอีกทีว่า ในสถานการณ์ที่เราเจอควรวางตัวอย่างไร ควรนิ่งเงียบเพื่อให้เราทำงานต่อไปได้ แม้จะรู้สึกอึดอัด หรือลองเผชิญหน้า ให้อีกฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของเรา เพื่อให้เราสามารถทำงานง่ายขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อรับมือกับปัญหาแบบนี้ ดังนั้นจึงอาจไม่มีวิธีรับมือที่ถูกต้องที่สุด หากแต่เป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นมากกว่า
แล้วทุกคนล่ะ ถ้าต้องอยู่ในสถานการณ์นี้ มีวิธีรับมือยังไงกันบ้าง?
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editorial Staff: Runchana Siripraphasuk