โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘Work Intensification’ เมื่องานที่ทำเข้มข้นขมปี๋ขึ้น จนทำให้เราอ่อนล้าทั้งกายใจ

The MATTER

อัพเดต 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Lifestyle

“ไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำงาน”

เสียงในหัวดังสนั่นก้องกังวาลอยู่ในความคิดทุกเช้า และทุกครั้งที่สองเท้าก้าวเข้าสู่ออฟฟิศ อารมณ์ไม่อยากทำงานก็พลุ่งพล่าน แต่จะหันหลังกลับบ้านเลือกไม่ทำงานเลยก็ไม่ได้อีก เพราะคนเราต้องกินต้องใช้ จึงทำได้เพียงภาวนาอยู่ในใจ ขอให้วันนี้มันหมดไปสักที

ไม่รู้ว่าคิดไปเองไหม แต่ทำไมงานช่วงนี้ดูหนักอึ้งขึ้นกว่าเก่า พยายามบอกตัวเองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในหน้าที่การงาน แต่แบบนี้ก็โตไวไปไหมนะ แม้ในส่วนของงานที่ต้องรับผิดชอบจะมีมากขึ้นจริง แต่ก่อนหน้านี้เราก็ผ่านมาได้ตลอด พอถึงคราวนี้ทำไมเรากลับรู้สึกท้อและเหนื่อยกับงาน จนบางทีก็สูบพลังงานพลังใจเรา ต่อให้หลังเลิกงานจะหาความสุขมาเติมพลัง ก็เติมไม่ขึ้น ราวกับมันหายเกลี้ยงไปกับการทำงานหมดแล้ว

ไม่ใช่แค่งานที่มากขึ้น แต่มันอาจเข้มข้นขึ้นด้วยต่างหาก แม้จะทำงานอยู่ที่เดิมและมีเวลาทำงานเท่าเดิม ถึงอย่างนั้นเรากลับรู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักขึ้น แถมยังกินพื้นที่ในใจเรามากขึ้นในทุกวัน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับงานกันแน่ หรือเราโดนงานเล่นเข้าให้แล้ว?

งานเข้มข้นไม่ใช่เพราะงานอย่างเดียวหรอก

ไม่เข้มข้นเราไม่นอน ไม่เข้มข้นเราไม่นอน

ส่วนงานนี้เข้มข้นจนขมปี๋ เราก็ไม่ได้นอนอยู่ดี เพราะงานมันไม่ได้แค่เยอะ แต่ยังซับซ้อนกว่าที่คิด แต่ก่อนที่จะรู้ว่าเราจะได้นอนหรือไม่นั้น มาทำความรู้จักก่อนดีกว่าว่า ความเข้มข้นของงาน หรือที่เรียกกันว่า Work Intensification คืออะไรกัน

หากว่าตามนิยามของ ฟรานซิส กรีน (Francis Green) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การทำงานและการศึกษาที่ UCL Institute of Education ผู้ศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มของความกดดันและความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นในการทำงาน ได้ให้นิยามคำว่า Work Intensification คือภาวะที่พนักงานต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจมากขึ้นในการทำงานแต่ละวัน ซึ่งไม่ใช่แค่มีงานกองให้ทำเยอะขึ้น แต่อาจมีเรื่องของเวลาหรือความซับซ้อนในการทำงานที่เข้ามาบีบรัด จนทำให้เรารู้สึกถึงความเข้มข้นและความหนักอึ้งที่ต้องแบกรับในการทำงาน

ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยจากสภาองค์การลูกจ้างแห่งสหราชอาณาจักร (TUC) พบว่า สาเหตุที่ทำให้เราในฐานะคนทำงานรู้สึกว่า งานมันดูเข้มขึ้นอาจมาจาก 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

งานล้นมือจนเกินไป

ถ้างานเยอะขึ้น เราแค่จัดการมันให้เสร็จ เท่านั้นก็จบ แต่ถ้างานเยอะขึ้น แต่เราดันไม่มีเวลาจัดการ ก็คงยิ่งทวีความเหนื่อยให้ตัวเราพอสมควร ลองนึกภาพว่า วันนี้เรามีงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่จำนวนหนึ่ง ทว่าระหว่างนั้น เราก็ต้องเข้าประชุมกับหัวหน้าทีมนู้น ลูกน้องทีมนี้ ประชุมวนไปอยู่อย่างนั้น แทนที่งานจะเสร็จ กลับถูกกลับคาไว้อย่างนั้น หาเวลากลับมาทำต่อแทบไม่ได้ ซึ่งก็ไม่แปลกเลยหากเราจะรู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงานที่ล้นมือขนาดนี้

งานต้องพึ่งคนอื่นมากเกิน

สำนวน ‘สองหัวดีกว่าหัวเดียว’ คงใช้ได้ดีหากมีอยู่แค่สองหัวจริงๆ เพราะถ้ามีมากกว่านี้ มันก็คือความวุ่นวายดีๆ นี่เอง เมื่องานต้องผ่านหลายฝ่าย หลายมือ เดี๋ยวรอบแรกให้คนในทีมช่วยกันดู รอบถัดไปให้หัวหน้าตรวจ หลังจากนั้นก็ให้ผู้บริหารฝ่ายนู้นฝ่ายนี้อนุมัติ กว่าจะปิดจบหนึ่งงานได้ แทบจะเป็นทูตสัมพันธไมตรีอยู่แล้ว เราจึงอาจรู้สึกว่างานมันเข้มข้นหรือหนักอึ้งขึ้นได้จากการทำงานรูปแบบนี้

ที่ทำงานกลายเป็นสถานที่ท้าทายทางอารมณ์

อยู่ในออฟฟิศก็เป็นตัวโดนของหัวหน้า พอไปเจอลูกค้าก็กลายเป็นสนามอารมณ์ให้เขาอีก เมื่อที่ทำงานกลายเป็นสถานที่ท้าทายทางอารมณ์เช่นนี้ จะให้เราทำงานแบบสบายๆ ก็คงยาก จากในตอนแรกที่งานของเราดูธรรมดา ความเข้มข้นและความท้าทายก็ได้ทวีขึ้นในพริบตา จนบางครั้งกว่างานจะเสร็จ เรียกได้ว่าแทบรากเลือดเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจจาก Anthrome Insight บริษัทที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพองค์กร ซึ่งได้ทำการสำรวจพนักงาน 1,000 คน ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ไปจนถึงระดับผู้บริหารระดับสูงใน 5 อุตสาหกรรม ผลสำรวจนั้นชี้ให้เห็นว่า เหล่าคนทำงานต้องเผชิญกับความรู้สึกของงานที่เข้มข้นขึ้นอยู่ไม่น้อยเลย โดยมากกว่าครึ่ง (ประมาณ 62%) ประสบกับปัญหางานล้นมือ คนทำงานมากกว่า 1 ใน 4 รู้สึกถึงความซ้ำซ้อนของการทำงานที่ต้องวนไปมาหลายแผนกกว่าจะจบงาน และเกือบ 1 ใน 3 พวกเขาต้องรับมือทางอารมณ์จากทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า

ลองนึกภาพตามว่า แม้เนื้องานจะเหมือนเดิม เวลาทำงานเท่าเดิม แต่สาเหตุที่ยกมาเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จึงไม่แปลกเลยหากเราจะรู้สึกถึงความเข้มข้นที่เพิ่มมากขึ้น ราวกับเป็นภาระหน้าที่อันใหญ่ยิ่งที่เราต้องแบกรับ

งานเข้มข้นขึ้นกระทบเรายังไงบ้าง

แค่งานระดับปกติยังรู้สึกเหนื่อยจนท้อ พองานเริ่มเข้มขึ้นเรื่อยๆ ขนาดนี้ จะให้เราทำตัวสบายๆ ก็คงยาก งานศึกษาจากคณะจิตวิทยา University of Tampere ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพนักงานต้องแบกรับภาระงานที่ทวีคูณความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงาน จนหมดไฟในการทำงานไปในท้ายที่สุด

อีกทั้งการต้องเผชิญกับสถานการณ์ในการทำงานเช่นนี้ ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดสะสม หรือแม้แต่อารมณ์ที่แปรปรวนได้ง่ายมากขึ้น เพราะเมื่อร่างกายและจิตใจต้องทำงานหนักเกินพอดีเป็นเวลานาน สมองและจิตใจเราก็อาจไม่มีเวลาพอจะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาชิ้นเดียวกันนี้เองยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า งานที่เข้มข้นขึ้นมีแต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานลดลง ในบางแง่มุมอาจมองได้ว่า การทำงานที่มีความเข้มข้นอาจช่วยให้เราทำงานได้ดี และสร้างผลลัพธ์ออกมาได้เยอะกว่าเดิม แต่ในความเป็นจริง มันจะทำให้ทักษะการจัดการงาน และการลำดับความสำคัญของงานเราลดลงอย่างรวดเร็ว

ในวันที่เราต้องปิดจบงานหลายชิ้นพร้อมกัน แต่ตอนเช้ายังต้องเข้าประชุมมากมาย แถมตอนบ่ายยังต้องวิ่งไปเจอลูกค้าอีก ถ้าไม่ใช่ยอดมนุษย์ก็คงไม่สามารถจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แบบได้ทันเวลา หากประสิทธิภาพการทำงานที่เคยโดดเด่นจึงอาจเลือนหาย และค่อยๆ ลดลงได้

หลายครั้งเราอาจรู้สึกท้อแท้และหมดไฟในการทำงาน ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่เก่ง หรือผ่านความท้าทายไปไม่ได้หรอก เพียงแต่บางครั้งงานที่ทำอยู่อาจเข้มข้นเกินกว่าเราจะรับมือนั่นเอง

วิธีรับมือเมื่องานมันเข้มข้นเกิน

ไหนๆ งานจะสู้เราขนาดนี้แล้ว ก็ขอสู้มันกลับหน่อยละกัน

อาจไม่ต้องถึงกับตั้งการ์ดพร้อมไฟต์ ขอแค่เตรียมจิตใจเอาไว้ให้พร้อมก็เพียงพอแล้ว ส่วนจะสู้กับงานกลับอย่างไรนั้น มาดูวิธีจาก เมลิสซา สวิฟต์ (Melissa Swift) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Anthrome Insight กัน

พูดคุยกับหัวหน้าโดยตรง ไม่ต้องอ้อมค้อม

หากถึงจุดที่เรารู้สึกว่า งานมันล้นมือจนเกินจะแบกรับไหวแล้ว อาจลองเดินเข้าไปคุยกับหัวหน้าอย่างจริงจังเกี่ยวกับภาระงานที่มากเกินไป ก็ดูเข้าท่าไม่น้อยเลย นอกจากจะทำให้เขาเห็นด้วยแล้วว่าเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ ยังถือเป็นช่วงเวลาดีที่เราจะได้ฟีดแบ็กอีกฝ่าย เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาทีมหรือองค์กรได้ต่อไปด้วย

หาวิธีทำงานไม่ให้ซ้ำไปมา

เชื่อว่าหลายคนที่ต้องเจอกับการทำงานแบบส่งให้ฝ่ายนู้นที ฝ่ายนี้ที ไม่จบไม่สิ้น คงเบื่อหน่ายกับกระบวนการอันแสนวุ่นวายนี้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเราพาลเบื่อหน่ายกับงานจนหมดไฟเสียก่อน อาจลองคุยกับทีมหรือคนที่เกี่ยวข้องในการหารือถึงวิธีการที่จะช่วยให้พนักงานไม่ต้องมาทำงานซ้ำไปซ้ำมา เช่น ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นทิ้งได้ไหม หรือมีวิธีไหนที่จะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น โดยที่ไม่มีใครต้องเหนื่อยเพิ่มได้หรือเปล่า

ตั้งขอบเขตให้ชัดเจน เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายทางอารมณ์

เมื่ออารมณ์เริ่มอยู่เหนือเหตุผล เราต้องรีบแสดงออกอย่างชัดเจนให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า การพูดคุยงานเริ่มมีอารมณ์เข้ามาแล้ว และเราต้องไม่เอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ที่ใช้อารมณ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นคนกลางสำหรับไกล่เกลี่ยปัญหา หรือถ้าเพื่อนร่วมงานมีปากมีเสียง ก็อาจต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปเจรจากันนอกรอบ เพื่อไม่ให้ช่วงเวลาการทำงานเต็มไปด้วยสนามอารมณ์

ฝึกโฟกัสงานให้ถูก

เมื่องานเยอะจนล้น แถมยังมีภารกิจนู้นนี้ให้ต้องทำอีกมากมาย การโฟกัสและลำดับความสำคัญของงานให้ดี ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านี้ไปได้ เมื่องานที่เราทำอยู่มีความเข้มข้นหรือมากจนเกินพอดี อาจลองพิจารณาดูว่างานไหนสำคัญที่สุด จัดลำดับและค่อยๆ ลงมือทำ

การได้ทำอะไรที่หลากหลายและท้าทายสามารถช่วยพัฒนาทักษะในการทำงานของเราได้ในบางมุม แต่หากถึงขั้นกระทบต่อจิตใจหรือตัวเราในทางลบมากเกินไป ก็อาจถึงเวลาที่เราจะต้องลองปรับใช้วิธีเหล่านี้เพื่อต่อสู้และเอาชนะงานให้ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสู้ทุกทาง ทำทุกอย่าง จนประเมินแล้วว่าเราไม่สามารถแบกรับความเข้มข้นนี้ต่อไปได้ การมองหางานแห่งใหม่ ออกไปพักผ่อน หรือได้ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง ก็อาจไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราอาจได้เจอเรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิตก็ได้

ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ขอแค่เราทำมันอย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว

อ้างอิงจาก

fastcompany.com

tandfonline.com

tuc.org.uk

researchgate.net

usrfiles.com

Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Editorial Staff: Taksaporn Koohak

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก The MATTER

โลกอีกใบมาสร้างไว้ในที่ทำงาน? อะไรทำให้คนนอกใจแฟนมาแอบเล่นชู้กับเพื่อนร่วมงาน

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กยศ. หักยอดซ้ำซ้อน แถมยอดหนี้เพิ่ม? สรุปกรณี กยศ. หักยอดซ้ำซ้อน และปัญหาที่คนเผชิญจากการกู้ยืม

12 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

น้องเมยตายเพราะขึ้นบันไดผิด? เปิดปม "บันไดศักดินา" เตรียมทหารฯ

SpringNews

Whole Food Diet แบบบ้านๆ ก็ดีต่อสุขภาพได้ ไม่ต้องสายคลีนสุดโต่ง

THE POINT

"บาร์บีคิวพลาซ่า" เปิดโฉมใหม่ที่เซ็นปิ่น พร้อมไฮไลต์พิเศษกับเมนู GON SELECT

Manager Online

ถอดรหัสภาษากายสี่ขา รู้จักอารมณ์ "น้องหมา" ผ่านท่าทางและเสียง

คมชัดลึกออนไลน์

JISOO IN NEW DIOR ชุดสั่งตัดพิเศษโดย Jonathan Anderson ที่คอนเสิร์ต BLACKPINK

THE STANDARD

ผลกระทบ “พายุวิภา” อช.ภูสอยดาว ประกาศปิดการท่องเที่ยวชั่วคราว

Manager Online

ล้วงลึกแนวคิด Upbit แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก

Capital

ออม กรณ์นภัส ส่งซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรก ระยะไกลของดวงจันทร์ ประกอบซีรีส์ เพียงเธอ Only You The Series

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

โลกอีกใบมาสร้างไว้ในที่ทำงาน? อะไรทำให้คนนอกใจแฟนมาแอบกิ๊กกับเพื่อนร่วมงาน

The MATTER

‘La Nona Ora’ อีกหนึ่งผลงานสุดขี้เล่นของ ‘เมาริซิโอ คัตตาลัน’ ศิลปินผู้แปะกล้วย

The MATTER

‘ส่ง Reels ก็เหมือนกับสวัสดีวันจันทร์’ การมี Reels-Friend เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของชาวเจน Y

The MATTER
ดูเพิ่ม
Loading...