“ลำไย” ล้นตลาด ส่งออกซบเซาราคาดิ่งหนัก
"แพลททินัม ฟรุ๊ต" เผยผลผลิต ลำไย ปีนี้มากกว่าปีก่อน กดดันราคา เหตุสภาพอากาศเอื้ออำนวย ชี้ตลาดต่างประเทศซบเซา แบงก์ไทย-จีนเข้มงวดปล่อยกู้ แรงงานขาด ฉุดราคาเบอร์ล่างดิ่ง แนะแก้ Over Supply เน้นลำไยเกรด A, AA ยังเป็นที่ต้องการ พร้อมเปิดโอกาสลำไยแกะเนื้อแช่แข็ง
นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด (มหาชน) หรือ PTF ผู้ส่งออกผักและผลไม้สดเกรดพรีเมียม เปิดเผยถึงสถานการณ์ลำไยในปีนี้ว่า คาดการณ์ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่ค่อนข้างชุก และฤดูหนาวที่ยาวนานในปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ลำไยติดดอกดีและผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้กลับส่งผลให้ราคารับซื้อลำไยในตลาดปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ณธกฤษได้ระบุ 4 ปัจจัยสำคัญที่กำลังฉุดราคาลำไยในปัจจุบัน ได้แก่:
- สภาวะเงินฝืดในตลาดผลไม้ต่างประเทศ : ทำให้ราคาผลไม้โดยรวมปรับลดลงประมาณ 15-20% จากปีที่แล้ว
- การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ : ธนาคารในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อการนำเข้า ประกอบกับธนาคารในประเทศไทยก็เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ส่งออกมากขึ้น 1 ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีวงเงินจำกัด เงินหมุนเวียนในระบบลดลง และชะลอการซื้อส่งผลให้เกิดปริมาณลำไยสะสมในช่วงฤดูกาลมากเกินไปและกระทบต่อราคา
- ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร : แรงงานเก็บเกี่ยวผลไม้ส่วนใหญ่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านแต่การนำแรงงานเข้าไทยเป็นไปได้ยากมาก ทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวสวนจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการแปรรูปเป็นลำไยรูดร่วงอบแห้ง ซึ่งทำให้ราคาขายตกต่ำลง
- ตลาดลำไยเกรดรองซบเซา : ลำไยเบอร์รองเกรด B, C (ตกเกรด) ซึ่งปกติมีตลาดรองรับในกัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย กลับค้าขายได้ยากขึ้นเนื่องจากอุปสรรคในการข้ามแดน ส่งผลให้ราคาลำไยเบอร์ล่างลดลงอย่างมาก และฉุดให้ราคาลำไยเบอร์บน (A, AA) ลดลงตามไปด้วย
เน้นคุณภาพ ลดต้นทุน และมองหาตลาดใหม่
ณธกฤษเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาราคาลำไยที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา Over Supply ของสินค้าเกษตร ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของราคาและคุณภาพ
"จะต้องเน้นไปที่การปรับตัวของราคา และการปรับลดต้นทุนให้สัมพันธ์กัน ถ้าหากยังตั้งราคาขายเท่าเดิมจะไม่มีคนซื้อ แต่หากลดราคาขายลงกำลังซื้อก็จะกลับมา สิ่งสำคัญคือการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น”
โดยสังเกตได้ว่าราคารับซื้อลำไยเบอร์บนเกรด A, AA ยังคงมีส่วนต่างจากราคาลำไยเบอร์ล่างอย่างมาก เนื่องจากตลาดลำไยเบอร์บนยังคงเป็นที่ต้องการและมีตลาดรองรับนอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจคือการแปรรูปเป็น ลำไยสดแกะเนื้อแช่แข็ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในช่วงผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากเทรนด์การบริโภคของวัยรุ่นต่างประเทศในอนาคตจะหันมาดื่มน้ำผลไม้สดมากขึ้น ซึ่งลำไยจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญ
ในส่วนของบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต ได้ร่วมมือกับส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาได้ช่วยระบายผลผลิตลำไยช่วงต้นฤดูออกไปยังจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย เพื่อรักษาสมดุลของ Demand และ Supply ในตลาด
"สำหรับปีนี้ก็ได้มีการหารือเบื้องต้นกับส่วนราชการว่าจะร่วมมือกันเหมือนปีที่แล้ว ระบายของช่วงต้นฤดูไม่ให้มีปริมาณสะสมในฤดู เพราะเราเป็นผู้ประกอบการคนไทยก็ต้องช่วยชาวสวนไทย เพราะการจะทำให้ลำไยราคาที่ดี ต้องร่วมกันหลายภาคส่วน"
ภูมิอากาศและแรงงานกดดันผลผลิต
นอกจากเรื่องราคาแล้ว ณธกฤษยังได้เสนอแนะข้อกังวลอีก 2 เรื่องที่อยากให้ภาครัฐและเกษตรกรเตรียมรับมือ
- ภูมิอากาศ : ปีนี้ฝนตกชุก การดูแลสวนก่อนเก็บเกี่ยวจึงต้องเข้มงวดขึ้นการพ่นสารกันเพลี้ย กันแมลง กันรา ต้องบ่อยขึ้น และต้องให้ความรู้เรื่องสารพ่นที่ใช้ให้ทนต่อการชะล้างของฝนได้ดี
- แรงงานเก็บเกี่ยว : การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวยังเป็นสิ่งจำเป็นจึงอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนหรือผ่อนปรนการนำแรงงานข้ามพื้นที่เพื่อมาช่วยในช่วงเก็บเกี่ยว
“จันทบุรีช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้เก็บเกี่ยวไม่ทัน ผลผลิตเน่าเสียคาต้น การเก็บลำไยสดช่อต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ แต่ลำไยอบแห้งรูดร่วงแม้จะเก็บง่ายและไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ แต่ราคาก็สู้ลำไยสดช่อไม่ได้”
จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดมากกว่า 740,000 ตัน โดยมีการจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศปัจจุบันผลผลิตลำไยเฉพาะของจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 8 หรือราว 22,409 ตัน
ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอจอมทอง ดอยหล่อ แม่วาง สันป่าตอง ฮอด และดอยเต่า เกษตรกรยังคงส่งผลผลิตให้ล้งรับซื้อตามปกติในช่วงต้นฤดูกาล และเมื่อมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับเข้ามา คาดว่าราคาลำไยจะปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด