จีนเดินหน้าเปลี่ยน “ขยะ” เป็น “พลังงานไฟฟ้า” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่า นายหวัง ลี่หมิน เจ้าหน้าที่โรงงานเผาขยะแห่งนี้ กล่าวว่า ที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์กลางทางพลังงานของเมือง แต่ละวันมีการแปลงขยะ 1,800 ตัน ให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอันล้ำสมัยของจีน ที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง นำสู่การจ่ายไฟฟ้าสะอาดแก่ครัวเรือนและช่วยลดการปล่อยคาร์บอน
ในอดีต จีนใช้วิธีฝังกลบเป็นแนวทางหลักในการกำจัดขยะ ซึ่งก่อเกิดความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดิน แหล่งน้ำใต้ดิน และอากาศ ทำให้เกิดความพยายามเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์การจัดการขยะตามความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีการส่งเสริมเทคโนโลยีเผาขยะที่สะอาดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน จีนมีโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสามารถแปรรูปขยะมากกว่า 1.1 ล้านตันต่อวัน เทียบเท่ากับการเติมน้ำลงสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 440 สระ (สระละ 2,500 ตัน) ขณะเดียวกัน จีนสร้างความก้าวหน้าระดับโลกในด้านระบบควบคุมการเผาไหม้ การบำบัดก๊าซไอเสีย และการเฝ้าติดตามการปล่อยมลพิษแบบเรียลไทม์
มาตรฐานการปล่อยมลพิษระดับชาติสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของจีน สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานล่าสุดของสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้ของจีน จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเข้มงวดมากที่สุดในโลก โดยบางภูมิภาค อาทิ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ได้ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับท้องถิ่นที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์มาตรฐานของอียูด้วย
นายหม่า เคอจวิน รองผู้จัดการทั่วไปของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เขตใหม่ซีเสียน ในมณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเตาเผาตะแกรงที่พัฒนาภายในประเทศและมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งช่วยบรรลุประสิทธิภาพทางความร้อนเพิ่มขึ้น 40% จากทศวรรษก่อน โดยขยะถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ที่อุณหภูมิเกือบ 1,000 องศาเซลเซียส มีการปล่อยสารไดออกซินเพียงหนึ่งในสิบของเพดานจำกัดของอียู
เนื่องจากการผลิตพลาสติกอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งวัฏจักรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่ผลิตจนถึงเผาทำลาย ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลที่เร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอันตรายเหล่านี้ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อคนรุ่นเรา แต่ยังต่อเนื่องถึงคนรุ่นหลังด้วย การเพิ่มความพยายามลดขยะที่ต้นทางและปรับปรุงการคัดแยกขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แนวคิด 3อาร์ (3R) ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่แพร่หลายทั่วโลกนั้น ถือเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ยั่งยืน และจีนกำหนดหลัการเดียวกันนี้ไว้ในกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้เป็นประเทศที่สามในโลก ที่ออกกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES