‘มาครง’ เยือนอังกฤษ กระชับสัมพันธ์ ขอแรงหนุนยุติสงครามกาซา-ยูเครน
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เยือนอังกฤษ 3 วัน ตั้งวันที่ 8-10 ก.ค. นี้ ซึ่งถือเป็นทริปแรกที่ผู้นำใน สหภาพยุโรป (อียู) เยือนอังกฤษนับตั้งแต่เกิด Brexit
มาครงร่วมเฉลิมฉลองที่ฝรั่งเศสและอังกฤษกลับมามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และกล่าวว่า สองประเทศต้องทำงานร่วมกันเพื่อยุติการพึ่งพาสหรัฐและจีนมากเกินไป พร้อมเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรสนับสนุนการรับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์และช่วยปกป้องยูเครน
การเดินทางเยือนอังกฤษสามวันของประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีขึ้นตามคำเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 เมื่อเดินทางถึงอังฤษ มาครงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก ราชวงศ์อังกฤษ รวมถึง เจ้าชายวิลเลียม องค์รัชทายาท และ แคทเทอรีน พระชายา ก่อนจะนั่งรถม้าไปยังพระราชวังวินเซอร์
มาครงได้เดินไปยังรัฐสภา และกล่าวว่าทั้งสองประเทศจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับยุโรป ซึ่งรวมถึงในด้านการป้องกันประเทศ การย้ายถิ่นฐาน สภาพภูมิอากาศ และการค้า
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า “สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องแสดงให้โลกเห็นอีกครั้งว่าพันธมิตรของเราสามารถสร้างความแตกต่างได้ วิธีเดียวที่จะเอาชนะความท้าทายที่เรามี ความท้าทายในยุคสมัยของเรา คือการก้าวไปด้วยกัน ร่วมแรงร่วมใจ เคียงบ่าเคียงไหล่กัน”
มาครงให้คำมั่นด้วยว่า ชาติยุโรปจะไม่ทิ้งยูเครนในสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขในกาซา
จากนั้นประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ขอให้อังกฤษทำงานร่วมกับฝรั่งเศสในการรับรองรัฐปาเลสไตน์ และเรียกว่าแนวทางนี้ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำไปสู่สันติภาพ
“ฉนวนกาซาพังทลายและเวสต์แบงก์ถูกโจมตีรายวัน รัฐปาเลสไตน์ไม่เคยตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านี้มาก่อน” มาครงกล่าว “และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการแก้ปัญหาสองรัฐและการยอมรับรัฐปาเลสไตน์จึงเป็น… หนทางเดียวที่จะสร้างสันติภาพและเสถียรภาพให้กับคนทั้งภูมิภาค” มาครงกล่าว และระบุถึงภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ฝรั่งเศสและอังกฤษเผชิญ
มาครงแนะนำด้วยว่าควรระวัง “การพึ่งพาทั้งสหรัฐและจีนมากเกินไป” โดยบอกว่าทั้งสองประเทศจำเป็นต้อง “ลดความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจและสังคมจากการพึ่งพาจีนและสหรัฐ”
นอกจากนี้ มาครงยังได้กล่าวถึงโอกาสในการรวมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยบอกว่าควรทำให้บรรดานักเรียน นักวิจัย และศิลปินสามารถอยู่อาศัยในประเทศของกันและกันได้ง่ายขึ้น และทำงานร่วมกันในด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการปกป้องเด็กในโลกออนไลน์มากขึ้น
คำปราศรัยดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการปรับความสัมพันธ์สองประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษ ต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของอังกฤษกับพันธมิตรในยุโรปหลังจากเกิดความบาดหมางเมื่ออังกฤษออกจากอียู
ฉันทไมตรีสู่มิตรภาพ
ในช่วงค่ำวันอังคาร สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ครอบครัวมาครงและคณะในพระราชวังวินเซอร์ ซึ่งงานนี้มีแขกเข้าร่วมราว 160 คน รวมนักการเมือง นักการทูต และเซเลบริตีอย่างมิก แจ็กเกอร์ และเอลตัน จอห์น
กษัตริย์ชาร์ลส์ ทรงมีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงอาหารค่ำ และทรงใช้โอกาสนี้ประกาศการเริ่มต้นยุคใหม่แห่งความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศส และยุติการแข่งขันทางทหารที่มีมานานหลายศตวรรษ โดยทรงยกระดับ “ข้อตกลงฉันทไมตรี” (entente cordiale) ซึ่งเป็นข้อตกลงพันธมิตรที่มีมานานตั้งแต่ปี 1904 ให้เป็น “ข้อตกลงแห่งมิตรภาพ” (entente amicale)
“ขณะที่เรากำลังรับประทานอาหารค่ำ ณ สถานที่เก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งอบอวลไปด้วยประวัติศาสตร์ร่วมกันของเรา ข้าพเจ้าขอดื่มอวยพรแด่ประเทศฝรั่งเศสและข้อตกลงใหม่ของเรา ข้อตกลงที่ไม่ได้เป็นเพียงอดีตและปัจจุบัน แต่เป็นข้อตกลงเพื่ออนาคต — และไม่เพียงแค่ฉันทไมตรี แต่ตอนนี้เป็นมิตรภาพแล้ว”
นอกจากนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสยังได้ประกาศความร่วมมือด้านการลงทุนโดยบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ EDF ของฝรั่งเศสจะลงทุน 1.1 พันล้านปอนด์ (4.88 หมื่นล้านบาท) ในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในอังกฤษตะวันออก
ทั้งสองประเทศยังได้ตกลงแลกเปลี่ยนสิ่งของล้ำค่าระหว่างกันเพื่อนำไปจัดแสดงในประเทศพันธมิตร โดยฝรั่งเศสจะให้พรมผนังบาเยอ (The Bayeux Tapestry) แก่อังกฤษ ซึ่งจะเป็นการส่งคืนผ้าทออันเป็นผลงานศิลปะแห่งศตวรรษที่ 11 กลับมายังอังกฤษเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 900 ปี แลกกับสมบัติของชาวแองโกล-แซกซอน และชาวไวกิ้ง จากอังกฤษ
ขณะที่ในการหารือวันพุธมาครงจะพบปะกับสตาร์เมอร์เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการเมือง ทั้งการอพยพ การป้องกันประเทศ รวมถึงการลงทุน
แม้ว่าจะมีความตึงเครียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์หลังเกิด Brexit และมีความตึงเครียดเรื่องยับยั้งผู้ลี้ภัยไม่ให้ข้ามช่องแคบอังกฤษด้วยเรือขนาดเล็ก แต่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสก็ยังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนด้านกองทัพสำหรับการสนับสนุนยูเครนหากมีการหยุดยิงกับรัสเซีย
สำนักนายกฯ อังกฤษยืนยันเมื่อวันจันทร์ว่า ผู้นำทั้งสองจะเข้าร่วมประชุมกับพันธมิตรในวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.) ด้วย “เพื่อหารือการเพิ่มการสนับสนุนยูเครนและเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียต่อไป”
ด้านทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเผยว่า ผู้นำสองประเทศจะหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน, นายกรัฐมนตรีฟรีดริช เมิร์ซของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีของอิตาลี
สตาร์เมอร์หวังว่าการสนับสนุนยูเครนของอังกฤษจะช่วยโน้มน้าวให้มาครงใช้แนวทางที่แตกต่างออกไปในการยับยั้งการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งรัฐบาลลอนดอนต้องการลองใช้ข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ
ข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดให้สหราชอาณาจักรส่งผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกลับฝรั่งเศส แลกกับผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่งที่มีเหตุผลอันชอบธรรมที่จะได้อยู่ในอังกฤษอย่างถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ อังกฤษมีผู้ลี้ภัยที่เดินทางด้วยเรือขนาดเล็กเข้าประเทศมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ความท้าทายนี้จึงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐบาลสตาร์เมอร์ในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสปฏิเสธลงนามในข้อตกลงดังกล่าว โดยมองว่าอังกฤษควรเจรจาข้อตกลงกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด
อ้างอิง: Al Jazeera