มาเลเซียลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 5 ปี รับภาษีทรัมป์พ่นพิษ
ธนาคารกลางมาเลเซีย ประกาศ "ลดอัตราดอกเบี้ย" ลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ในการประชุมวันนี้ (9 ก.ค. 68) โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (ORP) ลง 0.25% สู่ระดับ 2.75% เพื่อพยุงเศรษฐกิจแดนเสือเหลองท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตที่อ่อนแอลง และความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นใน การค้าโลก
ครั้งสุดท้ายที่ธนาคารกลางมาเลเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน คือในเดือนก.ค. 2020 หลังจากนั้นมา แบงก์ชาติมาเลเซียได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 1.25 bsp ระหว่างเดือนพ.ค. 2022 - พ.ค. 2023 จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.75% เป็น 3.00% และคงที่ในระดับนี้มาตั้งแต่เดือนก.ค. 2023
การตัดสินใจของแบงก์ชาติมาเลเซียในครั้งนี้ มีขึ้นตามมาเพียง 1 วันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้าส่งออกของมาเลเซียไปยังสหรัฐ จากเดิมที่ 24% ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยมาเลเซียเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่ทรัมป์ส่งจดหมายแจ้งเรื่องจะขึ้นภาษีนำเข้า
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจมาเลเซียกำลังชะลอตัว
การเติบโตของจีดีพีมาเลเซียไตรมาสแรกชะลอตัวลงเหลือ 4.4% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 51 เดือน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือ 1.8% จาก 2.0% ในเดือนก่อน แม้ว่าราคาสินค้าบางประเภทจะยังคงเพิ่มขึ้นสูง
ขณะเดียวกัน ค่าเงินริงกิตมาเลเซียยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแข็งค่าขึ้นไปแล้ว 5-6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ หลังจากปิด ณ สิ้นปี 2024 ในฐานะสกุลเงินที่มีผลงานดีที่สุดในเอเชียโดยแข็งค่าไปเพียง 2.7% ตลอดทั้งปีนี้ค่าเงินมาเลเซียยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลง ดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าโดยรวม
นักวิเคราะห์จาก MIDF Research คาดว่าค่าเงินริงกิตจะอยู่ที่ 4.10 ต่อดอลลาร์ในปีนี้ แต่ก็มีการคาดการณ์บางส่วนว่าค่าเงินอาจดีดตัวกลับเป็น 3.90 ภายในสิ้นปีเช่นกัน
รายงานของ Fitch BMI เมื่อวันอังคารเตือนว่า "มาเลเซีย ไทย และกัมพูชา" อาจจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐใต้สถานการณ์จำลองทั้งหมด โดยมาเลเซียอาจต้องเสียภาษีนำเข้า 25% ขณะที่ไทยและกัมพูชาอาจต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 36% รายงานยังระบุด้วยว่าผลกระทบต่อการส่งออกจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ ระดับของอัตราภาษีที่สูงขึ้นที่ส่งต่อไปยังผู้บริโภคในสหรัฐ และความอ่อนไหวของผู้ซื้อต่อการเปลี่ยนแปลงราคา