แบงก์จีนลดปล่อยกู้ ‘ดอลลาร์’ ในเอเชีย ดันหยวนผงาดในตลาดสินเชื่อ
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า “ดอลลาร์” กำลังเผชิญกับการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสินเชื่อแก่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยที่ “เงินหยวน” ของจีนกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
จากการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่เผยแพร่ในเดือนพ.ค. พบว่าระหว่างไตรมาสแรกของปี 2565 ถึงไตรมาสที่สองของปี 2567 สินเชื่อสกุลดอลลาร์ที่มอบให้แก่เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียลดลงถึง 16% สาเหตุหลักมาจากธนาคารจีนหันมาปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินหยวนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
จีนดัน 'หยวน' ในสินเชื่อต่างประเทศ ท้าทายดอลลาร์
ความพยายามของจีนในการดันเงินหยวนในตลาดสินเชื่อข้ามพรมแดน ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ผลการศึกษาของเฟดชี้ให้เห็นว่า
ในปี 2560 สินเชื่อต่างประเทศที่ธนาคารจีนปล่อยให้กู้ยืมนั้น 65% เป็นสกุลเงินดอลลาร์ แต่สัดส่วนนี้ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี 2565 และแตะระดับ 50% ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างชัดเจน
ในทางตรงกันข้าม สำหรับธนาคารที่ไม่ใช่ของจีนสัดส่วนของสินเชื่อข้ามพรมแดนที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ยังคง ทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 46% ตลอดช่วงปี 2560 ถึง 2567
ลอรี เดอมาร์โก และ โจชัว วอล์คเกอร์ ผู้เขียนผลการศึกษา ได้ระบุไว้ในรายงานของ Fed ชื่อ "Chinese Banks' Dollar Lending Decline" ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารจีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างชัดเจน โดยลดสัดส่วนของสินเชื่อที่ปล่อยเป็นสกุลดอลลาร์ลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ธนาคารจากประเทศอื่น ๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการให้กู้ยืมสกุลดอลลาร์มากเท่าธนาคารจีน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากจีนเผยว่า สินเชื่อข้ามพรมแดนที่กำหนดสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพุ่งสูงถึงประมาณ 20.4 ล้านล้านหยวน หรือราว 2.84 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าจากปี 2565
จากการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ในปี 2567 พบว่า ณ เดือนกันยายน 2567 ประมาณ 23% ของสินเชื่อต่างประเทศทั้งหมดจากธนาคารจีน พุ่งเป้าไปยังตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment - FDI) ของจีน ได้กลายเป็น แรงขับเคลื่อนสำคัญของการให้สินเชื่อข้ามพรมแดน แทนที่การค้า ซึ่งเคยเป็นปัจจัยหลักก่อนเกิดการระบาด
ต้นทุนดอลลาร์แพง หนุนหยวนผงาด
การที่ธนาคารจีนลดการปล่อยกู้ด้วยสกุลเงินดอลลาร์นั้น สอดคล้องกับ “วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” ของเฟดที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนมี.ค. 2565 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของเฟดอยู่ในระดับสูงที่ 4.25% ถึง 4.5%
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารกลางจีน กลับปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ระยะ 1 ปี ลงอย่างต่อเนื่อง จาก 3.8% ในเดือนม.ค. 2565 เหลือเพียง 3% ในเดือนพ.ค.ปีนี้ ดังนั้นความแตกต่างของดอกเบี้ยนี้ทำให้การกู้ยืมและปล่อยสินเชื่อด้วยเงินหยวนมีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จีนลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ในการปล่อยสินเชื่อข้ามพรมแดน
แม้ว่า จะมีการคาดการณ์กันว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ แต่การที่เงินหยวนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ ในการให้กู้ยืมข้ามประเทศนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการผลักดันสกุลเงินของตนเอง
นักวิเคราะห์ระบุว่า ความพยายามนี้ยังได้รับแรงหนุนจาก ความเชื่อมั่นทั่วโลกที่ลดลงต่อเงินดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการค้าที่ผันผวนของรัฐบาลประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์”