โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

Walmart ของ Walton ตระกูลที่รวยที่สุดในโลก ต้นแบบผูกขาดแบบนิ่ม ๆ ที่ยังไม่ตกม้าตายแม้ AI จะมา

Thairath Money

อัพเดต 16 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

หนึ่งในต้นแบบของร้านสะดวกซื้อที่เติบโตและเป็นเบอร์ต้น ๆ คงหนีไม่พ้นชื่อของ Walmart ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่อยู่มาตั้งแต่ปี 1962 หรือเมื่อราว 63 ปีก่อน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเชนร้านค้าที่โค่นไม่ลง อยู่มายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านร้อยเรื่องราวทางเศรษฐกิจ แถมยังขึ้นชื่อว่าเป็นค้าปลีกที่มีรายได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย

เจ้าของของ Walmart Inc. คือ “ตระกูล Walton” ปัจจุบันงานบริหารสืบทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล ลูก ๆ ของ Sam Walton ผู้ก่อตั้ง ซึ่งความไม่ธรรมดาของตระกูลนี้ก็คือ การเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 432,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ลูก ๆ ทั้ง 3 คนนั้นติดลิสต์มหาเศรษฐีลำดับที่ 14, 15 และ 16 ของโลกเลยทีเดียว

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เริ่มต้นมาจาก Walmart และการขยายธุรกิจของตระกูล Walton ออกไปในแขนงต่าง ๆ จนทำให้ครอบครัวนี้ประสบความสำเร็จ ในบทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของ Walmart และเส้นทางของตระกูล Walton

รู้จัก Sam Walton ผู้ให้กำเนิด Walmart

ต้นกำเนิดของ Walmart มาจากน้ำพักน้ำแรงของ 2 พี่น้อง คือ Samuel Moore Walton หรือ Sam Walton และ James “Bud” Walton หรือ Bud Walton ทั้งสองเกิดมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งตรงกับช่วง Great Depression (1929-1939) ทำให้ทั้งสองโตมากับภาพของคนสูญเสียบ้าน สูญเสียไร่นา และสูญเสียอนาคต

ในช่วงนั้นคุณพ่อ Thomas Gibson Walton และคุณแม่ Nancy Lee Lawrence ต้องผันตัวจากที่เคยเป็นชาวนาชาวไร่ หันมาทำงานเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดินให้บริษัทประกันอย่าง Metropolitan Life Insurance เปิดบริษัทเป็นของตัวเอง คือ Walton Mortgage มีหน้าที่หลักในการบังคับยึดที่ดินของชาวบ้าน

จากการเติบโตมาท่ามกลางความยากลำบาก สองพี่น้อง Walton จึงเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าจะเป็นรีดนมวัวที่บ้านไปขาย รับจ้างตัดหญ้า เฝ้าสระว่ายน้ำ ขายนิตยสาร ไปจนถึงรับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระให้ทางบ้าน

จนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Sam Walton ในตอนนั้นที่กำลังรุ่งเรืองในงานส่งหนังสือพิมพ์ มองว่าจะดีกว่าไหมถ้าคนไม่ต้องออกมาซื้อหนังสือพิมพ์เอง และจะขายอยู่แค่ในเส้นทางเดียวก็จะทำให้คนอื่นขาดโอกาสเข้าถึง ก็ได้เริ่มว่าจ้างคนเพิ่ม เพื่อขยายเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ จนทำให้มีรายได้มากถึง 4,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว

Sam Walton เรียนจบปริญญาตรีด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์จาก University of Missouri พร้อมกับทำงานพาร์ทไทม์หลายอย่าง เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียน จนในปี 1940 ก็ได้ไปทำงานที่ J.C. Penney ห้างสรรพสินค้าใหญ่ในเมืองดิมอยน์ รัฐไอโอวา เป็นที่แรกในตำแหน่ง “ผู้จัดการฝึกหัด” พร้อมรับเงินเดือนเดือนละ 75 ดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่า Sam Walton จะขายเก่ง บริการลูกค้าเก่งแค่ไหน แต่กลับบกพร่องในงานเอกสาร หรือสนใจลูกค้ามากกว่าระบบและเอกสารต่าง ๆ จนถึงขั้นที่หัวหน้างานพูดกับเขาว่า “ถ้าคุณไม่ขายเก่งขนาดนี้ ฉันคงไล่ออกไปนานแล้ว คุณอาจไม่เหมาะกับงานค้าปลีกก็ได้”

จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง Sam และ Bud Walton ก็ได้ไปเข้าร่วมกองทัพ ทำงานภายใต้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และในระหว่างช่วงเวลานี้เองที่ Sam ตัดสินใจชัดเจนว่า หากกลับไปจะไม่อยู่ในระบบบริษัทอีกต่อไป แต่จะลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว

กว่าจะรอดมาเป็น Walmart

หลังจากกลับมาจากรับราชการทหาร Sam Walton ที่ตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะไม่กลับไปทำงานบริษัท ไม่เป็นลูกจ้างใครอีกเด็ดขาด ก็ตัดสินใจหาเงินก้อน ไปขอกู้เงินพ่อตา L.S. Robson มาจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ บวกกับเงินตัวเองอีก 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำเป็นทุนก้อนแรกเพื่อไปซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ Ben Franklin มาเปิดที่เมืองนิวพอร์ต ในรัฐอาร์คันซอ

ตั้งแต่เปิดร้านวันแรก Sam Walton ก็เริ่มท้าทายสูตรเดิม ๆ ของร้านสะดวกซื้อทันที โดยการตั้งราคาสินค้าให้ต่ำกว่าคนอื่น เพราะเขามองว่า “ต่อให้ขายถูก แต่ถ้าขายได้มาก แม้กำไรต่อชิ้นจะน้อย สุดท้ายกำไรรวมก็จะมากกว่าอยู่ดี”

พร้อมกับแตกแถวทดลองหาสินค้าจากที่อื่นที่ไม่ใช่จากของแฟรนไชส์มาเข้าร้าน จากเดิมที่มีกฎต้องซื้อของจากเจ้าของ 80% ฝั่ง Sam Walton กลับไปเดินสายหาซัพพลายเออร์เองจากรัฐอื่น ๆ เพื่อให้ได้สินค้าถูกกว่าของแฟรนไชส์ แล้วนำมาขายในราคาที่ถูกกว่าเดิมอีก

และผลลัพธ์ก็ออกมาดีเกินคาด ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ยอดขายประจำปีของสาขาพุ่งจาก 80,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 225,000 ดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงสุดในแฟรนไชส์ Ben Franklin จาก 6 รัฐ

ความสำเร็จของร้านสาขา Ben Franklin ภายใต้การบริหารของ Sam Walton ก็ไปกระตุกต่อมของเจ้าของพื้นที่ที่ได้เข้าไปเช่าตั้งร้าน เจ้าของที่ดินที่เช่าพื้นที่ทำร้านคือ P.K. Holmes เห็นว่าร้านทำกำไรดีมาก พอสัญญาเช่าครบ 5 ปี ก็เลยไม่ต่อสัญญา พร้อมซื้อกิจการร้านรวมถึงสต๊อกสินค้าทั้งหมด แล้วยกตำแหน่งทองนี้ให้ลูกชายของตัวเองมาบริหารแทน

Sam Walton ที่หัวเสียจากการที่ไม่ได้ใส่เงื่อนไขการต่อสัญญาไว้ในสัญญาเช่า ทำให้ต้องเสียร้านแบบช่วยอะไรไม่ได้ จนกลายเป็นบทเรียนที่เจ็บที่สุดในชีวิต และนับจากวันนั้น Sam Walton ตั้งปณิธานขึ้นมาอีกข้อนึงว่า จะไม่สร้างธุรกิจใด ๆ บนสิ่งที่ตัวเองควบคุมไม่ได้อีกต่อไป

แต่ Sam Walton ก็ไม่ยอมแพ้ มองหาทำเลใหม่ และก็ไปลงหลักปักฐานตั้งร้านใหม่ในเมืองเบนทันวิล รัฐอาร์คันซอ ในปี 1950 พร้อมกับซื้อกิจการร้านค้าเก่าแก่ในเมืองและตั้งร้าน “Walton’s 5 & 10” ร้านเบ็ดเตล็ดแบบลูกค้าบริการตัวเองขึ้นมาเป็นแห่งแรกของประเทศ และครั้งนี้ก็ไม่พลาดซ้ำสอง ทำสัญญาเช่ายาว 99 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครมาฮุบร้านไปจากเขาอีก

ทั้งนี้ทั้งนั้น Sam Walton ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ละทิ้งแฟรนไชส์ Ben Franklin ก็ได้น้องชาย Bud Walton เข้ามาร่วมขยายเครือข่ายแฟรนไชส์ของแบรนด์นี้ออกไปอีก จนถึงปี 1962 ทั้งคู่มีร้านในเครือมากถึง 16 สาขา กระจายอยู่ในรัฐอาร์คันซอ มิสซูรี และแคนซัส

Sam มีความเชื่ออยู่เสมอว่า “ร้านค้าจะต้องขายสินค้าราคาประหยัด และจะต้องเจาะเมืองเล็ก ๆ ในขณะที่แบรนด์ใหญ่ ๆ กำลังบุกตลาดในเมือง เพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่คู่แข่งมองข้าม และก็ยังมีลูกค้าที่ต้องการสินค้าอยู่มากมายในพื้นที่นั้น” ก็เลยเดินไปขอกับทางผู้บริหาร Ben Franklin ให้ปรับลดส่วนแบ่งกำไรจากการขายส่ง (Wholesale Margin) ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ตั้งราคาขายถูกแบบสุดขีดได้ แต่คำตอบที่ได้คือ “ไม่”

เป็นเหตุให้ฟางเส้นสุดท้ายของ Sam Walton ขาด เขามองว่า ถ้าแฟรนไชส์จำกัดเกินไป ก็จะออกจากระบบนั้น ถ้าไม่มีใครส่งของให้ร้านในชนบท ก็จะสร้างระบบโลจิสติกส์ขึ้นมาเอง และถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่เชื่อในราคาถูก ก็จะสร้างบริษัทของตัวเองให้จบ ๆ

ก็เลยเป็นที่มาของร้านค้าปลีกที่ชื่อว่า “Wal-Mart Discount City” เปิดสาขาแรกในเมืองโรเจอร์ส ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1962 และก็เป็นวันแรกที่ทำให้โลกค้าปลีกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กลยุทธ์แบบ Walmart Way ผูกขาดแบบนิ่ม ๆ

ตามแนวคิดของ Sam Walton ที่กล่าวมาข้างต้นคือเน้นความถูกของสินค้า เพื่อมัดใจลูกค้า และให้ขายได้ในปริมาณมาก ๆ จึงเป็นที่มาของสโลแกนสำคัญของ Walmart คือ “Everyday Low Price” หรือ EDLP ราคาถูกทุกวันไม่ต้องรอโปร

กลยุทธ์ “ตั้งราคาถูก”

สำหรับ EDLP นี้ไม่ใช่กลยุทธ์ลดแลกแจกแถมแบบชั่วคราว แต่เป็นโมเดลธุรกิจทั้งระบบ ที่มุ่งมั่นให้สินค้าราคาถูกเสมอ แทนที่จะจัดโปรลดราคาหนัก ๆ เป็นช่วง ๆ แบบที่คู่แข่งนิยมทำกัน และที่โมเดลนี้ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่า

  • ลูกค้าไว้วางใจ: เพราะไม่ต้องรอลดราคา ไม่ต้องเปรียบเทียบหลายที่ ลูกค้ารู้ว่ามาที่นี่ได้ของถูกแน่นอน จนกลายเป็นลูกค้าประจำ
  • คาดการณ์ง่าย: เมื่อราคาไม่เปลี่ยน ความต้องการสินค้าก็คงที่มากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการบริหารสต๊อก และวางแผนซัพพลายเชน
  • ประหยัดต้นทุน: ไม่ต้องทุ่มงบการตลาดโปรโมชัน ลดงานของพนักงาน ทำให้ต้นทุนต่ำลงไปอีก

ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกันเป็นระบบที่เรียกว่า “Productivity Loop” นั่นคือ ลดต้นทุน → ลดราคาขาย → ลูกค้ามากขึ้น → ขายได้เยอะขึ้น → สั่งสินค้าจำนวนมากขึ้น → ต้นทุนต่อหน่วยยิ่งลดลง → วนซ้ำ

และสิ่งนี้ก็ยิ่งทำให้ Walmart มีอำนาจต่อรองสูงโดยใช้ปริมาณสินค้าที่ต้องการสั่งจำนวนมากเป็นอาวุธเพื่อขอราคาสินค้าที่ต้นทุนต่ำลง อีกทั้ง Walmart ยังออกแบรนด์สินค้าบางอย่างเอง สิ่งนี้ก็ทำให้สามารถควบคุมได้ทั้งราคาและคุณภาพ แถมยังตั้งราคาขายเองได้เต็มที่อีกด้วย

กลยุทธ์ “โลจิสติกส์”

อย่างที่ทราบกันดีว่า Sam Walton มีวิสัยทัศน์ในการขยายร้านสาขาออกไปในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลก่อน เพราะมองว่าลูกค้าในพื้นที่นั้นก็ต้องการสินค้าไม่ต่างจากคนในเมือง แถมยังมีคู่แข่งน้อย แต่ก็ตามมาด้วยปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า เพราะเมืองที่เล็ก ไกล และเปลี่ยว นั้นย่อมไม่มีซัพพลายเออร์ที่ไหนจะยอมไปส่งสินค้าง่าย ๆ

จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบโลจิสติกส์สุดเนี้ยบ ออกแบบการกระจายสินค้าเองทั้งระบบ จนกลายเป็นหนึ่งในความได้เปรียบทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Walmart

  • ใช้โมเดล Hub-and-Spoke สร้างศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ในจุดยุทธศาสตร์ แล้วเปิดสาขาในรัศมีรอบ ๆ ให้ครอบคลุมระยะขับรถส่งได้ใน 1 วัน
  • มีกองรถบรรทุกของตัวเอง ทำให้ไม่ต้องพึ่งบริษัทขนส่งภายนอก และยังส่งผลให้ต้นทุนถูกลง แถมควบคุมได้
  • ใช้เทคนิค Cross-docking หรือการไม่สต๊อกของจากซัพพลายเออร์ แต่ส่งเข้าศูนย์แล้วจัดส่งต่อทันที เพื่อลดต้นทุนคลังสินค้า และลดเวลาในการเติมสินค้า

นอกจากนี้ Walmart ยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มระบบและนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการซัพพลายเชนตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์บริหารสต๊อกตั้งแต่ยุค 60-70 ใช้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อเชื่อมระบบทุกสาขาแบบเรียลไทม์ และในปัจจุบันยังนำเอา AI มาใช้คาดการณ์ความต้องการของลูกค้า ตลอดจนใช้หุ่นยนต์จัดการคลังสินค้า และพัฒนาซอฟต์แวร์จัดเส้นทางส่งของด้วย AI อีกด้วย

กลยุทธ์ “บุกเมืองเล็กก่อน”

Sam Walton คือหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ชอบสวนกระแสตลาดด้วยกลยุทธ์ไปเปิดร้านในเมืองเล็ก ที่คู่แข่งไม่คิดจะเข้าไป ในขณะที่ Kmart และ Sears ต่างแข่งขันกันเปิดสาขาในเมืองใหญ่ ทาง Walmart กลับเลือกไปเปิดในพื้นที่ชนบท ที่ไม่มีคู่แข่ง เพื่อให้กลายเป็นเจ้าถิ่นแต่เพียงผู้เดียวทันที

และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ “Soft Monopoly” หรือ “การผูกขาดแบบนิ่ม ๆ” ทำให้ Walmart กลายเป็นร้านใหญ่ที่สุด ถูกที่สุด ครบที่สุดในเมืองนั้น จนไม่มีใครอยากเปิดแข่ง สามารถขยายธุรกิจได้เรื่อย ๆ แบบไร้แรงต้าน และเมื่อเก่งพอ แข็งแกร่งพอ มีระบบพร้อม ก็ค่อย ๆ ขยับไปบุกตลาดเมืองใหญ่ทีหลัง แบบพร้อมลุยเต็มรูปแบบ

และในวันนี้เครือข่าย Walmart ในพื้นที่ชนบทเหล่านี้ ยังกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าสำหรับอีคอมเมิร์ซที่สำคัญสุด ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ Amazon ยังเข้าไม่ถึงอีกด้วย

Walmart เติบโตอย่างรวดเร็วแบบไม่ธรรมดาตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านแรกในปี 1962 และระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี ตระกูล Walton ก็สามารถขยายสาขาไปได้ถึง 24 สาขา สร้างยอดขายทะลุ 12.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จนในปี 1972 ที่ Walmart ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ภายใต้สัญลักษณ์ “WMT” และขยายสาขาเป็น 51 แห่ง สร้างยอดขายต่อปีแตะ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่ Walmart ใช้กลยุทธ์บุกทุกพื้นที่ โดยไล่เปิดสาขาแบบรัฐต่อรัฐ จากฐานหลักในภาคใต้ ไล่ขึ้นไปยังภาคกลาง ก่อนจะบุกถึงชายฝั่งตะวันออกและตะวันตก

การเติบโตของ Walmart ไม่ได้เกิดจากการเปิดสาขาใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการเข้าซื้อกิจการแบบเจาะจุดยุทธศาสตร์ เช่น การซื้อกิจการร้าน Kuhn’s Big K จำนวน 92 สาขาในปี 1981 และการสร้างปรากฏการณ์ด้วยยอดขายทะลุ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำยอดนี้ได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์การค้าอเมริกา

จนมาถึงปี 1990 ทาง Walmart ก็ขึ้นแท่นกลายเป็นแบรนด์ค้าปลีกระดับ National เต็มตัว และได้รับการขนานนามว่าเป็น “ค้าปลีกอันดับ 1 ของประเทศ” และต่อมาก็ได้เริ่มขยายสาขาออกนอกสหรัฐอเมริกา เริ่มไปเปิดหน้าร้านในแคนาดา จีน อังกฤษ ตลอดจนไปเป็นหุ้นส่วนของร้านค้าปลีกอื่นในต่างประเทศ

อาณาจักร Walton ตระกูลที่รวยที่สุดในโลก

ความสำเร็จของ Walmart ไม่ได้สร้างแค่ยอดขายระดับโลก แต่ยังสร้าง “Walton Dynasty” ให้กลายเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวนี้รวมกันกว่า 432,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 หรือระดับเดียวกับที่ใช้บริหารประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่งเลยก็ว่าได้

ต้นตอความมั่งคั่งของตระกูล Walton ก็คือ “หุ้น Walmart” ที่ถืออยู่ในสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท แม้ Walmart จะเป็นบริษัทมหาชน แต่ด้วยโครงสร้างการถือหุ้นผ่านบริษัทเอกชนชื่อว่า Walton Enterprises LLC และ Walton Family Holdings Trust ก็ทำให้ครอบครัวนี้ยังควบคุมทิศทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง

Walton Enterprises ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1953 เป็นเหมือนบริษัทแม่ที่ดูแลทุกอย่างเกี่ยวกับความมั่งคั่งของครอบครัว โดย Sam Walton วางหมากล่วงหน้าไว้อย่างแยบยล ยกหุ้นกว่า 80% ให้กับลูก ๆ ตั้งแต่ Walmart ยังไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ นั่นเท่ากับว่าตอนเขาเสียชีวิต ก็แทบไม่มีภาษีมรดกมาแตะทรัพย์สินของตระกูลเลย

Sam และ Bud Walton ถึงแก่กรรมในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้มรดก Walmart ถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกและหลาน ได้แก่

  • Rob Walton ลูกชายคนโต เป็นประธานบอร์ด Walmart ตั้งแต่ปี 1992-2015 และยังคงนั่งอยู่ในบอร์ดตอนนี้ แถมยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือเจ้าของทีม NFL อย่าง Denver Broncos ที่ซื้อมาในปี 2022 ด้วยมูลค่าทำสถิติโลกที่ 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน Rob Walton มีความมั่งคั่งสุทธิที่ 116,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลำดับมหาเศรษฐีอันดับที่ 14 ของโลก
  • Jim Walton ลูกชายคนเล็ก เน้นลงทุนในธุรกิจการเงิน เป็นประธานธนาคาร Arvest Bank Group ซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่ครอบครัวถือหุ้นเองทั้งหมด ซึ่งธนาคารนี้มีสินทรัพย์มากกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนของ Jim Walton เองปัจจุบันมีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 115,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลำดับมหาเศรษฐีอันดับที่ 15 ของโลก
  • Alice Walton ลูกสาวคนเดียวของ Sam Walton ผู้ที่ไม่สนใจธุรกิจค้าปลีก แต่เป็นนักสะสมงานศิลป์ระดับโลก และเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Crystal Bridges Museum of American Art ในรัฐเบนทันวิล บ้านเกิดของครอบครัว โดย Alice Walton ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกว่า 106,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดอันดับที่ 16 มหาเศรษฐีโลก
  • Ann Walton Kroenke ลูกสาวของ Bud Walton ที่ได้รับมรดกตกทอดเป็นหุ้นส่วนใน Walmart และได้แต่งงานกับมหาเศรษฐี Stan Kroenke เจ้าของทีมฟุตบอล Arsenal และทีมกีฬาในอเมริกาอีกหลายทีม ปัจจุบันเธอมีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้การเติบโตของ Walmart จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับตระกูล Walton แต่เหรียญมักมีสองด้าน ดาบมักมีสองคม นั่นคือผลกระทบจากโมเดลธุรกิจของ Walmart ได้ส่งต่อให้อีกหลาย ๆ ด้านต้องรับแรงกระแทก ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าเล็ก ๆ ในชุมชนที่ต้องปิดตัวลงเพราะสู้เรื่องราคากับ Walmart ไม่ไหว ตลอดจนฝั่งของซัพพลายเออร์เองที่ถูกขูดรีด ขอต้นทุนที่ต่ำมาก ๆ เพื่อมาขายในราคาถูก นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ Walmart ก็ยังเคยถูกฟ้องร้องเรื่องการใช้งานแรงงานที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย

ที่มา: Walmart [1][2], Forbes [1][2][3][4][5], Business Insider, Entrepreneur, Historic Missourians, Biography, Walton Family Foundation, PYMNTS, Business Model Analyst

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : Walmart ของ Walton ตระกูลที่รวยที่สุดในโลก ต้นแบบผูกขาดแบบนิ่ม ๆ ที่ยังไม่ตกม้าตายแม้ AI จะมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Money

เปิดตารางออมเงินตามสีมงคล ฉบับสายมู ทำทุกวัน ชีวิตปังแน่!

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

สภาธุรกิจสิงคโปร์ ชี้ไทยติดอันดับโลก “การเงินสีเขียว” จัดงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ส.ค.นี้

7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ส่องงบกลาโหม ประเทศกัมพูชา ย้อนหลัง 10 ปี

News In Thailand

ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้ารับผลกระทบชายแดนไทยกัมพูชา-อุทกภัยภาคเหนือ

สยามรัฐ

'ไทย'จุดหมายยอดฮิตของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลสะท้อนถึงความต้องการในการเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

สยามรัฐ

ส่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยยุคใหม่"คู่รัก-ครอบครัวเล็ก"ดีลคุ้มค่าไม่เน้นหรู

สยามรัฐ

'บางกอกแอร์เวย์ส'เปิดตัว Amenity Kit ใหม่การเดินทางเหนือระดับของผู้โดยสารชั้นธุรกิจ

สยามรัฐ

เผ่าภูมิ สั่ง ธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ 2 ปี ช่วย อุทกภัย 6 จังหวัดภาคเหนือ

เดลินิวส์

โอกาสทอง! กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครชายไทย 1,000 คน ทำงานเกาหลีใต้ ผ่านระบบ EPS สมัครออนไลน์ 2-3 สิงหาคมนี้

สยามรัฐ

Attitude Mom แตกไลน์เครื่องดื่มบำรุงน้ำนม ขยายตลาดโลกเล็งดูไบ-บราซิล

การเงินธนาคาร

ข่าวและบทความยอดนิยม

ทำไม ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องเป็น “วิทัย รัตนากร”

Thairath Money

ชายแดน “ไทย-กัมพูชา” ปะทุ สะเทือนหุ้นอะไรบ้าง ? เช็กด่วน! 8 กลุ่มธุรกิจ เสี่ยงได้รับผลกระทบ

Thairath Money

Love Potion vs La Glace เมื่อ “พลังอินฟลูฯ” คือ อาวุธ สองแบรนด์ไทย เปลี่ยนเกมขายสวยในยุค Gen Z

Thairath Money
ดูเพิ่ม
Loading...