โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ธนบุรี” ถิ่นหนูชุม! เพราะพระเจ้าตากฯ ไม่โปรดให้เลี้ยง “แมว” จนเกิดเรื่องยุ่งในวัง!?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา
จิตรกรรมวังเดิม พระเจ้าตากฟื้นฟูบ้านเมือง และมีภาพคนไล่หนูที่มากัดแทะกินข้าวเปลือก ภาพจิตรกรรมจัดแสดงภายในตำหนักเก๋งคู่ (เก๋งหลังใหญ่) พระราชวังธนบุรี (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2567)

ธนบุรีถิ่นหนูชุม! เพราะพระเจ้าตากฯ ไม่โปรดให้เลี้ยงแมว จนเกิดเรื่องยุ่งในวัง!?

ใครจะเชื่อว่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่าง “หนู”จะก่อเรื่องวุ่นวายใหญ่โตภายในราชสำนักกรุงธนบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากฯเหตุด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงมุ่งมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจของราชอาณาจักร โดยให้ “ข้าว” เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ แต่กลับทรงไม่โปรดให้เลี้ยงแมว “ผู้ล่า” ตัวฉกาจที่ช่วยจำกัดหนู ศัตรูคู่ยุ้งฉางเสียอย่างนั้น

ทำให้ปัญหาหนูชุกชุมในกรุงธนบุรี ลุกลามบานปลายเข้าไปถึงเขตพระราชฐาน ชนิดล่วงล้ำถึงที่บรรทมของสมเด็จพระเจ้าตากฯ จนนำไปสู่เหตุร้ายในรัชสมัยของพระองค์

แต่เหตุไฉนสมเด็จพระเจ้าตากฯ จึงไม่โปรดให้เลี้ยงแมว? เรื่องนี้ กำพล จำปาพันธ์อธิบายไว้ในบทความ “การมุ้งในพระราชวังธนบุรี : ‘วิบัติหนูกัดพระวิสูตร’ & พระเจ้าตากไม่ได้บ้า แค่โปรดหมา ไม่เลี้ยงแมว” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2567) ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

เมื่อกรุงธนบุรีเป็นเมืองค้าข้าว

สมัยกรุงธนบุรีการค้ากับต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญของการกอบกู้ราชอาณาจักรหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 และเป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และชนชั้นมูลนาย คหบดี ซึ่งเป็นชาวจีนเสียส่วนใหญ่

สินค้าออกที่สำคัญก็คือ “ข้าว” ทรงให้ปรับปรุงอุโบสถและวิหารของวัดสำคัญในเขตพระราชฐานบางแห่ง เช่น วัดมะกอก (วัดอรุณราชวราราม) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) เป็นยุ้งฉางเก็บข้าวเสบียงและข้าวส่งออก

บางแห่งก็ปรากฏเรื่องว่าเคยเป็นที่เก็บเกลือหรือยุ้งฉางเกลือ คือบริเวณด้านหลังศาลเจ้าพ่อฉางเกลือ บางช่วงก็ใช้เป็นที่เก็บข้าวเสบียงเช่นกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงให้ความสำคัญแก่การเพาะปลูกข้าวเพื่อส่งออกค่อนข้างมาก บางปีจะเห็นว่าทรงให้ทหารยามรักษาการณ์ได้กลับบ้านไปทำนา เป็นต้น

แต่ในท่ามกลางการเป็นยุคที่ข้าวเป็นสินค้าส่งออกนั้น ข้าวก็เป็นแหล่งอาหารสำหรับ “หนู” ด้วย

กรุงธนบุรีจึงเกิดมีหนูชุกชุมขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในเขตพระราชฐาน จากหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)ซึ่งถือเป็นเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญสำหรับสมัยธนบุรี มีข้อความตอนหนึ่งที่ชวนให้คิดว่า ในย่านใจกลางกรุงที่เต็มไปด้วยข้าวและหนูชุกชุมนั้น วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เองอาจไม่ได้มีการเลี้ยงแมว หรือมีก็อาจไม่มากพอที่จะต่อกรกับบรรดา “คุณหนู ๆ” เหล่านี้ได้ ดังความในพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า

“ครั้น ณ เดือน ๕ หนูคะนองกินข้าวในยุ้งฉางและกัดทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเสียจึงมีรับสั่งให้ข้าทูลละอองฯ และราษฎรดักจับหนูมาส่งแก่กรมพระนครบาล หนูสงบหายไป”

อย่างไรก็ตาม ข้อความสุดท้ายข้างต้นที่ระบุว่า “หนูสงบหายไป” นั้น ไม่เป็นจริง เพราะยังปรากฏว่าหนูอาละวาดอยู่ต่อมาจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิบัติหนูกัดพระวิสูตร”ผู้บันทึกพระราชพงศาวดารในส่วนนี้อาจสรุปรวบรัดตัดความเกินไป ขณะที่หลักฐานอื่นไม่ใช่แบบนั้น

“วิบัติหนูกัดพระวิสูตร” เรื่องยุ่ง ๆ เมื่อวังพระเจ้าตากไม่มีแมว

ข้อความตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)ที่หยิบยกมาข้างต้นนี้สอดคล้องตรงกับจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า ในวังพระเจ้าตากเกิดเหตุการณ์ “วิบัติหนูกัดพระวิสูตรรับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้มาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย”

“พระวิสูตร” นั้นหมายถึง “มุ้ง” ที่กางสำหรับกันยุง ส่วน “ฝรั่ง” สองคน ที่คนหนึ่งมีตำแหน่งเป็น “ชิดภูบาล” กับอีกคนเป็น “ชาญภูเบศร์” นั้นเข้าใจว่าเป็นชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกสที่บ้านกุฎีจีน

ไม่ปรากฏว่าฝรั่งสองคนนี้ใช้วิธีใดในการไล่จับหนู ใช้แมวเป็นผู้ช่วยหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ชุมชนโปรตุเกสในกรุงธนบุรีจะเลี้ยงแมวไว้มาก หนูที่เข้ามากัดมุ้งถึงที่บรรทมและจับได้ในที่เสวยพระกระยาหารด้วยนั้น นับว่าร้ายกาจมาก

“หนูกัดผ้า” ลางดีตามโหราศาสตร์ แต่พระเจ้าตากไม่เชื่อ!

ปกติแล้ว “หนูกัดผ้า” ถือเป็นลางบอกเหตุ เช่น ตามตำราโหราศาสตร์มีกล่าวว่า หนูกัดผ้าเป็นสัญญาณลี้ลับให้สังเกตดูว่ากัดเป็นรูปอะไร เช่น ถ้ากัดเป็นรูปปาก เจ้าของผ้านั้นจะได้ลาภสมดังปรารถนา ถ้ากัดเป็นรูปเดือนดาว จะได้เงินทองมากมาย ฯลฯ …

ถึงจะเป็นความเชื่อของยุคสมัยที่ทำให้คนกับหนูอยู่ร่วมกันได้ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หาได้เชื่อตามหลักโหราศาสตร์ข้างต้นไม่ หรือไม่ก็อาจเพราะหนูบุกรุกพระราชวังของพระองค์มาก จนถึงกับไม่เป็นอันบรรทมหลับได้ เพราะมีหนูมากัดมุ้งมาก

และเมื่อให้ฝรั่งโปรตุเกสมาจับหนู ก็จับได้แม้แต่กระทั่งในที่เสวยพระกระยาหาร เป็นเหตุให้ไม่วางพระราชหฤทัยว่าเป็นเรื่องนิมิตลี้ลับอะไร จึงให้คนมาจับหนูไปเสียให้หมด

อ่านเพิ่มเติม : “ไล่จับหนู” เป็นเหตุ พระเจ้าตาก สั่งประหารเจ้าจอมสุดโหด ผ่าอก-ทาเกลือ-ตัดมือเท้า

ทั้ง ๆ ที่แมวมีความสำคัญนิยมเลี้ยงกันตามบ้านเรือนไม่เว้นแม้ในเขตพระราชฐานมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กรุงธนบุรีเป็นรัฐค้าข้าว ต้องป้องกันหนูไม่ให้มารบกวนข้าว

แต่เหตุใดในวังพระเจ้าตากจึงไม่มีแมว?

ประเด็นนี้ดูเหมือน“หลวงสรวิชิต”(หน) ผู้ซึ่งต่อมาจะมีตำแหน่งเป็น “เจ้าพระยาพระคลัง” (หน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เคยระบุไว้ใน“ลิลิตเพชรมงกุฎ”ซึ่งเป็นงานประพันธ์ชิ้นสำคัญอีกชิ้นของหลวงสรวิชิต (หน) ในสมัยธนบุรี (ช่วงปีแรกของสมัยธนบุรี ยังไม่ได้ย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี) และเป็นผลงานประพันธ์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แสดงความชื่นชอบพอพระราชหฤทัยไว้อย่างมากด้วยนั้น

ตัวเอกของเรื่อง “ลิลิตเพชรมงกุฎ” ฉบับหลวงสรวิชิต (หน) เป็นกษัตริย์ โปรดปรานสุนัข เลี้ยงสุนัข มีสุนัขแสนรู้ติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง

ตัวเอกของ “ลิลิตเพชรมงกุฎ” นี้จะเป็นการนำเอาสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไปไว้ในเรื่องแต่ง หรือเป็นเรื่องแต่งล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ไม่ทราบได้

แม้ว่าเรื่องใน “ลิลิตเพชรมงกุฎ” เดิมเป็นนิทานเรื่องหนึ่งใน “นิทานเวตาล” แต่การเลือกแต่งเป็นร้อยกรองถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็โปรดปรานเรื่องนี้มาก ก็สะท้อนอยู่โดยนัยว่าโปรด “น้องหมา” อาจเป็นเหตุให้ไม่นิยมในการที่ในเขตพระราชฐานของพระองค์จะมีแมวเดินป้วนเปี้ยนไปมา…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ธนบุรี” ถิ่นหนูชุม! เพราะพระเจ้าตากฯ ไม่โปรดให้เลี้ยง “แมว” จนเกิดเรื่องยุ่งในวัง!?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ สร้างสมัย ร. 2 แลนด์มาร์กสยามประเทศ

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“สังวาล” พระพุทธชินราช ของใหม่ที่ใส่ประดับองค์พระสมัยหลัง มาจากไหน?

11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

5 อาหารควร ‘งด’ ถ้าอยากลดน้ำหนักให้สำเร็จ

Manager Online

เปิดเหตุผล! ทำไมถึงต้องดูซีรีส์ GL เรื่อง “Mission Love or Lies ภารกิจลวงรัก”

Insight Daily

ไม่อยากแก่ฟังทางนี้ ! ชวนดูสิ่งที่ควรทำ ถ้ายังไม่อยากแก่

SistaCafe

สภากาชาดไทยเปิดช่องทางบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายแดนไทยกัมพูชา

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

หนังใหม่ 2025 : เตรียมระเบิดภูเขาเผากระท่อม “เขาชุมทอง คะนองชุมโจร”

PPTV HD 36

พุทธวิถีในยุค...พระเก๊ เงินแท้... จากภาพยนต์ไทยเรื่อง THE STONE (เดอะสโตน พระแท้ คนเก๊)

กรุงเทพธุรกิจ

ภาพหาชมยาก "หลวงพ่อใหญ่" วัดม่วง อ่างทอง บูรณะทาสีใหม่

Manager Online

พิพิธภัณฑ์ THE MET ในนิวยอร์กมีผู้เยี่ยมชมกว่า 5.7 ล้านคนในปีงบประมาณ 2025

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ สร้างสมัย ร. 2 แลนด์มาร์กสยามประเทศ

ศิลปวัฒนธรรม

“สังวาล” พระพุทธชินราช ของใหม่ที่ใส่ประดับองค์พระสมัยหลัง มาจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ทรงทำอะไร? ในศึกใหญ่ “สงคราม 9 ทัพ”

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...